“สิ่งที่ติมอร์-เลสเต ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การรักษาชาติ, การปรองดอง, สันติภาพ และเสถียรภาพ ซึ่งประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมหาศาล” ประธานาธิบดีโฮเซ รามอส-ฮอร์ตา กล่าวในการให้สัมภาษณ์ที่บ้านพักของเขา ในกรุงดิลี

ผู้สังเกตการณ์อิสระหลายคนกล่าวว่า ติมอร์-เลสเต ประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรแค่ประมาณ 1.3 ล้านคน มีความโดดเด่นในฐานะสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อในภูมิภาค ซึ่งนายโจชัว คูร์ลันต์ซิค นักวิชาการอาวุโสจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) ระบุเสริมว่า ติมอร์-เลสเต อาจมีประชาธิปไตยที่ยืดหยุ่นและมั่นคงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ติมอร์-เลสเต กำลังเผชิญกับการต่อสู้ครั้งใหม่ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น อัตราความยากจนที่สูงกว่า 40%, พลังงานสำรองที่ผู้สันทัดกรณีชี้ว่าจะหมดลงภายในไม่กี่ปี และการสร้างสมดุลระหว่างพันธมิตรตะวันตก กับจีน

เมื่อปี 2518 กองกำลังอินโดนีเซียเข้ายึดครองติมอร์-เลสเต ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ตามมาด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการสังหารประชากรราว 25% ก่อนที่การลงประชามติในปี 2542 จะช่วยให้ประเทศได้รับเอกราช และเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะผลกำไรจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กระนั้น ชาวติมอร์ไม่ได้รับผลประโยชน์ทุกคน โดยนายชาร์ลส์ ไชเนอร์ นักวิจัยจาก “ลาโอ ฮามูตุก” ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) ในกรุงดิลี กล่าวว่า เศรษฐกิจนอกเมืองหลวงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งติมอร์-เลสเต ยังคงมีความยากจนในระดับสูงมาก และภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ซึ่งอาจเลวร้ายที่สุดในโลก

แม้ติมอร์-เลสเต จะบรรลุข้อตกลงโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่กับออสเตรเลีย ภายในเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งมันมีความสำคัญต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่หลายคนเตือนว่า การพัฒนาโครงการดังกล่าว ทำได้แค่ชะลอปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นเท่านั้น เนื่องจากติมอร์-เลสเต ยังเป็นผู้นำเข้าอาหารสุทธิ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้การกระจายความเสี่ยงเป็นเรื่องยาก

อนึ่ง รามอส-ฮอร์ตา มองโลกในแง่ดี และให้คำมั่นว่าจะเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ท่ามกลางความกังวลที่ว่า รัฐบาลดิลีอาจหันหลังให้กับพันธมิตรตะวันตกดั้งเดิม เนื่องจากประเทศต้องการการลงทุนมากขึ้น ซึ่งแม้เขายืนยันว่า จีนช่วยเหลือติมอร์-เลสเต เพียงฝ่ายเดียว แต่พันธมิตรชาติตะวันตกกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าติมอร์-เลสเต อาจติดกับดักหนี้สิน และกลายเป็น “ทาสของรัฐบาลปักกิ่ง” ได้

การทูตที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของรามอส-ฮอร์ตา ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2539 และคะแนนความนิยมก็ทำให้เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ระหว่างปี 2550-2555 รวมถึงชนะการเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ในปี 2565

แต่ถึงอย่างนั้น บรรดาผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า มันถึงเวลาแล้วสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งรามอส-ฮอร์ตา ก็มีความคิดเห็นแบบเดียวกัน พร้อมกับกล่าวว่า เขาจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกในปี 2570 เพื่อผลักดันคนรุ่นใหม่ที่พร้อมแข่งขันและพัฒนาประเทศแห่งนี้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES