อย่างไรก็ดีในขณะที่เริ่มเปิดประเทศ แต่วิกฤติโควิด การติดเชื้อรายใหม่ ในหลายจังหวัดทำท่าจะยกระดับขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้กระทั่ง จ.เชียงใหม่ กลายเป็นเรื่องในพื้นที่ยังต้องเฝ้าระวังเข้มงวด

ยังต้องเข้มท่องเที่ยวแรงงานต่างด้าว

ขณะเดียวกันในความคิดเห็นของทีมแพทย์ ก็มีมุมมองว่าการเปิดประเทศรอบนี้ ค่อนข้างมีความพร้อมต่างจากปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยอดฉีดวัคซีนไทย สะสมแล้ว 72 ล้านโด๊ส ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ยอดขยับ 40.9% ของประชากร นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีชุดตรวจที่รู้ผลเร็ว เหลือเพียงแต่การควบคุมพฤติกรรมของผู้คนอย่างเคร่งครัด เพื่อจะให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปได้

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้เรามาถึงจุดที่จะต้องเปิดประเทศ เพราะประชาชนเผชิญกับปัญหาโควิด มานานพอสมควร ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่เฉพาะสุขภาพของประชาชนอย่างเดียว แต่จะต้องเปิดประเทศและเปิดโรงเรียนอย่างไรให้มีความปลอดภัยมากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อเปิดประเทศจะมีชาวต่างชาติที่เข้ามา และมีการเคลื่อนย้ายของประชากรภายในประเทศ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราจะทำงานกันที่บ้าน เลยทำให้ปริมาณผู้ติดเชื้อลดลง แต่เมื่อเปิดประเทศก็จะมีความเคลื่อนไหวของผู้คนที่หนาแน่นขึ้น

โดยเฉพาะ จุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตามหัวเมืองใหญ่ ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากการเคลื่อนย้ายอาจจะมีคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนรวมอยู่ด้วย ทำให้เกิดความเสี่ยงในพื้นที่ท่องเที่ยวที่อาจมีความใกล้ชิดกัน จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ หากไม่มีการป้องกันที่ดีพอ หรือกิจกรรมบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดกันได้ง่ายขึ้น เช่น การถอดหน้ากากอนามัยเพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน ประกอบกับคนที่เข้าไปในพื้นที่หนาแน่นอาจไม่ได้ระวังตัวมากเหมือนแต่ก่อน เพราะต้องยอมรับว่า เมื่อมีการเปิดเมือง นอกจากนักท่องเที่ยวแล้วก็จะมี แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน หลั่งไหลเข้ามากขึ้นเช่นกัน ซึ่งเราเองก็ไม่แน่ใจว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านั้นได้รับวัคซีนที่เพียงพอหรือไม่

ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือ มาตรการความเข้มงวดส่วนบุคคล และการรักษาระยะห่างต่าง ๆ ขณะเดียวกันต้องปฏิบัติตัวเองตามมาตรการที่รัฐออกมาควบคุมในพื้นที่อย่างเคร่งครัด เพราะวัคซีนจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เนื่องจากวัคซีน จากผลสำรวจประสิทธิภาพช่วยลดการติดเชื้อได้ไม่ค่อยดีนัก แต่จะลดอัตราการเสียชีวิตได้ดีกว่า จึงอย่าไปคาดหวังว่าฉีดวัคซีนครบแล้วจะไม่ติดเชื้อ แต่ยังสามารถติดเชื้อได้อยู่ เพียงแต่ว่าอาการความรุนแรงของโรคจะไม่ถึงกับเสียชีวิต

ห้ามการ์ดตกหวั่นรพ.รับมือไม่ไหว

หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ฯ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวต่อด้วยว่า สิ่งที่จะต้องระวังในเมืองท่องเที่ยวคือ อัตราการติดเชื้อที่อาจสูงขึ้นหลังจากเปิดเมือง ส่งผลกระทบกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่แล้วมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคประจำตัว หรือผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ออกไปไหนอยู่แต่ในบ้าน หรือผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน อาจมีการแพร่เชื้อที่มาถึงบ้านได้ ยิ่งในคนที่ได้รับเชื้อ แต่ไม่มีอาการแสดงออก ทำให้เขาไม่รู้ตัวและยังใช้ชีวิตปกติ จะทำให้นำเชื้อไปติดคน
อื่น ๆ ได้ สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะส่วนตัวมองว่า เมื่อเปิดประเทศจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจำนวนผู้ที่ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น เกินศักยภาพของโรงพยาบาลที่ดูแลคนไข้หนักในพื้นที่หรือไม่

สิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้พื้นที่ท่องเที่ยวเกิดผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้น จะต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในพื้นที่ ในปริมาณที่เพียงพอ เพราะในต่างประเทศจะฉีดในประชากร 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปก่อนที่จะเปิดประเทศ ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรในพื้นที่นั้นมากขึ้นกว่านี้ เพื่อที่จะเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย ในส่วนของโรงพยาบาลในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว จะต้องมีการเตรียมความพร้อม หากมีปริมาณผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ที่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องไอซียู ในระยะเวลานาน

สำหรับการเปิดเรียนของกลุ่มเด็ก จะสามารถเปิดเรียนได้ต้องอยู่กับความเสี่ยงของพื้นที่นั้น ๆ เพราะในแต่ละพื้นที่การระบาดมีไม่เท่ากัน ถ้าในพื้นที่ที่ตอนนี้มีการระบาดหนักอยู่ อาจจะไม่เหมาะสมในการเปิดให้ไปเรียนได้อย่างเต็มที่ แต่จะต้องรอการฉีดวัคซีนของเด็ก ๆ ในพื้นที่ให้เพียงพอก่อน ถึงจะเปิดเรียนได้ ด้วยสถานการณ์ตอนนี้เรามีชุดตรวจคัดกรอง ATK ที่ง่ายขึ้น เมื่อเทียบกับการระบาดในปีที่แล้ว ที่ต้องรอผลตรวจนาน ๆ เมื่อพื้นที่ใดมีความเสี่ยง จะต้องนำชุดตรวจมาให้ตรวจสอบในทันที ขณะที่คนที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงเช่น แหล่งท่องเที่ยว ควรหมั่นตรวจ ATK เพื่อป้องกันตัวเอง และการแพร่เชื้อให้คนอื่นหากติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะได้ทำการกักตัวและรักษาอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่น่าห่วงคือ ตอนนี้หลายคนเริ่มเหนื่อย ทำให้มีการ์ดตกบ้าง แต่เราจะต้องเข้มงวดกับตัวเองให้มากที่สุด เพราะไม่มีใครอยากจะเปิดประเทศแล้วก็ต้องรีบปิด แต่เราหวังว่า ปริมาณผู้ที่ติดจะอยู่ในปริมาณที่เรารับได้ แล้วเราจะต้องค่อย ๆ ปรับตัวและจัดการควบคุมผู้ติดเชื้อที่มีอยู่รายวัน ให้ระบบการแพทย์ภายในประเทศสามารถรองรับได้ แต่ถ้าเราเปิดประเทศเร็ว และนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ เมื่อเกิดการระบาดก็อาจจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่”

อย่ารีบคลายล็อกเร็วเกินไป

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก จุฬาฯ มีมุมมองอีกว่า การเปิดประเทศจำเป็นจะต้องค่อย ๆ ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ไปทีละขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เราเปิดประเทศได้ในระยะยาวมากขึ้น เห็นได้จากขณะนี้ปริมาณผู้ติดเชื้อที่ จ.เชียงใหม่ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัว เพราะเมื่อเปิดแหล่งท่องเที่ยวแล้วคนจะไหลเข้าไปจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ที่มีการติดกันเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ของตลาด

ตอนนี้หลายคนตื่นกลัวกับ โควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตาพลัส” ที่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ ซึ่งการระบาดของสายพันธุ์นี้ อาจจะมีได้ทั้งเชื้อที่มาจากคนภายในประเทศเอง กับเชื้อที่ชาวต่างชาตินำเข้ามา แต่ถ้ามองในมุมของการแพทย์มีรายงานว่า สายพันธุ์นี้มีการติดง่ายกว่าเดิม 15 % เมื่อเทียบกับเดลตา แต่ความรุนแรงของเชื้อยังไม่รุนแรงเท่า ธรรมชาติของไวรัส เมื่อมีการกลายพันธุ์ก็จะมีการพัฒนาให้ติดง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญคือ การจะต้องทำให้คนภายในประเทศมีภูมิต่อต้านไวรัส

ผมคิดว่าวัคซีนน่าจะยังช่วยได้อยู่ ในการผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ การบูสเตอร์ ถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญในคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เพราะเราจะเห็นสถิติจากประเทศที่ประชากรฉีดครบแล้ว แม้จะเป็นวัคซีนmRNA เช่น อิสราเอล การ์ตา ที่ประชากรมีภูมิคุ้มกันลดลง เมื่อทิ้งเวลาไว้สักระยะ จนต้องมีการบูสเตอร์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของประชากร ซึ่งในส่วนของการแพทย์ปีนี้ถือว่าดีกว่าเดิม เพราะเรามียาที่ช่วยรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักอย่างเพียงพอก็พร้อมจะช่วยเหลือประชาชน และแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจของประชาชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม.