อุบัติเหตุระทึกที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าโมโนเรล(รถไฟฟ้ารางเดี่ยว) 2 สายแรกของประเทศไทย เมื่อรางนำไฟฟ้า(Conductor rail)  ของโมโนเรลสายสีชมพูร่วงกราวยาวกว่า 5 กม.โค่นเสาไฟฟ้าและทับรถยนต์เสียหายหลายคันเมื่อปลายปี 2566 …..ล้อรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองหลุดหล่นใส่รถแท็กซี่เมื่อต้นปี 2567  ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของประชาชนและผู้ใช้บริการสุดขีด

ล่าสุดบริษัท อัลสตอม ผู้ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง และสายสีชมพู ได้ขนส่งล้อชุดใหม่ที่ออกแบบใหม่เป็นชุดล็อกสองชั้นจากประเทศจีนมาถึงประเทศไทยและเริ่มติดตั้งแล้ว 2 ขบวน สายสีเหลือง 1 ขบวน และสายสีชมพู 1 ขบวน  จะติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. 2567 จากนั้นจะทดลองใช้งานและเก็บข้อมูลจนถึงเดือน ธ.ค.2567

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี  ในฐานะกรรมการบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และกรรมการบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง บอกว่า … หากการใช้งานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามที่ออกแบบไว้จะทยอยติดตั้งในขบวนรถทั้งหมดอีก 70 ขบวนต่อไป คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จครบทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2568 หรือประมาณเดือน ก.ค.-ก.ย.2568 รวมทั้งเพิ่มความถี่ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการใช้งานของล้อเพื่อสร้างความมั่นใจ และเกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ใช้บริการ ตลอดจนป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำอีกในระยะยาว 

บริษัท อัลสตอม ผู้ผลิต ออกแบบล้อชุดใหม่เป็นแบบล็อกสองชั้น  เพิ่มตัวล็อกอีก 1 ชั้น เมื่อเกิดอุปกรณ์ยึดหลุดจะมีตัวล็อกอีกชั้นทำให้ล้อไม่หลุดร่วงลงมา ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานมากขึ้น     ก่อนที่จะนำมาติดตั้งจริงกับขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 2 ขบวนได้ทดสอบในโรงงานผลิตมาแล้ว  คาดว่าการติดตั้งและการใช้งานจะไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองมี 30 ขบวน และสายสีชมพู มี42 ขบวน รวม 72 ขบวน โดย 1 ขบวน จะมีล้อประคอง 48 ล้อข้างละ 24 ล้อ รวม 3,456 ล้อ ซึ่งอยู่ในระยะความรับผิดชอบของผู้ผลิตเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด

สำหรับกรณีรางนำไฟฟ้าหรือรางจ่ายกระแสไฟฟ้านั้น เดิมได้ออกแบบให้มีความยาวมากที่สุดโดยเฉพาะทางตรงเพื่อลดรอยต่อเชื่อม เมื่อเกิดปัญหาการเกี่ยวรั้งรางหลุดร่วงยาวกว่า 5 กม. ผู้รับสัมปทานมีแนวคิดปรับเปลี่ยนรางนำไฟฟ้าด้วย  อัลสตรอมได้ออกแบบใหม่แล้วเพื่อปรับความยาวให้สั้นลง กำลังพิจารณาข้อดีข้อด้อยเนื่องจากการปรับระยะรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สั้นลงจะทำให้มีรอยต่อเชื่อมเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มการดูแลซ่อมบำรุงมากขึ้น จะสรุปผลเร็วๆนี้

รถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สายเป็นแบบคร่อมรางไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนคานคอนกรีต มีความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม.ขบวนรถไฟฟ้าเป็นแบบ 4 ตู้โดยสาร   รองรับผู้โดยสารได้ 568 คน/ขบวน หรือ17,000 คน ต่อ ชม.ต่อเที่ยวเพิ่มได้เป็น 6 ตู้รองรับผู้โดยสารเป็น 25,000 คนต่อ ชม.ต่อเที่ยว และเพิ่มเป็น 7 ตู้รองรับผู้โดยสารได้ 28,000 คนต่อ ชม.ต่อเที่ยว      

ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน โดยสายสีเหลืองผู้โดยสารอยู่ที่  4-5 หมื่นคนต่อวัน เคยทำสถิติสูงสุด  92,038 คนเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2566 ช่วงทดลองเปิดบริการฟรี  ส่วนสายสีชมพู 6-7 หมื่นคนต่อวัน ทำสถิติผู้โดยสารสูงสุด 107,203 คนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2566 ช่วงทดลองเปิดบริการฟรีถึงเที่ยงคืน

เป็นเรื่องดีๆที่ผู้รับสัมปทานตื่นตัวสั่งรื้อเปลี่ยนอุปกรณ์ชุดล้อรถไฟฟ้าทั้งหมด และเตรียมเปลี่ยนรางจ่ายไฟ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นประชาชนในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน 

ส่วนข้อกังขาและคำถามเรื่องมาตรการบริหารจัดการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ในฐานะเจ้าของโครงการ  รวมทั้งกระทรวงคมนาคม  ถึงผลการตรวจสอบและบทสรุปของเหตุการณ์ระทึกขวัญประชาชนนี้นั้น….ยังไม่เห็นความชัดเจน  มีแค่คำขู่จากนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม รวมทั้งนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช. คมนาคมที่กำกับดูแลระบบราง  เรื่องจะตัดคะแนนและจะปรับเงินผู้ประกอบการ ยังวนลูปกลับมาพูดแบบเดิมๆ

……………………………………..
นายสปีด

***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

คลิกอ่านบทความทั้งหมดที่นี่…