แม้ทาง พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. ที่เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนเพื่อรับผิดชอบคดีรังนก จะสามารถออกหมายจับและหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาไปแล้ว 38 คน ซึ่งมีข้าราชการฝ่ายปกครอง ระดับนายอำเภอ และปลัดอำเภอ 4 นาย, ตำรวจระดับ ผกก. และลูกน้องรวม 7 นาย, เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 2 นาย, ผู้ใหญ่บ้าน 1 นาย, อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และ กลุ่มชาวบ้านเก็บรังนก มาจาก จ.ชุมพร ตรัง สงขลา และพัทลุง แต่ชาวบ้านในพื้นที่ยังเชื่อว่าน่าจะมีผู้เกี่ยวข้องอีกมากกว่านี้ที่ยังไม่ถูกจับกุม
โวยถูกหลอกให้มาขโมยรังนก
ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้มีโอกาสพูดคุยกับแหล่งข่าวในพื้นที่ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างเกาะติดคดีอย่างใกล้ชิด ยังเชื่อว่าคดียังมีเงื่อนงำน่าสงสัยอีกหลายปม เช่น การขยายผลไปยัง แหล่งรับซื้อรังนก ที่ถูกขโมยถือว่าเป็นการรับซื้อของโจรยังไม่มีการกล่าวถึง เพราะความจริงแล้ว แหล่งที่รับซื้อรังนกในภาคใต้ก็มีอยู่เพียงไม่ก่ีกลุ่มเท่านั้น เพราะจะเป็นการเชื่อมโยงคดีต่อจากกลุ่มผู้ต้องหา 38 คน ในเมื่อจับผู้กระทำความผิดที่เป็นชาวบ้านที่รับจ้างเก็บรังนก, ผู้กระทำผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ แต่ที่ยังไม่ยอมพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งรับซื้อรังนกขโมย เงินที่ขายได้ทั้งหมดตกไปอยู่ที่ใคร และที่สำคัญที่สุดคือใครเป็น ผู้สั่งการใหญ่ ที่สุดในเรื่องนี้ ชาวบ้านไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องนี้ ระดับอำเภอ จะกล้าลงมือสั่งการให้กลุ่มบุคคลคนเข้าไปก่อเหตุ ถ้าไม่ได้รับไฟเขียว
ขณะนี้ผู้ต้องหาส่วนหนึ่ง 10 คน เป็นกลุ่มที่ถูกว่าจ้างให้เข้าไปเก็บรังนกบนเกาะ ซึ่งมาจาก 4 จังหวัด บางคนกำลังเปลี่ยนสถานะมาเป็นพยานเพื่อใช้ในการมัดตัวข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เพราะจากการสอบปากคำผู้ต้องหาที่มีอาชีพ “แทงรังนก” หรือเก็บรังนกอีแอ่น หลายคนให้ปากคำตรงกันไม่ทราบว่า การเข้ามาเก็บรังนกในถ้ำบนหมู่เกาะสี่เกาะห้าครั้งนี้ผิดกฎหมาย พร้อมยืนยันมีข้าราชการระดับ ปลัดฯโทรศัพท์ไปติดต่อว่าจ้างให้มาเก็บรังนก ค่าจ้าง 10,000 ต่อคนในเวลา 10 วัน (หรือวันละ 1,000 บาท) โดยอ้างว่า จังหวัดได้อนุญาตให้เก็บรังนกเพื่อนำเงินจากการขายรังนกเข้าหลวง หลังจากนั้นมี อส.นำเรือหางยาวมารับไปส่งขึ้นเกาะ
“สภาพความจริงก็เหมือนมาปล่อยทิ้งไว้บนเกาะ มีเจ้าหน้าที่ถือปืนเฝ้าดูแล ขู่บังคับให้รีบเก็บรังนก แต่ไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ ปล่อยให้ขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม จนต้องใช้น้ำในถ้ำมาต้มเพื่อดื่มประทังชีวิต สุดท้ายหลังเก็บรังนกเสร็จใน 10 วันถูกเบี้ยวค่าจ้างไม่พอ ยังต้องมาตกเป็นผู้ต้องหา ตาม พ.ร.บ.การควบคุมรังนกอีแอ่น ซึ่งจะมีโทษสูงกว่าคดีลักทรัพย์ทั่วไป 2 เท่า ”
หวั่นตัดตอนแค่ขรก.ระดับอำเภอ
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ตอนนี้กลุ่มข้าราชการบางนาย ส่วนใหญ่เป็นระดับล่างที่ไม่รู้เรื่องจริง ๆ ก็กำลังไม่พอใจอย่างมาก เพราะไปทำหน้าที่เข้าเวรดูแลความปลอดภัยบนเกาะตามปกติ จู่ ๆ ต้องมาติดร่างแห ถูกแจ้งดำเนินคดีค่อนข้างหนัก ผิดตาม ป.วิอาญา มาตรา 149 เป็นพนักงานที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือการกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบโดยหน้าที่ และ มาตรา 157 เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เท่านั้นไม่พอยังจะถูกสอบสวนเพื่อเอาผิด โดย กรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) และ ป.ป.ช. ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่างหาก
คดีขโมยรังนก ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องทำความกระจ่างออกมาให้สังคมได้เห็น โดยเฉพาะประเด็นของการจ่ายเงินค่าสัมปทานให้กับรัฐ หลังจากบริษัท สยามเน็ทส์ 2022 จำกัด ผู้ชนะการประมูล วงเงิน 400 ล้านบาท ในระยะเวลา สัมปทาน 5 ปี โดยได้จ่ายเงินค่าอากรรังนกงวดแรกให้จังหวัดพัทลุงไปแล้ว 80 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 64 หลังการเข้ารับการสัมปทาน ซึ่งทางคณะกรรมการรังนกอีแอ่นพัทลุง ที่มีผวจ.พัทลุง เป็นประธาน ได้จัดสรรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ตามระเบียบ เช่น อบจ.พัทลุง, อบต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน พื้นที่ตั้งของเขตสัมปทาน, จ่ายให้ท้องถิ่นอื่น ๆ 72 แห่ง, ค่าเฝ้าดูแลเกาะรังนก 5,800,000 บาท (ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีผู้ได้รับสัมปทาน 88 วัน) และค่าวัสดุต่าง ๆ อีก 3 ล้านบาท
บี้หาคนรับผิดชอบความเสียหาย
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้พิทักษ์ประโยชน์ของชาวพัทลุง เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเปิดเวทีเพื่อหาคนออกมาแสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะกรณีจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ 5.8 ล้านบาท แต่ก็ยังมาเกิดเหตุขโมยรังนกครั้งใหญ่ไปจนเกือบหมดทั้งเกาะ แถมได้ทำลายสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทั้งแม่นกและลูกนกต้องตายไปด้วยแบบประเมินมูลค่าไม่ได้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ผู้รับสัมปทาน ต้องจ่ายเงินค่าอากรรังนกอีก 21 ล้านบาท ก่อนเข้าทำการเก็บรังนกงวดแรก แต่เมื่อเกิดปัญหาขโมยรังนกบนเกาะไปกว่า 80% (ประมาณ 800 กิโลกรัม)จึงได้สร้างความเสียหายให้กับบริษัทผู้รับสัมปทานอย่างมาก เพราะรังนกที่เหลือจะเก็บได้นั้นมีประมาณ 10% เท่านั้น ขณะนี้จึงได้ส่งฝ่ายกฎหมายยื่นอุทธรณ์ ขอผ่อนผันการจ่ายเงินค่าอากร 21 ล้านบาทออกไปก่อน จนกว่าการสืบสวนสอบสวนคดีขโมยรังนกจะได้บทสรุป และใครต้องรับผิดชอบกับความเสียหายของรังนกที่ถูกขโมยไปกว่า 80%
สำหรับการนำเงินที่ได้จากการสัมปทานรังนก แบ่งสันปันส่วนให้กับท้องถิ่นเพื่อใช้ในการพัฒนาท้องที่ เป็นไปตามระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.รังนกอีแอ่น ได้กำหนดไว้ ดังนั้น เงินอากรรังนก ถือเป็นเรื่องรายได้สำคัญในท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุงมาโดยตลอด รวมถึงจังหวัดที่มีสัมปทานรังนก ในเมื่อมีเรื่องของผลประโยชน์และเงินจำนวนมากมาเกี่ยวข้องเช่นนี้
นอกจากตำรวจส่วนกลาง, ดีเอสไอ, ป.ป.ช. จะเข้ามาร่วมตรวจสอบแล้ว ตอนนี้ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักสอบสวน 4 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยจะแยกการดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้กระทำความผิดให้เป็นเรื่องของตำรวจ ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินจะมาในเรื่องของการแสวงหาข้อเท็จจริง มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ ความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร รวมทั้งจะมีมาตรการข้อเสนอแนะในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยจะใช้กลไกของอำนาจผู้ตรวจการเข้ามาแก้ไข เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ.