การเจรจากับนักลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อจีบให้มาลงทุนระดับหมื่นล้านบาท-แสนล้านบาท ไม่ใช่จะเห็นผล หรือได้รับคำตอบภายใน 3 วัน 7 วัน แต่มันต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี จึงจะรู้ผล!

นายกรัฐมนตรีคนก่อน โดนแซะว่า “ทัวร์นอก” บ่อยจัง! ขยัน“โรดโชว์” ต่างประเทศแล้วได้อะไรกลับมาบ้าง? แต่วันนี้ช่วงเวลาทำงานเพียง 11 เดือน ของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มเห็นผล!

ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย.66 นายเศรษฐาได้พบปะกับทีมกูเกิล (Google) เพื่อหารือการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมเอเปค และการเตรียมลงนามเอ็มโอยู โดยทาง Google มีความตั้งใจให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และความต้องการใช้เอไอในหลายภาคส่วน จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล

ช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 ณ นครซานฟรานซิสโก ระหว่างวันที่ 12-17 .. 66 นายเศรษฐาได้หารือกับผู้บริหารบริษัทเอกชนรายใหญ่ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์คลาวด์ 2.กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 3.กลุ่มไมโครชิพอิเล็กทรอนิกส์

โดยกลุ่มบริษัทเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทที่นายเศรษฐาเคยเจอเมื่อครั้งไปประชุมที่นิวยอร์ก (18-24ก.ย.66) หลังจากนั้นทีมการทำงานของนายกฯ-กระทรวงดิจิทัลฯ-บีโอไอ ได้ติดตามบริษัทดังกล่าวเพื่อดูว่ามี “อิมแพค” เรื่องการลงทุนอย่างไร ติดขัดอะไรบ้าง จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปลดล็อกปัญหา แล้วนำไปสู่การเซ็นเอ็มโอยู ร่วมกัน คือ Google และ Microsoft

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 จึงเห็นภาพนาง Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัท Alphabet และ Google เข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการการลงทุนในไทย และความร่วมมือเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

ทั้งนี้ นาง Ruth Porat ได้กล่าวขอบคุณนายกฯ พร้อมทั้งประกาศการลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 35,000 ล้านบาท) ในไทย เพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ และคลาวด์ รีเจียน (Cloud Region) คาดว่าจะช่วยสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 68-72 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาท ภายในปี 72

ส่วน น..แพทองธาร ได้โพสต์ขอบคุณนายกฯ เศรษฐา ที่ทำให้การลงทุนครั้งนี้เกิดขึ้น!

ขณะที่ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บอกว่าหลังจาก Google และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทยอยประกาศแผนการลงทุนในไทย เป็นการตอกย้ำศักยภาพและความพร้อมของไทยในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์เซอร์วิส

ปัจจุบันมียอดส่งเสริมลงทุน 46 โครงการ กว่า 1.6 แสนล้านบาท มาเสริมความแข็งแกร่งในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ช่วยพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ ยกระดับสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์เซอร์วิส คือหัวใจสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น!!.

…………………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…