ปัญหาที่หลายคนอาจคิดว่าไม่สำคัญ แต่แท้จริงแล้วหากปล่อยไว้ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายของน้องหมาได้

โดย น.สพ.วุฒิชัย ศุภจัตุรัส ให้ความรู้ว่า ฟันซ้อนในสุนัข (Retained Deciduous Teeth) คือภาวะที่ฟันน้ำนมไม่หลุดออกไปตามธรรมชาติ แต่ฟันแท้กลับขึ้นมาทับซ้อน ทำให้เกิดฟัน 2 ซี่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งพบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ชิวาวา ปอมเมอเรเนียน พุดเดิล และยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย

ฟันซ้อนเกิดจากอะไร? ปัจจัยแรกฟันน้ำนมไม่หลุดตามเวลา โดยปกติแล้ว ฟันน้ำนมจะเริ่มหลุดเมื่อสุนัขอายุประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้ฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ แต่ในบางกรณี ฟันน้ำนมกลับยังคงอยู่ ทำให้ฟันแท้ขึ้นมาผิดตำแหน่ง ข้อต่อมาคือจากพันธุกรรม สุนัขบางสายพันธุ์หรือครอบครัวอาจมีแนวโน้มเกิดฟันซ้อนได้มากกว่า รวมถึงการเคี้ยวหรือกระตุ้นฟันน้อยเกินไป ช่วงฟันกำลังขึ้น การเคี้ยวของเล่นหรืออาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้ฟันน้ำนมหลุดออกได้ง่ายขึ้น

ฟันซ้อนมีผลเสียอย่างไร? หากปล่อยให้ฟันซ้อนอยู่เป็นเวลานาน จะส่งผลเสียหลายประการ เช่น เกิดคราบหินปูนและโรคเหงือกอักเสบ ฟันซ้อนทำให้การทำความสะอาดฟันยากขึ้น คราบหินปูนจึงสะสมง่าย เสี่ยงต่อโรคปริทันต์ และอักเสบเรื้อรังได้ ฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง ฟันน้ำนมที่ไม่หลุดออกจะดันให้ฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง ทำให้การสบฟันผิดปกติ ส่งผลต่อการเคี้ยวอาหาร เกิดการติดเชื้อ

ช่องว่างระหว่างฟันน้ำนมกับฟันแท้อาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากเจ็บปวดและไม่สบายตัว สุนัขที่มีฟันซ้อนจะรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายปาก ทำให้เคี้ยวอาหารได้ลำบาก บางตัวอาจเบื่ออาหารหรือมีน้ำลายไหลมากผิดปกติ

กรณีไหนจำเป็นต้องเอาฟันซ้อนออก? ฟันน้ำนมไม่หลุดหลังอายุ 6 เดือน , ฟันซ้อนทำให้เกิดปัญหาการสบฟันผิดปกติ, สุนัขมีอาการปวด หรือไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ, มีคราบหินปูนสะสม เสี่ยงต่อโรคเหงือกอักเสบหรือฟันผุ การเอาฟันซ้อนออก ควรทำโดยสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยจะวางยาสลบเพื่อความปลอดภัยและทำการถอนฟันน้ำนมที่ซ้อนอยู่ออกอย่างระมัดระวัง

วิธีป้องกันและดูแลฟันของน้องหมา 1. เริ่มด้วยเจ้าของต้องหมั่นตรวจฟันตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อสุนัขอายุประมาณ 3-6 เดือน ควรพาไปตรวจสุขภาพฟันเพื่อเช็กว่าฟันน้ำนมหลุดตามปกติหรือไม่ 2. ให้ของเล่นหรือขนมขัดฟัน ช่วยกระตุ้นการหลุดของฟันน้ำนม และลดคราบหินปูนในช่องปาก 3. แปรงฟันเป็นประจำการแปรงฟันช่วยป้องกันคราบหินปูนและสุขภาพช่องปากที่ดี 4. ตรวจสุขภาพช่องปากทุกปี การตรวจฟันและช่องปากเป็นประจำช่วยป้องกันปัญหาฟันซ้อนและโรคอื่น ๆ ในช่องปากได้

สุดท้ายขอแนะนำเจ้าของน้องหมา ว่าหากพบว่าสุนัขมีฟันซ้อน ควรรีบพาพบสัตวแพทย์โดยเร็ว เพราะฟันซ้อนเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง.

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสัตว์วุฒิชัย

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่