แม้พยายามขบคิด ชั่งใจ แต่สุดท้ายหลายคนหลวมตัว ตกหลุมพราง เมื่อชีวิตสวยหรู ค่าตอบแทนลงทุนอัตราสูง ใครก็อยากมี เป็นที่มาให้การหลอกลวงในรูปแบบ“แชร์ลูกโซ่”ไม่เคยหายหน้าจากสังคม

รอเพียงเวลา“ล้ม”หรือวันที่โซ่“ขาด”จึงรู้ว่าชีวิตหรูหรา รวยเร็ว เป็นเรื่องหลอกลวง

จากคดีฉาว“ดิ ไอคอน กรุ๊ป”ที่ถูกมองเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เพราะแม้จะมีสินค้า แต่ไม่ได้ถูกนำเสนอมากเท่าการชวนหาสมาชิกด้วยโปรไฟล์ชีวิตดี ตามด้วยการแฉหลอกลงทุนเทรดเงินต่างประเทศ ที่มีพระสงฆ์เป็นเหยื่อจำนวนมาก จนถูกเรียก“แชร์แครอท”สะท้อนว่า การชักจูงของแชร์ลูกโซ่ยังมีผลต่อใจผู้คนเสมอ โดยเฉพาะประเด็นที่ใครๆก็อยากมีชีวิตดีขึ้น ยิ่งไวแบบ“พลิกฝามือ”ได้ยิ่งดี

จุดแข็งการชี้ชวนข้อนี้ คือจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้ยังมีคนตกเป็นเหยื่อ

ทีมข่าวอาชญากรรม”ย้อนดูรายงานการวิจัย นวัตกรรมการป้องกันแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่เคยเผยแพร่รูปแบบกลโกง และแนวทางป้องกัน เป็นการศึกษาจากผู้เคยตกเป็นเหยื่อ ซึ่งมีหลายประเด็นยังหยิบสะกิดเตือนใจกันได้ ไม่ตกเทรน

เริ่มจากผลวิจัยชี้ว่า เหยื่อส่วนใหญ่เป็นหญิงมากกว่าชาย , เหยื่อกว่าร้อยละ 71 เป็นผู้มีงานและรายได้ประจำ โดยเงินเดือนเฉลี่ย 4 หมื่นบาทต่อเดือน และมีความหลากหลายทางอาชีพทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ไปจนถึงแพทย์ พยาบาล นักบิน ตำรวจ ทหาร ทนาย วิศวกร พนักงานธนาคาร

ส่วนใหญ่รู้ หรือควรรู้ว่าเป็นการลงทุนแบบใดก็ยังเข้าร่วมเพราะผลประโยชน์ตอบแทนที่สูงมาก มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่รู้จริงๆ , เหยื่อจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักคนแนะนำ และมักสมัครลงทุนผ่านโซเชียล สื่อสารกันผ่านข้อความแชทออนไลน์ หรือโทรศัพท์คุย ไม่เคยเจอตัวจริง , เหยื่อมักโอนเงินเข้าบัญชีชื่อบริษัท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้จะดอนเข้าบริษัทจดทะเบียนถูกต้องแต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ถูกหลอก

1 ใน 4 ของเหยื่อมักมีนิสัยชอบลงทุน กล้าเสี่ยงลงทุนหรือเป็นนักลงทุนกับธุรกิจผลตอบแทนสูงและรวดเร็วแบบแชร์ลูกโซ่อยู่แล้ว , เหยื่อที่แจ้งดำเนินคดีแชร์ 1 ใน 5 เคยตกเป็นเหยื่อแชร์อื่นมาก่อน สะท้อนว่ามีความชื่นชอบความเสี่ยง เพียงแค่ออกไม่ทันจึงจกเป็นเหยื่อ , เหยื่อที่เข้าแจ้งความจริงๆเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่อาย กลัวเสียชื่อ กลัวทางบ้านรู้ , เกินครึ่งของเหยื่อถูกชักชวนลงทุนผ่านโซเชียล ตอกย้ำอิทธิพลสื่อออนไลน์

เหยื่อมักตัดสินใจลงทุนเพราะมีคนรู้จัก คนสนิทเคยลงทุนและได้ผลประโยชน์ตอบแทนจริง ซึ่งเป็นอีกเหตุผลที่เมื่อตกเป็นเหยื่อมักไม่แจ้งความเพราะคนชักชวนคือญาติ คนรู้จักกัน , บริษัทที่ชักชวนมักอ้างนำเงินไปลงทุนบริษัทในต่างประเทศ มีสาขา หรือบริษัทแม่ในต่างประเทศ เป็นจุดที่ต้องระวังเพราะมีโอกาสถูกหลอกสูง เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้

น่ากังวลที่เหยื่อเชื่อและตัดสินใจลงทุน แม้ไม่เคยเจอตัวผู้ชักชวนจริงๆ , เหยื่อเชื่อและมั่นใจลงทุนแม้ไม่เคยเดินทางไปสถานที่ประกอบธุรกิจจริง , อันตรายมากที่เหยื่อส่วนใหญ่ใช้การสื่อสารช่องทางเดียวคือ โซเชียล อย่างเพจ เฟสบุ๊ค ไลน์ ที่หากถูกปิด หรือระงับก็ไม่สามารถติดต่อได้อีก , น่าแปลกใจที่ 1 ใน 4 ของเหยื่อ ทราบถึงการเตือนภัยแชร์ลูกโซ่ แต่เมื่อเห็นอ้างลงทุนกำไรดี ตอบแทนเร็วก็จะยังดันทุรังลงทุนแม้รู้ว่าเสี่ยงเป็นแชร์ลูกโซ่ก็ตาม

สำหรับแนวทางป้องกัน มีการระบุไว้ 10 ข้อหลัก ได้แก่ 1.มีสติ คิด วิเคราะห์ว่าไม่มีธุรกิจใดให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้นๆ 2.ศึกษาที่มาของรูปแบบลงทุน ตรวจสอบการขออนุญาตทำธุรกิจกับหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สคบ. ก.ล.ต. ธปท.

3.ก่อนลงทุนต้องมีความรู้ด้านการเงิน การลงทุน ควรศึกษาให้รอบคอบก่อน 4.อย่าโลภมาก 5.อย่าโลกสวย 6.ไม่หูเบา คล้อยตามคำชักชวนให้ลงทุน 7.ไม่ใจร้อน ด่วนตัดสินใจลงทุน 8.อย่าคิดว่าตัวเองเก่งทุกเรื่อง 9.ต้องรู้เท่าทันกลลวงใหม่ๆ 10.ไม่ไว้ใจหรือเกรงใจจนไม่กล้าปฏิเสธ

ทั้งนี้ หากเปิดระดมทุนไม่จำกัด , การันตีผลตอบแทนสูงมาก , ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้ , เชียร์ให้รีบตัดสินใจลงทุน , จัดอบรมสัมมนาใหญ่โต และอ้างคนมีชื่อเสียงร่วมด้วย เหล่านี้ส่ง“สัญญาณ”เป็นข้อสังเกต“แชร์ลูกโซ่”ได้เลย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]