วันนี้ทีมข่าว “1/4 Special Report” มีโอกาสคุยกับ “ดร.อ้อ” ณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ในฐานะนักการศึกษา เกี่ยวกับปัญหาทางการศึกษาของประเทศไทย รวมทั้งแผนการปฏิรูปการศึกษาในอนาคต ที่คนไทยต้องได้เรียนที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ในรูปแบบ “ธนาคารหน่วยกิต เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Academic Credit Bank : ACB โดยจะเป็นธนาคารเพื่อฝากความรู้และประสบการณ์ผ่านแพลตฟอร์มฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย (Free Knowledge Platform)
การศึกษาไม่ตอบโจทย์ทิศทางเศรษฐกิจ
ดร.ณหทัย กล่าวว่า การศึกษาไทยในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ทิศทางเศรษฐกิจที่ต้องเดินไปอย่างรวดเร็ว เพราะช้าเกินไปที่จะผลิตคนให้ออกมาในตลาดแรงงานเพื่อทำให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เนื่องจากตอนนี้ต้องวัดกันที่ว่าใครสามารถผลิตคนได้ตรงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้มากกว่า ต้องบอกว่าไทยช้าตรงนั้น เพราะที่ผ่านมาเราขีดกรอบตั้งแต่เด็กอนุบาล-มัธยม จนเกินไปว่าต้องเรียนทีละระดับชั้นไปชั้นละปี เพราะสมองของเด็กแต่ละคนพัฒนาไปได้ช้า-เร็ว ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเห็นห้องคิงส์ ห้องควีนส์ แต่ไม่ใช่ว่าเด็กห้องควีนส์ หรือห้องธรรมดาจะไม่เก่ง แต่อาจเป็นเพราะสมองแต่ละคนสามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการแตกต่างกันไป เด็กเรียนเก่งในสมัยก่อนอาจเป็นเพราะท่องเก่ง จำเก่ง
แต่วันนี้เด็กที่เรียนเก่ง คือเด็กที่รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้หลายวิชามาใช้แก้ปัญหาได้ วันนี้โลกเปลี่ยนไป ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยคือจะผลิตเด็กอย่างไรให้เขาเดินเข้าพุ่งชนปัญหาแล้วมีทางแก้ไข หยุดจมอยู่กับปัญหา แต่ปัญหาคือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เรียนวิชาประวัติศาสตร์ต้องรู้ว่า 80 ปีที่ผ่านมา ปัญหาของประชาธิปไตยไทยเป็นอย่างไร เมื่อเรียนรู้แล้วอย่าทำซ้ำ เพื่อตอบโจทย์โลกให้เดินไปข้างหน้า
“ห้องคิงส์ ห้องควีนส์ ไม่น่าคงไว้ในสภาพปัจจุบัน ในแง่ที่ว่า คนเราไม่ควรวัดกันที่เกรดเฉลี่ย หรือจำนวนเปอร์เซ็นต์การสอบ ไม่ควรวัดกันที่เกรด 4 หรือ A แต่วันนี้ต้องวัดกันแบบสหวิทยาการ นำความรู้ที่หลากหลายมาแก้ปัญหา เช่น ตอนนี้โควิด-19 เบาบางลง แต่เรื่องฝุ่นควันพิษเริ่มมา มีปัญหาพีเอ็ม 2.5 ก็ต้องถามเด็กว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรให้ปัญหาฝุ่นควันจางลง บางทีเด็กระดับประถมฯ อาจจะตอบในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เคยได้ยินมาก่อนก็ได้”
สอนเด็กยุคใหม่-ครูต้องบูรณาการให้เป็น!
ดร.ณหทัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของคนที่เป็นครู และสถาบันผลิตครูทั้งหมดต้องเน้นให้ครูสอนวิธีการแก้ปัญหาให้มากขึ้น หรือใช้การเรียน การสอนแบบบูรณาการ คนที่เรียนศึกษาศาสตร์ และครุศาสตร์เพื่อมาเป็นครูทราบดีว่าคำว่า “บูรณาการ” มีมานานแล้ว คือการเอาศาสตร์ทุกศาสตร์มารวมกัน แล้วสอนให้เด็กสามารถเอาไปโยงกับปัญหาต่าง ๆ ได้ ครูต้องคิดแบบบูรณาการให้เป็น จึงจะไปสอนเด็กยุคใหม่ได้
ถามว่าการศึกษาบ้านเราล้าสมัยหรือเปล่า? ตอบว่าล้าสมัยในกระบวน การห้องเรียน คือครูต้องหยุดการเป็นคนบอกเล่า แต่ต้องเป็นคนกระตุ้น ต้องคอยกระตุ้นสมองเด็กให้ปลดปล่อยพลังสมองออกมา เด็กบางคนอาจเล่นเกม หรือเดินทางไปท่องเที่ยวต่างกับผู้ปกครอง แต่ละคนจึงมีความรู้ มีประสบการณ์ต่างกัน ครูจึงต้องกระตุ้นให้เด็กปล่อยพลังความคิดออกมา โดยใม่มี คำว่า “ไม่ใช่” เนื่องจากทุกคำตอบมีทางเป็นไปได้ แต่อาจขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลาช้า-เร็วแค่นั้นเอง
วันนี้ครูต้องอัพเดทวิธีการสอน ต้องพัฒนาตัวเอง และควรเป็นผู้เรียนรู้จากนักเรียนบ้าง ถ้าบอกว่าเด็กติดเกม แสดงว่าเกมนั้นต้องมีอะไรดี เด็กจึงติดเกม ก็ต้องไปเรียนรู้ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้างที่มีเกมนี้ขึ้นมา เช่น กรณีโรบอทซึ่งเป็นเกมเมตาเวิร์ส เกิดขึ้นก่อนที่เฟซบุ๊กจะมารณรงค์เรื่องการเปลี่ยน แปลงตัวเองจากเฟซบุ๊กเป็นเมต้า โดยเด็กสามารถเข้าไปในโลกจำลอง สถานการณ์จำลอง ให้มีอวาตาร์ (Avatar) ของตัวเอง เพื่อสร้างร้านค้า-ฟาร์ม-ซิตี้ และอีกมากมาย แล้วมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ ว่าใครอยากทำอะไร เด็กต้องการเป็นอะไร โดยมีระบบเงินเป็นอะไร เพื่อเอามาคิดให้สอดคล้องกับแต่ละเกม
“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปขนาดนั้น แต่การศึกษาไทยยังจะช้าอยู่หรือ? จะมัวเรียนจากหนังสือตำราเรียนอยู่หรือ? ด้วยการเปิดสอนกันทีละหน้า แล้วให้เด็กทำแบบฝึกหัด มันไม่ใช่แล้ว”
แก้เหลื่อมล้ำด้วย “เน็ต” ความเร็วสูง
เมื่อถามถึงปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียนในเมือง กับนักเรียนตามชนบทห่างไกล ดร.ณหทัย กล่าวว่า ยุคนี้สามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็ว โดย “ซูเปอร์ไฮเวย์” นั่นคือ “อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง” ที่สามารถส่งความรู้ทุกประเภท ทุกเวลา ทุกแหล่ง ไปยังนักเรียนที่อยู่ห่างไกล ไม่ว่าจะบนดอย บนภูเขา ถ้าเรามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีอินเทอร์เน็ตเข้าไป เด็กสามารถเข้าถึงความรู้ได้ ผู้ปกครองก็สามารถเข้าถึงอาชีพได้ เนื่องจากการค้าขายในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน แค่คุณมีร้านอยู่บนแพลตฟอร์มก็ขายของได้แล้ว ช่วยย่นระยะเวลาลงไปด้วย ระบบการเงินก็เปลี่ยนแปลง ไม่ต้องพกเงินสดมาค้าขายกัน เพราะสามารถโอนเงินให้กันได้เพียงไม่กี่นาที เนื่องจากโลกเปลี่ยนไป ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับโครงข่ายซูเปอร์ไฮเวย์
โดยกระทรวงการศึกษาต้องทำซูเปอร์ไฮเวย์ให้ครอบคลุมทั่วถึงก่อน ลำดับต่อไปคือเนื้อหา (คอนเทนต์) กระทรวงฯ อาจไม่ต้องทำทั้งหมด เพราะมีเอกชนที่คิดพัฒนาคอนเทนต์อยู่แล้ว ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ ฟรีแวร์ เป็นแพลตฟอร์ม สามารถเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยังขาดแต่ระบบการบริหารจัดการเท่านั้น เพราะไม่ได้ถูกวางไว้เป็น “วาระแห่งชาติ” แต่ละกระทรวงไม่ได้ร่วมมือกัน เพราะผู้นำประเทศไม่ได้ให้ความสนใจ จึงกระด๊อกกระแด๊กอยู่แบบนี้
ในอนาคตอันใกล้ ตนเชื่อว่าเส้นแบ่งระหว่างโรงเรียนกับมหาวิทยาลัยจะไม่มีแล้ว คือจบจากโรงเรียนก็ไปทำ “อาชีพ” เลย! แล้วเรียนมหาวิทยาลัยควบคู่ไปกับอาชีพ พูดง่าย ๆ ว่าแค่จบมัธยมปลาย แต่มีความรู้จากช่องทางต่าง ๆ ก็ไม่ต้องไปอยู่ในห้องเรียน เพียงแค่รู้จักแยกแยะให้ถูกว่าอันไหนเป็นข้อเท็จจริง เรื่องไหนเป็นแค่ความเห็น หรือว่าอันไหน “เฟค”
คุณอาจจบ ม.6 หรือ ปวช.-ปวส. แต่สามารถเขียนโปรแกรมได้ ทำแอพพลิเคชั่นขายของได้ สามารถคิดพัฒนาสติกเกอร์ไลน์ แค่นี้สามารถทำเงินได้ คือเป็นความสามารถเฉพาะ (Skill) ที่ตลาดต้องการ ก็สามารถหาเงินใช้ได้
อย่าลืมว่าวันนี้เด็กเกิดใหม่น้อยลง จำนวนนักเรียน นักศึกษาน้อยลง แต่ผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นโรงเรียนและสถานศึกษาที่มีพื้นที่มาก ๆ ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประสบการณ์และอาชีพของคนทุกวัยมาแลกเปลี่ยนกัน เช่น เอาศิลปินแห่งชาติมาสอนวาดรูป สอนประติมากรรม ฯลฯ เด็กยุคใหม่นิยมทำงานอิสระ (ฟรีแลนซ์) ก็ต้องดึงผู้ประกอบการเข้ามาพบคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำโครงการสั้น ๆ แต่มี Skill ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้าง สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ หรือที่เรียกว่า “กิ๊ก อีโคโนมี” คือระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว งานที่รับจ้างแล้วจบไป
ทำ “ธนาคารหน่วยกิต” เรียนรู้ตลอดชีวิต
ปิดท้ายด้วยโครงการ “ธนาคารหน่วยกิต” ซึ่ง ดร.ณหทัย ยืนยันว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะทำแน่นอน เพราะมีหน่วยงานอยู่แล้ว คือ สถาบันคุณ วุฒิวิชาชีพ รวมทั้งมีกฎหมายชัดเจน คือ พ.ร.บ.การศึกษาปี 2542 ระบุ ให้มีการเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างการศึกษาในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย หรือแม้กระทั่งอาชีพที่ทำมาก็สามารถเทียบโอนได้
ธนาคารหน่วยกิตคือธนาคาร สำหรับฝากความรู้ ประสบการณ์ และความฉลาด แล้วสามารถแปลงไปเป็นเงินที่รัฐบาลและสถานประกอบการ (ผู้ว่าจ้าง) จ่ายตอบแทนให้ได้ พูดง่าย ๆ ว่าต่อไปนี้ทั้งความรู้และประสบการณ์สำคัญกว่าหน่วยกิต ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลไว้บนแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ เป็น “บิ๊กดาต้า” ตั้งแต่อายุ 7 ขวบขึ้นไป เรียนอะไรมาบ้าง เคยทำงานอะไรมาก่อน แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนบุคคล รัฐจึงต้องนำมาใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศ อย่านำไปใช้ผิด ๆ หรือนำไปใช้ทางการเมือง เพื่อจะได้มีข้อมูลมาพัฒนาประเทศ เพื่อให้มีนักคิดค้น มีนักวิจัยมากขึ้น
คนที่ทำการเกษตร ก็เอาประสบการณ์ที่ทำมากี่วัน กี่ปี เคยนำผลงานไปประกวดได้รางวัลอะไรมาบ้าง เคยได้ใบประกาศนียบัตร หรือมีการพัฒนาต่อยอด ทั้งหมดนี้คือตัวชี้วัดประสบการณ์ สามารถนำมาเทียบโอน โดยไม่ต้องไปเรียน ผ่าน “ซูม” กับครู ไม่ต้องไปนั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยมทุกอาชีพสามารถนำความรู้และประสบการณ์มาเทียบโอนได้หมด
เช่นคนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาตอนมัธยม 3 ไปช่วยพ่อแม่ทำนา ทำไป 4-5 ปี กลับมาอาจจะมีวุฒิฯ เท่าปริญญาตรีได้ จาก ประสบการณ์ปลูกข้าว การผลิตปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชไว้ใช้เองเพื่อลดต้นทุน ทำอย่างไรปลูกข้าวได้ผลผลิตมากขึ้น ปลูกได้บ่อยขึ้น หรือทำอย่างไรน้ำไม่ท่วมนาข้าว ธนาคารแห่งนี้จะมีดอกเบี้ยที่เป็นมาตรการจูงใจทางภาษี ยิ่งเรียนมาก ยิ่งฝากความรู้ไว้มากเท่าไหร่ ยิ่งได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากขึ้น
“ถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่เช่นนั้นจะตามโลกไม่ทัน ยิ่งถ้าต่างคนต่างทำ ไม่บูรณาการกันหลายกระทรวง ไม่มีความเป็นเอกภาพ จะไม่มีทางสำเร็จเลย สิ่งสำคัญคือต้องได้ผู้นำประเทศที่เหมือนกับซีอีโอบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ คือเป็นซีอีโอที่มีวิสัยทัศน์และมีภาวะผู้นำสูง จึงจะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ” ดร.ณหทัย กล่าว.