เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่เคารพ

ผมเป็นชายสูงวัยได้อ่านคอลัมน์การแก้ปัญหาเกี่ยวกับอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ที่คุณหมอได้เขียนลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และติดตามอยู่เป็นประจำ และผมก็เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่มีอาการทางเพศเหมือนกับชายหลาย ๆ คนที่เขียนจดหมายไปปรึกษากับคุณหมอ จึงอยากให้คุณหมอช่วยรักษาอาการทางเพศที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ให้ด้วย ปัจจุบันอายุ 62 ปี เป็นคนที่มีความต้องการทางเพศสูง ร่างกายโดยรวมแล้วปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวอะไร แต่สุขภาพทางเพศไม่ค่อยแข็งแรง คือจะมีอาการอวัยวะเพศไม่ค่อยแข็งตัวเวลาสอดใส่ อาการนี้เป็นมานานหลายปีแล้ว พยายามหาสมุนไพรต่าง ๆ มากินตามคำแนะนำจากเพื่อน ผลสุดท้ายก็เหมือนเดิม จึงอยากได้คำแนะนำจากคุณหมอว่าควรจะกินยาตัวไหน หรือมีวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

ด้วยความเคารพ

กันต์

ตอบ กันต์

ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (อีดี) จากการศึกษาพบว่าชายไทยที่มีอายุระหว่าง 40-70 ปี จะพบภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ถึง 42% ซึ่งคนส่วนมากมักมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว คิดว่าเป็นโรคของคนสูงอายุ ส่วนมากเมื่อมีอาการก็มักจะปรึกษาเพื่อนฝูงที่สนิท และก็มักจะแนะนำกันเอง ถูกบ้าง ผิดบ้าง บางคนขี้อายก็จะเก็บปัญหาไว้คนเดียว แต่ความเป็นจริงแล้วปัจจัยที่ทำให้อวัยวะเพศเกิดการแข็งตัวนั้นมีหลายอย่าง ทั้งด้านร่างกาย เช่น ระบบหลอดเลือด ระบบประสาท ฮอร์โมน และด้านจิตใจ ทุกอย่างต้องครบจึงจะมีการแข็งตัวเกิดขึ้นได้ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปก็จะทำให้แข็งตัวได้ไม่ดี หรือไม่แข็งตัวเลย

ถ้าคุณอายุไม่มาก สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจเกิดขึ้นได้บ้างเป็นครั้งคราว เพราะสภาวะที่ร่างกายไม่พร้อม การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีความกังวลทางจิตใจ สาเหตุเหล่านี้ถ้าดูแลสุขภาพให้ดีก็มักจะหายไป แต่ถ้าดูแลสุขภาพดีแล้วแต่ก็ยังเป็นอยู่คุณก็ต้องพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุที่ถูกต้อง

หากเป็นในกลุ่มชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาการอีดีโดยส่วนมากแล้วจะมีปัญหาทางด้านร่างกายมาเกี่ยวข้อง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เคยตรวจมาก่อน เนื่องจากไม่มีอาการแสดงออกให้เห็น จึงคิดว่าตัวเองไม่เป็น  การสูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวการที่ทำให้ระบบหลอดเลือดเสื่อมสภาพ นอกจากนี้แล้วภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายจากอายุที่มากขึ้นก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีอาการอีดี ในปัจจุบันมียาที่ใช้รักษาอาการอีดีอยู่หลายชนิด เช่น ยาขยายหลอดเลือด กลุ่ม PDE-5 inhibitor ยาเพิ่มฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน เป็นต้น ทั้งยาแผนปัจจุบัน และยาทางเลือกต่าง ๆ เช่น สมุนไพร หรือสารสกัดจากธรรมชาติ ต่างมี
ข้อดีข้อเสียต่างกันไป คุณควรจะศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ

โดยส่วนมากยามักจะมีผลข้างเคียง คุณจำเป็นต้องรู้ข้อห้ามของการใช้ยา เช่นผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีการรับประทานยาขยายหลอดเลือดอยู่ ห้ามใช้ยากลุ่ม PDE-5 inhibitor โดยเด็ดขาด เพราะอันตรายถึงตายได้ ฉะนั้นการจะรักษาอาการอีดีของคุณให้ปลอดภัยคุณจึงต้องเข้าพบแพทย์ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำได้ตรงจุด และจะตรวจหาความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ คุณอาจตรวจพบโรคที่ซ่อนอยู่ที่คุณอาจไม่รู้ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง พร่องฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งที่ทำให้คุณมีอาการอีดีดังกล่าว  แล้วผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้แนะนำยาและวิธีการรักษาอาการอีดีของคุณเอง.

ดร.โอ สุขุมวิท 51

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่