วันที่ 9 ต.ค. 67 สภาผู้แทนราษฎรลงมติท่วมท้น 348 : 0 ไม่เห็นด้วยร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับ สว. และงดออกเสียง 65 เสียง ซึ่งเป็นเสียงของ สส.พรรคภูมิใจไทย ทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนฯ เคยมีมติเป็นเสียงส่วนใหญ่ในประเด็นการออกเสียงลงคะแนน “ประชามติ” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง (เสียงข้างมากชั้นเดียว)

แต่ สว.กลับมีมติเสียงส่วนใหญ่จะเอา “เสียงข้างมากสองชั้น” คือ ผู้มาใช้สิทธิต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และเมื่อมาลงคะแนน ต้องใช้เสียงข้างมากอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้เสียงข้างมากผ่านประชามติไปได้

เมื่อ 2 สภา (สส.-สว.) เห็นต่างกัน ก็ต้องเสียเวลาตั้งกรรมาธิการร่วม 2 ฝ่าย ขึ้นมาพิจารณาหาข้อสรุปใหม่อีกครั้ง และส่งกลับไปใหม่ทั้ง 2 สภา หากสภาใดไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องถูกยุติไว้ 180 วัน หลังจากนั้นสภาผู้แทนฯ จึงสามารถนำร่างดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งได้ และหากได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย

หากไทม์ไลน์เป็นไปตามนี้ จะเกิดความยุ่งยาก เพราะจะไม่ทันการทำประชามติครั้งแรกในวันที่ 2 ก.พ.68 (วันเดียวกับการเลือกตั้งนายกอบจ.) ตามที่วางแผนไว้ ถ้าเป็นเช่นนั้น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีทางทำได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ และสภาผู้แทนฯชุดปัจจุบันอย่างแน่นอน แต่ถ้าทั้ง 2 สภา เห็นชอบร่วมกัน โอกาสทำประชามติครั้งแรกจะยังทันตามไทม์ไลน์เดิม 2 ก.พ. 68

พยัคฆ์น้อย” มีประเด็นฝากไปยัง สว.เสียงส่วนใหญ่ที่จะเอา “เสียงข้างมากสองชั้น” และ 65 สส.พรรคภูมิใจไทย ที่งดออกเสียงเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 67 ต้องคิดกันให้ดี! ว่า

1.การทำประชามติรัฐธรรมนูญ เคยทำกันมา 2 ครั้ง นอกนั้นไม่ได้ทำประชามติกันมาก่อน โดยรัฐธรรมนูญปี 50 และรัฐธรรมนูญปี 60 ให้ใช้เสียงข้างมากเป็นอันผ่านประชามติ

2.ศาลรัฐธรรมนูญ บอกให้ทำประชามติ ถ้ายกร่างฉบับใหม่ โดยไม่ได้กำหนดว่าให้ใช้เสียงข้างมากกี่ชั้น เมื่อไม่ได้กำหนด ก็ต้องดูว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบัน (รธน.ปี60) ตอนทำประชามติใช้หลักเกณฑ์อย่างไรก็ควรทำไปตามนั้น ไม่ควรทำให้ง่ายหรือยากขึ้น! และเป็นที่ชัดเจนว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 60 ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงกี่เปอร์เซ็นต์

3.ถ้ามีการทำประชามติเกิดขึ้นในช่วงอายุรัฐบาลปัจจุบัน และสภาชุดนี้ ประชาชนจะมีสิทธิ มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวาง เป็นบรรยากาศที่สวยงาม และสง่างาม มากกว่าตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 60
ที่อยู่ในช่วงของ “คณะรัฐประหาร” ปกครองบ้านเมืองอย่างแน่นอน!

4.ความสวยงาม ความสง่างาม ในระบอบประชาธิปไตย คือ การเคารพเสียงส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิออกเสียง ไม่ใช่การไปคำนึงถึง หรือการเคารพคนที่นอนหลับทับสิทธิอยู่ที่บ้าน โดยไม่มีเหตุผลอันควร

5.มติของ สว. จะทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออาจถึงขั้น “ตอกตะปู ปิดฝาโลง” แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้อีกเลย!

ถ้า “ประชามติ” ถูกลากยาวไปจากวันที่ 2 ก.พ. 68 ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันในสภาชุดนี้ ทั้ง “สว.” และพรรคการเมืองที่เห็นคล้อยไปกับ สว. ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนนะ!!.

…………………………………….
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…