เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน วงการ “อีสปอร์ต” ในประเทศไทยเริ่มมีการเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชน ก็เริ่มมีการจัดตั้งทีม สโมสร รวมถึง ‘อคาเดมี’ และหลักสูตรการสอนทางด้านอีสปอร์ตอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายอีสปอร์ต ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงในยุคนี้อีกเช่นกัน!

ในตอนนี้ มี “อีสปอร์ตคอมมูนิตี้” (Esports Community) แห่งหนึ่ง ที่กำลังพยายามเชิญชวนผู้คนที่มีชื่อเสียงในด้านอีสปอร์ตมาร่วมพูดคุยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่าน Session สุดพิเศษทาง Discord ที่มีเฉพาะวันศุกร์หรือเสาร์ของทุกสัปดาห์ หลายคนที่เข้ามาก็มีทั้งนักแข่ง นักพากย์ โค้ช อาจารย์ นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย กระทั่งโฆษกสหพันธ์อีสปอร์ตโลก ที่จะนำประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่เคยนำไปแชร์ที่ใดมาก่อน

แล้วทำไม พวกเขาถึงสามารถเชิญคนดังในวงการมาร่วมพูดคุยได้ ทั้งที่พวกเขาก็ไม่ได้เป็น ‘คอมมูนิตี้’ ที่โด่งดังมากนัก แล้วพวกเขามีจุดมุ่งหมายระยะยาวอย่างไร ในวันนี้ FLINT K. จาก เดลินิวส์ออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับ ATHRON รวมถึงสรุปบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ กับ คุณเจษ ซีอีโอของ ATHRON (เอ-ทรอน) และ บริษัท “เจริญสุข คอร์เปอเรท กรุ๊ป” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ไปอ่านกันต่อได้เลย!

ทำความรู้จักกับซีอีโอและบริษัทของพวกเขากันก่อน!

คุณเจษฎา ด่านปาน หรือที่รู้จักในชื่อสั้น ๆ ว่า คุณเจษ เป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท เจริญสุข คอร์เปอเรท กรุ๊ป (CCG) ที่มีแผนกของตัวเองอยู่ 3 แผนกหลัก ๆ โดยแบ่งเป็น 

  1. ขายเพลินเจริญสุข เป็น Branding and Marketing Provider เอเจนซีด้านการตลาด ที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ และการตลาดให้แบรนด์และองค์กรต่าง ๆ
  2. รื่นเริงเจริญสุข รับผิดชอบในงานสายครีเอทีฟและการผลิต (Production) ที่เกี่ยวข้องกับงานประเภท ‘รื่นเริง’ ทั้งหมด และเน้นไปที่การดีไซน์ประสบการณ์ (Experience Designer) กับงานอีเวนต์ โดยมีหนึ่งในโปรเจกต์ใหญ่ที่กำลังดำเนินการอยู่ในชื่อว่า ATHRON (เอ-ทรอน)
  3. ล้ำเกินเจริญสุข ดูแลในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม พวกเขามีการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (ในปัจจุบันยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ)

ก่อนหน้านี้ คุณเจษ เคยมีประสบการณ์ในสายบันเทิงมาแล้วจากการทำงานมาหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น “Virgin Active Radio” ในเครือ TERO Entertainment ตามไปด้วยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับละครเวทีของคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ที่โรงละคร “เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์” และเป็นผู้ช่วยซีอีโอของช่อง ONE31 และเป็นผู้ควบคุมการผลิต (Producer) ของการผลิต Live show ต่างๆ มากมาย

โดยเขาก็ใช้เวลามานานกว่า 15 ปีในการเก็บประสบการณ์และ ‘คอนเนคชัน’ จากสายบันเทิง ก่อนที่จะเริ่มมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเองในเวลาถัดมา ในส่วนของ ATHRON ที่เขาได้ริเริ่มขึ้นนั้นถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ใหญ่ ภายใต้ รื่นเริงเจริญสุข ที่มีความสนใจในด้านชุมชมอีสปอร์ตทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยพวกเขาก็ได้ริเริ่มสิ่งนี้ขึ้นมา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอีสปอร์ตประเทศไทย

แล้วทำไมจู่ ๆ ถึงให้ความสนใจกับอีสปอร์ต?

“ผมเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่ Family เกมตลับ เกมบอย PlayStation ครับ แล้วก็หยุดเล่นเกมหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เล่นพวก Ragnarok, Audition, DotA, Pangya เล่นกับเพื่อนๆ พอโตขึ้นและได้ทำงานก็ไม่มีเวลาเล่น แต่ตอนนี้ก็จะมีเกม MOBA ที่เล่นประจำ ที่เล่นบ่อยสุดตอนนี้คือ RoV” 

“ทั้งหมดนี้ เริ่มมาจากการชอบเล่นเกม จนเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนว่าเราทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยแล้วรู้สึกอิ่มตัว ก็เลยมองหาอะไรใกล้ตัวในสิ่งที่เราชอบ ซึ่งก็คือ การเล่นเกม บวกกับผมเองเป็นอาจารย์พิเศษสอน Branding และ Marketing ให้กับ ม. สยาม เลยรู้สึกว่า อีสปอร์ตในประเทศไทย ยังขาด Branding กับ Marketing ที่มากพอ ก็เลยอยากนำเสนอทั้งสองเรื่องนี้ให้คนในอุตสาหกรรมเข้าใจมากขึ้น จนเกิดเป็น ATHRON ซึ่งตอนแรกยังไม่ได้เป็น Esports Community เหมือนกับในปัจจุบัน” 

“ส่วนจุดเริ่มต้นของ ATHRON นั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2020 ตอนนั้นทำเป็นทีม RoV แต่ผู้เล่นจำนวนไม่ครบ 5 คนก็เลยต้องพับโครงการนี้ไป เพราะตอนนั้นบริษัทเจริญสุขก็มีโปรเจกต์ของลูกค้าที่ต้องดูแลอีกเป็นจำนวนมาก”

“และเราก็รื้อโครงการขึ้นมาอีกครั้งในช่วงปี 2023 เพราะมีน้องที่เคยคุยกันเรื่องอีสปอร์ตบอกมาว่าอยากได้สปอนเซอร์ แล้วอยากให้เราช่วยสปอนเซอร์ทีมน้องในนามของ เจริญสุขฯ ซึ่งเราก็สนับสนุนเป็นเงินไปเป็นจำนวนนึง แม้ว่าครั้งนั้นผลลัพธ์พวกเขาจะไปแข่งมาแล้วแพ้ แต่พอได้คุยกับน้องลึก ๆ น้องก็มีความต้องการในการทำทีมอีก เราเลยคิดว่า เราจะต้องมีทีมเป็นของตัวเอง ไม่ใช่การสนับสนุนเป็นรายครั้งเพราะมันไม่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ เราเลยรื้อโปรเจคนี้ขึ้นมา”

“ทีนี้ ก็ได้ทีมของตัวเอง ไม่ติดสังกัดใดมาอยู่ใน ATHRON ส่งแข่งได้ที่ 1 ที่ 2 บ้าง ไปตามรายการต่าง ๆ และก็มีปัญหาที่ผมคิดว่าหลาย ๆ ทีมอาจจะเจอบ้างคือเรื่องของผู้เล่นมีปัญหากันในทีม และเกิดการเข้าออกของสมาชิกในทีม จนทีมฟอร์มเสีย ซึ่งตอนนั้นผมมีหน้าที่ดูน้อง ๆ อยู่ห่าง ๆ ให้จัดการกันเอง เพราะเราอยากให้น้องโต”

“จนอยู่มาวันหนึ่ง ผมมองว่า การทำทีมไม่เหมาะกับธุรกิจของบริษัทอีกต่อไป เพราะปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มีมากกว่า ผมเลยตัดสินใจหยุดทำทีม แล้วก็เปลี่ยนไปเป็นการทำงานในเชิงให้ความรู้ การสร้างคอมมูนิตี้ของอีสปอร์ต เลยกลายเป็น ATHRON Esports community บวกกับด้วยความที่เราชอบเรียนรู้ เลยมองเห็นว่าการส่งต่อความรู้ จะมีคุณค่ากับเรา เราอินกับการให้ความรู้ เราสนุกกับมัน สนุกกับการที่ทำให้คนนึงที่ไม่รู้ ได้รู้ และได้นำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ นำไปต่อยอดได้ ก็เลยคิดว่าแบบนี้สนุกกว่า แฮปปี้กว่า เลยกลายเป็น ATHRON ขึ้นมา”

“แต่ในแง่ธุรกิจ การให้ความรู้อย่างเดียวอาจไม่ใช่ธุรกิจที่สมบูรณ์แบบ เราก็ต้องมีอย่างอื่นประกอบด้วย เราก็เลยคิด 101 Esports Sharing Session โดยที่ยังไม่ได้คาดหวังว่าจะมีรายรับในช่วง 2-3 ปีนี้ เพราะเรายังต้องเซตตัวชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นก่อน โดยตอนนี้เราใช้งบประมาณจากบริษัท เจริญสุขฯ และยังไม่มีรายได้จากภายนอก เพราะเรายังต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า ATHRON จะดีพอสำหรับการสนับสนุนจากลูกค้าที่ให้โอกาสเรา”

แล้วทิศทางคอนเทนต์ที่ตอนนี้ ATHRON ทำอยู่เป็นยังไงบ้าง?

ในปัจจุบัน เราจะนำเสนอ International Content มาให้คนในชุมชนก่อน เพราะผมมองว่าตัวอีสปอร์ต ไม่ได้เกิดในไทย มันมาจากต่างชาติ เราเลยใช้ การนำเสนอข่าวต่างประเทศ เกี่ยวกับการร่วมมือระหว่างแบรนด์ ให้ภาคเอกชนรู้ว่าอีสปอร์ต มีโอกาสทำธุรกิจได้ เพราะบางที่อาจยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร นอกจากการให้เงินสปอนเซอร์” 

“จากประสบการณ์ของตัวเอง ตอนสปอนเซอร์ทีม ผมมีคำถามว่าแบรนด์จะได้อะไร นอกจาก Logo Exposure เพราะทางการตลาดเราต้องมีการวัด KPI (Key Performance Indicator) เพื่อกลับมาประเมินในการใช้งบประมาณเหล่านั้นว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าแบรนด์ลงเงินสปอนเซอร์ไป เมื่อไม่ได้ KPI ตามที่ตั้งไว้ แบรนด์ก็ไม่สปอนต่อ ทีมก็ต้องไปหาแบรนด์อื่น แล้วก็มาวนลูปเดิม” 

“ด้วยเหตุผลนี้ ผมเลยอยากนำเสนอข้อมูลที่ต่างประเทศมีโมเดลทำไว้แล้ว เพื่อแนะนำให้แบรนด์ประเทศไทยเข้าใจว่า จะสามารถทำอะไรได้บ้างในของมุมธุรกิจ  แล้วมุมของทีมที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ควรมีวิธีคิดแบบไหน ที่เป็นการมองมุมแบรนด์ ไม่ใช่การมองเพียงแค่ว่าต้องการเงินเท่าไหร่มาสปอนเซอร์ทีม แต่ไม่สามารถให้ KPI ตามที่ตกลงกันไว้ได้นอกจากรางวัลที่ได้มา โดยหลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางเราต้องการจะแนะนำกับทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน”

อยากรู้ว่า Esports Session 101 เป็นยังไง สำคัญยังไง ทำไมถึงเริ่ม 

“เริ่มจากที่ผมเป็นคนชอบเรียนรู้โดยพื้นฐาน และผมต้องหาข้อมูลที่หลากหลายเพื่อมาประกอบการณ์ทำคอมมูนิตี้ของอีสปอร์ต เลยทำให้ผมต้องเสพย์ข้อมูลให้เยอะที่สุด หลากหลายที่สุด และตั้งคำถามเชิงลึก อย่างเช่นอุตสาหกรรมอีสปอร์ตในประเทศไทย ที่เริ่มเติบโตขึ้นมากภายในไม่ถึง 10 ปี ผมสงสัยว่ามันมายังไง มันโตเร็วมาก มันโตด้วยแรงขับอะไรกันแน่?”

“โดยผมต้องพูดคุยกับคนที่มีความรู้มากกว่า หรือมีประสบการณ์ที่สูงกว่าในอุตสาหกรรมอีสปอร์ต เพื่อที่จะได้นำความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ของเขามาสรุปและนำไปต่อยอดต่อไป แต่! ถ้าคุยแบบตัวต่อตัวแค่เราคนเดียว ความรู้ที่ได้ก็จะอยู่แค่เราคนเดียว มันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราถามเรื่องที่สำคัญที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกให้กับคนอื่น ในบางประเด็นก็อาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ ผมก็เลยทำตัว 101 ขึ้นมาเพื่อให้คนที่สนใจในหัวข้อต่าง ๆ เข้าฟังพร้อมผม โดยไม่ต้องเสียเงินและได้รับ ใบรับรอง มีลายเซ็นของแขกรับเชิญพิเศษรับรองด้วย!”

“เรื่องนี้ก็เหมือนการมีเพื่อนร่วมคลาส มันดีกว่าการฟังคนเดียว ปัจจุบัน มีคนลงทะเบียนมาฟังประมาณ 600 กว่าคน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตอนนี้เราก็ทำไปทั้งหมด 20 กว่า Session แล้ว” 

“พอเราได้คุยกับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เราเชิญมา ไม่ว่าจะเป็น นักพากย์ เจ้าของทีม เจ้าของสโมสร ผู้จัดการทีม ผู้บริหาร ครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับ อีสปอร์ตประเทศไทย เรารู้สึกว่าความรู้เหล่านั้นเป็นความรู้ที่มีคุณค่ามากๆ บางครั้งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน มันบ่งบอกถึงสิ่งที่เขาเคยเจอ แต่เราไม่เคยเจอ”

“อย่างตอนสัมภาษณ์ Jeansui ที่เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตเกม eFootball จาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต น้องได้ให้ความรู้และประสบการณ์ที่เราไม่เคยสัมผัสเอง เช่น การไปแข่งในต่างประเทศ แข่งจนได้แชมป์ จนเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นต้น พอเราได้คุยกับหลาย ๆ ท่านที่มาร่วมใน Session เราได้รับพลังงานบวก เขาจุดไฟให้เรา เรารู้สึกว่าพวกเขาคือคนที่มีเลือดนักสู้อยู่ในตัวสูงมาก มีทั้งความพยายาม มีวินัย มีความอดทน และลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ”

“ซึ่งพอเราคุยกับ Speaker คนไทยสักระยะแล้ว เราก็คิดว่าควรจะต้องคุยกับชาวต่างชาติด้วย เพื่อเป็นการแชร์ความรู้อย่างสมบูรณ์ เราเลยเชิญชาวต่างชาติคนแรกคือ คุณโยส อดีตนักกีฬา eFootball สังกัด U Arsenal มาคุยกับเราในเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องการจัดการเวลาส่วนตัว และการทำงาน โดยเราถาม-ตอบกับเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่เราก็มีล่ามคนไทยแปลทุกคำตอบที่เขาพูดให้ทุกคน”

“พอได้ฟังจากเขาแล้ว เราก็ได้มุมมองอีกมุมนึงว่า การจะเข้าไปอยู่ในสังกัดไม่ง่าย ต้องผ่านเอเจนซี เป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่รู้ในการเลือก Talent เข้าสังกัด โดยใช้ Third Party (บุคคลที่สาม) แล้วถ้าสมมติว่านักแข่งบ้านเราเก่ง ๆ จะหาเอเจนซี จะหาโอกาสนั้นที่จะเจอแล้วไปอยู่ในสโมสรใหญ่ ๆ ยังไง ควรทำตัวยังไง เตรียมตัวยังไง น้อง ๆ ก็จะได้คำตอบจาก session นี้ไปเต็ม ๆ” 

“อีกคนที่เราภูมิใจมากในฐานะคนไทย คือการได้คุยกับ โค้ชเหน่ง จาก Team Falcons ที่พาเด็ก ๆ ทีมไทยทั้งเซตไปได้แชมป์โลก Esports World Cup เกม Free Fire เราได้คุยกับโค้ชเหน่งว่าทำยังไง ถึงได้เจอ Team Falcons จากซาอุดีอาระเบีย แล้วพวกเขาได้ซื้อตัวผู้เล่นที่เป็นเด็กไทยทั้งทีม แถมแข่งชนะแชมป์โลก เลยได้รู้วิธีเลือก talent ในสโมสรใหญ่ ๆ ผมมองว่าเด็กไทยมีศักยภาพสูงมาก และได้เรียนรู้ว่าคนที่เป็นนักแข่งมืออาชีพจะมีวิธีคิดเป็นกลยุทธ์และมี mindset ที่ดี”

“ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องน่าเซอร์ไพรส์ เพราะที่ผ่านมามีการครหาว่าเด็กเล่นเกมต่าง ๆ  แต่พอได้คุยนักกีฬามืออาชีพตัวจริง เขามีวินัย มีความรับผิดชอบ ทำให้ผมได้รู้ว่าเด็กสมัยใหม่เจ๋งและเก่งมากแต่เรากลับไม่ค่อยรู้จัก และผู้คนในกระแสหลักก็ไม่ค่อยรู้จักเด็ก ๆ เหล่านี้เลย จึงทำให้เรามองหน้าที่ของ ATHRON ในอีกรูปแบบคือการทำให้คนนอกอุตสาหกรรมรู้จักอีสปอร์ตมากขึ้น เพราะเรามาจากอุตสาหกรรมอื่น เราเลยรู้ว่ามีอะไรที่คนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ สนใจ และนำเสนอมุมนั้น เพื่อดึงเขาเข้ามาในทำให้อุตสาหกรรมอีสปอร์ตเติบโตขึ้น” 

“โดยลำพัง นักกีฬาหรือทีมอาจไม่เพียงพอต่อการเติบโตของอีสปอร์ตในประเทศไทย มันจะต้องมีคนที่มีกำลัง เช่น หน่วยงานเอกชน ภาคการตลาด ภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องเข้ามาเรียนรู้ว่าโอกาสในอุตสาหกรรมอีสปอร์ตจะโตขึ้นอย่างไรในอนาคต เขาสามารถได้ประโยชน์ในมุมของธุรกิจอย่างไรบ้าง การทำ 101 จึงเป็นเครื่องมือในการทำความรู้จักอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น” 

“เพราะมันไม่ใช่ทุกวันที่โค้ชมืออาชีพ หรือทีมบริหารของสมาพันธ์อีสปอร์ตโลก นักแข่งระดับแถวหน้าของวงการอีสปอร์ตโลก กระทั่งนักพากย์ระดับโลก จะมาคุยกับเราได้ทุกวัน นี่จึงเป็นเหมือนภารกิจของ ATHRON ว่าเราต้องนำความรู้จากต่างชาติมาให้คนไทยได้มากที่สุด ความรู้เหล่านั้นต้องเป็นประโยชน์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจให้อุตสาหกรรมโตได้จริง ๆ เป็นความรู้จากผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากการที่เราชอบเรียนรู้ แต่ไม่อยากเรียนรู้คนเดียว!” 

Session เหล่านั้นนอกจากได้ความรู้แล้วยังได้ Certificate ด้วยถูกมั้ยฮะ

“Certificate เป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าผู้ฟังอยู่ฟังกับพวกเรามาตั้งแต่ต้นจนจบ การลงทะเบียนกับเรา ก็เหมือนการก้าวเข้ามา 50% แต่การจะได้ใบรับรอง ก็ต้องฟังตั้งแต่เริ่มจนจบ เพราะถ้าฟังไม่จบ มันก็จะเป็นความรู้ที่ขาดตอนหรือไม่ถูกต้อง โดยพวกเราจะมีระบบการเช็กชื่อ เพื่อยืนยันว่าทุกท่านยังฟังอยู่ โดยสิ่งนี้จะเป็นเครื่องการันตีว่าเขาฟังแล้วจริง ๆ แล้วเราก็อยากทำให้ใบรับรองนี้มีคุณค่า ไม่อยากให้เป็นแค่กระดาษหรือ Digital File ที่ส่งมาแล้วจบเท่านั้น สิ่งที่มากกว่านั้นคือความรู้ที่ฟังใน session ส่วนใบรับรอง คือสิ่งที่ย้ำเตือนว่าพวกเขาได้ความรู้ไปแล้วจริง ๆ”

“ในอนาคต ใบรับรองเหล่านี้อาจมีประโยชน์มากขึ้นจากการทำ Membership Program ที่เรากำลังพัฒนาอยู่ สำหรับใครที่มีใบเซอร์ตั้งแต่ session แรกจนถึงปัจจุบัน ก็เก็บไฟล์ไว้ก่อน ต่อไปอาจจะมีคุณค่าในอนาคตก็อาจเป็นได้!”

ATHRON ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ณ เวลานี้ ทำไมถึงสามารถเชิญคนที่มีชื่อเสียงหรือคนใหญ่ ๆ ในวงการเข้าร่วม session ได้? 

“ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณ speaker ทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วม session กับเรา ผมมองว่ามันคือความท้าทายมาก ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากในการเชิญผู้ใหญ่เข้ามาใน session เพราะตอนเชิญเราอธิบายถึงเป้าหมายของโครงการที่ค่อนข้างชัดเจน โดยกับผู้ใหญ่ท่านต่าง ๆ ผมและทีมงานเชิญด้วยความตั้งใจจริง สิ่งที่ได้รับเกียรติจาก speaker ทุกท่านที่มา คือความรู้ที่มีประโยชน์ เราอยากให้เขาเล่าให้เราฟัง

“ประโยชน์ของสิ่งที่เขาเล่าสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับคนที่เข้ามาฟัง มันคือการถ่ายทอดให้กันและกันโดยความตั้งใจ” 

“ด้วยเหตุผลนี้ ก็ทำให้แทบทุกคนที่เชิญไปตอบรับเราเป็นอย่างดี เพราะเขาอยากช่วยผลักดันอุตสาหกรรมอีสปอร์ตอย่างจริงจัง และเรารู้สึกดีใจที่ได้รับการแนะนำต่อว่าคุยกับคนนี้สิ คุยกับคนนั้นต่อไหม มันเป็นภาพจำที่ดีของวงการนี้ ถึงในเกมจะต้องต่อสู้ระหว่างทีมด้วยเกม แต่หลังบ้านเขาทำงานกันอย่างน่ารักมาก เราใช้ความจริงใจและบอกจุดประสงค์ชัดเจนว่าผู้พูดและผู้ฟังจะได้อะไรจากสิ่งนี้”

“พอเราเอาไอเดียการแชร์ความรู้ไปนำเสนอให้กับ speaker เขาก็มา ถึงจะเป็น session เล็ก ๆ แต่อย่างน้อยการรวมคนจำนวนนึงได้เหมือนความ exclusive ให้กับคนเหล่านั้นด้วยว่า มันมีไอเดียแบบนี้ด้วย นำความคิดไปต่อยอดได้อีก”

การทำ ATHRON ต้องเจอความท้าทายอะไรบ้าง? 

1. ความใหม่ที่ทีมได้รีเสิร์ชมาคือ ยังไม่ค่อยมีคนนำเสนออีสปอร์ตในมุมนี้เท่าไหร่ให้คนที่เกี่ยวข้องได้ทราบ เวลานำเสนอ คนอื่น ๆ จะนึกภาพไม่ค่อยออก แต่ด้วยวิธีการสื่อสารของเรา มันก็ทำให้ speaker หรือผู้ใหญ่ในวงการเห็นภาพได้มากขึ้นในภายหลัง 

2. บาง session คนสนใจไม่เยอะ เพราะมันมีความ “เฉพาะกลุ่ม” สิ่งที่เสียดายคืออยากให้คนมาฟังเยอะ ๆ เหมือนเราขายอาหารสุขภาพแต่คนไม่ได้ชอบ เพราะกินแล้วไม่อร่อย เราก็ต้องปรับให้แต่ละ session มีคนเข้าฟังมากขึ้น เพราะมันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังในวงกว้าง 

โดย session เป็นเหมือนห้องเรียนที่เปิดให้ทุกคนเข้าฟังได้ พวกเราก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าคนจะเยอะหรือน้อย เพราะเราเชื่อว่าในแต่ละ session ที่เราตั้งใจจัดทำขึ้นมานั้น ล้วนเป็นความรู้ และประสบการณ์ที่มีคุณค่า แต่มันต้องใช้ความต่อเนื่อง มันจะใช้เวลาหน่อย เพราะมันไม่ใช่คอนเทนต์ที่สนุกแต่ฟังแล้วมีประโยชน์ เราต้องทำให้คนเข้ามาฟังเยอะขึ้น 

แล้ว ATHRON มีแผนอะไรในอนาคตข้างหน้า?

“ในส่วนของ 101 จะมีการทำต่อทุกสัปดาห์ ช่วงศุกร์หรือเสาร์ ขึ้นอยู่กับว่า Speaker จะสะดวกในวันและเวลาไหน ในปีหน้า (2025) อาจมีอีสปอร์ตแคมป์เล็ก ๆ ที่ทำร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็น Session แบบออฟไลน์ เรายังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจนว่าจะเป็นแบบไหน จัดที่ไหน อยากให้ติดตามข่าวในช่องทางของ ATHRON

“ส่วนโครงการอื่น ๆ จะมีการทำ Membership Benefit ให้กับคนในคอมมูนิตี้ น่าจะทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากสิ่งที่ ATHRON ทำอยู่ด้วย”

สุดท้าย ATHRON มีอะไรอยากฝากคนในวงการอีสปอร์ตบ้าง

“เท่าที่ผมได้แชร์ในหลาย ๆ session มีคนหลายอาชีพทั้ง นักพากย์ เจ้าของทีม ผจก.ทีม นักแข่ง อาจารย์ สิ่งแรกที่อยากบอกคือ ขอส่งกำลังใจให้ทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม เพราะมันยากในการ drive อุตสาหกรรมใหม่นี้ไม่ว่าจะทางตรงหรืออ้อม อยากให้กำลังใจ อยากให้ทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังไม่ได้ผลในตอนนี้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ผลในครั้งต่อไป ผมเชื่อว่าวันนึงมันจะได้ผลเอง เราปลูกต้นไม้คงไม่ได้อยากกินผลในวันนี้เลย ต้องรอเวลาให้มันเติบโตไปก่อนครับ”

“ในฐานะที่ ATHRON เป็น Esports Community เราก็บอกได้ว่าอีสปอร์ตตอนนี้กำลังเติบโตทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดียว ถ้าคนในอุตสาหกรรมสังเกตว่า ทำไมซาอุดีอาระเบีย ถึงเข้าหาเรื่องนี้หนักมาก ทำไมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ถึงอนุญาตให้เกิด โอลิมปิกอีสปอร์ต ขึ้นได้ โลกกำลังหมุนไปข้างหน้า สิ่งที่คนในอุตสาหกรรมกำลังทำอยู่คือถูกต้องแล้ว แต่อาจต้องการมุมมองต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย” 

“สำหรับ ATHRON เราไม่เน้นโตเร็ว แต่จะเน้นโตช้าแต่แข็งแรง เพื่อส่งต่อความรู้ให้ทุกคน คนจากอุตสาหกรรมอื่นอาจจะต้องสังเกตนิดนึงว่าอุตสาหกรรมอนาคตนี้กำลังโตยังไง ขับเคลื่อนด้วยอะไร อาจจะลองมาศึกษาดูในแง่ธุรกิจ ลองดูว่าจะเข้ามาขับเคลื่อนกันอย่างไร ในมุมไหนกันได้บ้าง ทั้งหมดนี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เราทุกคนควรจะให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนครับ”

ทั้งหมดนี้ ก็คือเจตนารมย์ของ คุณเจษ ที่ต้องการจะสร้าง ATHRON ภายใต้คอนเซปต์ “MAKE IT REAL” เพื่อส่งต่อประสบการณ์ ความรู้และข้อคิดจากผู้คนในวงการอีสปอร์ตทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเขาก็คาดหวังว่าชุมชนอีสปอร์ตจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้เกิดขึ้นมาจากทาง ATHRON อย่างเดียวเท่านั้น!

สามารถติดตามข่าวสารและเรื่องราวจากทาง ATHRON ได้ที่

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก: ATHRON, คุณเจษ เจษฎา ด่านปาน