ผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ เป็นบททดสอบสำคัญสำหรับความพยายามของรัฐบาลโตเกียว ในการเปลี่ยนแปลงวงการธุรกิจของญี่ปุ่น และอาจทำให้บริษัทหลายแห่งในประเทศ กลายเป็นจุดสนใจของผู้ซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น

เครือร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เปรียบเสมือนเส้นชีวิตที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย สำหรับประชากรสูงอายุในญี่ปุ่น และเป็นร้านค้าครบวงจรที่ได้รับความนิยม จากการจำหน่ายสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่แซนด์วิชไข่ ไปจนถึงบัตรคอนเสิร์ต

“ร้านค้าเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่น และมันกลายเป็นแม่แบบระดับโลกสำหรับร้านสะดวกซื้อ” นายกาวิน เอช ไวต์ลอว์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และกรรมการบริหารของสถาบันญี่ปุ่นศึกษาไรส์เชาเออร์ กล่าว

อันที่จริง เซเว่นอีเลฟเว่น มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐ แต่นายมาซาโตชิ อิโตะ มหาเศรษฐีผู้ล่วงลับ เปลี่ยนมันให้เป็นอาณาจักรสัญชาติญี่ปุ่น ด้วยสาขาทั่วโลกมากกว่า 85,000 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 25% ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น

เมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา บริษัท เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเครือร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการ มูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.34 ล้านล้านบาท) จากเอซีที โดยให้เหตุผลว่า เอซีทีประเมินมูลค่าเซเว่นอีเลฟเว่น “ต่ำเกินไป” พร้อมกับเตือนถึงอุปสรรคต่าง ๆ ในด้านการกำกับดูแล

กระนั้น เอซีที ซึ่งเป็นเจ้าของเครือร้านสะดวกซื้อ “เซอร์เคิล เค” และบริหารร้านสาขาเกือบ 17,000 แห่งทั่วโลก ให้คำมั่นว่าจะเข้าซื้อกิจการเซเว่นอีเลฟเว่น และเพิ่มจำนวนเงินในข้อเสนอเป็นประมาณ 47,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.58 ล้านบาท) ส่งผลให้ราคาหุ้นของเซเว่น แอนด์ ไอ พุ่งสูงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา

แม้ยังไม่ที่แน่ชัดว่า รัฐบาลญี่ปุ่นชุดใหม่ของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ จะใช้เหตุผลด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อบีบให้เอซีทียกเลิกข้อเสนอเทคโอเวอร์หรือไม่ แต่เมื่อเดือนที่แล้ว กระทรวงการคลังญี่ปุ่นกำหนดให้เซเว่น แอนด์ ไอ เป็น “อุตสาหกรรมหลักของประเทศ” ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ทางการญี่ปุ่นมีอำนาจมากขึ้น ในการขัดขวางการเข้าซื้อกิจการในบางกรณี

ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง เคยมีชื่อเสียงโด่งดังจากการซื้อกิจการครั้งใหญ่ในระดับโลก แต่พวกเขากลับปฏิเสธแนวคิดของการเทคโอเวอร์โดยบริษัทต่างชาติ ซึ่งผู้สันทัดกรณีบางคนกล่าวว่า การควบรวมกิจการ ถือเป็นแนวคิดที่แปลกมากสำหรับบริษัทญี่ปุ่น และพวกเขามองว่า การขายกิจการถือเป็นจุดจบของประวัติศาสตร์ธุรกิจนั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากทางการและธุรกิจต่าง ๆ พยายามดึงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ให้หลุดออกจากภาวะซบเซา ดังนั้น การต่อสู้เพื่อซื้อกิจการเซเว่นอีเลฟเว่น จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด อีกทั้งบางคนกล่าวว่า มันอาจมีข้อเสนอหรือข้อตกลงที่คล้ายคลึงกัน เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP