หมูเด้งฟีเวอร์” นี้ก็ทำให้หลายคนเกิด “ปุจฉา”จาก “ปรากฏการณ์”ที่เกิดขึ้นว่า…กับ “คลิปสัตว์น่ารัก ๆ”ลักษณะนี้ โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ มานี้…

เหตุใดจึง “ง่ายที่ผู้คนจะโดนตก”

โดนตก “ด้วยคลิปแนวน่ารักง่าย ๆ”

ปรากฏการณ์ที่เกิดนี้ “บ่งชี้อะไร??”

เกี่ยวกับ “ข้อสังเกต” หรือกับ “ปุจฉา” ที่หลายคนรู้สึกคาใจสงสัยจาก “ปรากฏการณ์หมูเด้ง” ซึ่งอันที่จริงก็รวม ๆ ไปถึงกรณีมาสคอตหมีสีน้ำตาลชื่อดังอย่าง “น้องหมีเนย” ที่ก็โด่งดังไม่เฉพาะแค่ในไทย แต่ “คนจีนก็โดนตก” เช่นกันหรือก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสเช่นกันกับ “บ่าวโทนี่” น้องแมวส้มประจำสถานบันเทิง ที่หลังมี “คลิปน่ารัก ๆ” ก็ทำให้หลายคนหลงรักน้องแมวตัวนี้เช่นกัน โดยจากปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ เรื่องนี้ในแง่มุม “จิตวิทยา” นั้นก็มี“วิสัชนา”ที่น่าพิจารณา…

ทั้งนี้ “วิสัชนา” จากกรณีดังกล่าว เรื่องนี้ทาง ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ หรือ “หมอแนต” โฆษกกรมสุขภาพจิต และจิตแพทย์ชื่อดัง ก็ได้วิเคราะห์และสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้…อาจจะเข้าข่ายกับปรากฏการณ์รูปแบบหนึ่งที่ในทางจิตวิทยาสังคมมีการเรียกชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า… “cute aggression” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า… “ปรากฏการณ์มันเขี้ยว”ที่เกิดขึ้นได้กับคนที่มีความรู้สึกร่วมมาก ๆ หลังได้ “ดูภาพ-ชมคลิป” ที่ออก “แนวน่ารัก ๆ” เช่น คลิปหมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระตัวน้อย …ซึ่งในทางจิตวิทยาก็สนใจปรากฏการณ์นี้ โดยเฉพาะในด้าน“ปรากฏการณ์ทางสังคม”

ทาง หมอแนต-ดร.นพ.วรตม์ ระบุกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ต่อไปว่า… ตอนแรกที่เริ่มสังเกตเห็นกระแสนี้ ก็คิดว่าคงจะมีกระแสฟีเวอร์หมูเด้งเกิดขึ้นเฉพาะที่ไทยหรือกับคนไทยเท่านั้น ซึ่งหลังเป็นกระแสดังไปทั่วโลก ก็ยิ่งทำให้ “ปรากฏการณ์” นี้น่าสนใจในแง่อารมณ์ของคนในสังคม และไม่เฉพาะแค่ “สัตว์จริง” แม้แต่ “สัตว์จำลอง” กึ่ง ๆ แนวการ์ตูน อย่างมาสคอตหมีสีน้ำตลาลชื่อ “หมีเนย” ก็โด่งดังและได้รับความนิยมจนเกิดกระแสฟีเวอร์ไม่แพ้กัน ทั้งในคนไทย ทั้งในต่างประเทศ ทั้งนี้ ย้อนกลับมาที่กรณี “ลูกฮิปโปแคระ”อย่าง “หมูเด้ง” กรณีนี้ที่น่าสนใจก็คือ…อะไรเป็นปัจจัยทำให้คนมองสัตว์ชนิดนี้น่ารัก??…

ส่วนตัวไม่เคยคิดมาก่อนว่าฮิปโปเป็นสัตว์น่ารัก เพราะมีภาพจำว่าฮิปโปเป็นสัตว์ที่ดุร้าย และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริง ๆ ฮิปโปเป็นสัตว์ที่มี 2 สายพันธุ์ แต่พอมีกระแสหมูเด้ง จึงทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น แถมช่วยล้างภาพจำเก่า ๆ เกี่ยวกับฮิปโป ซึ่งตรงนี้เป็นอิทธิพลความน่ารักของหมูเด้ง”…หมอแนตพูดถึงอิทธิพลที่เกิดขึ้น

อิทธิพลคลิปหมูเด้ง” เป็น “ไวรัลฮิต”

และยัง “ส่งอิทธิพลมากกว่าแค่ไวรัล”

ทั้งนี้ อิทธิพลที่เกิดขึ้นจาก “ความน่ารัก” ของ “ลูกฮิปโปตัวน้อย” นี่เอง ที่ทำให้ “ลบภาพเชิงลบ” ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยเคยมีต่อสัตว์ตัวใหญ่อย่าง “ฮิปโปโปเตมัส” ที่หลายคนอาจจะ “มีภาพจำว่าดุร้าย” แต่พอได้เห็นความน่ารักของลูกฮิปโป ที่เป็น “ภาพตรงกันข้าม” กับภาพจำเก่า ๆ ก็เลยทำให้ “คนถูกตก”ได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อเกิด “ความรู้สึกดีมีความสุข” ก็เลยส่งผลทำให้คน “อยากจะดูภาพซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ” ทำให้หมูเด้งจึงเป็นที่สนใจ จนมีคนคอยติดตามเพื่อรอคอยที่จะชมความน่ารัก ความขี้เล่น และซุกซน ของลูกฮิปโปแคระตัวนี้ และที่สำคัญ นอกจากจะประทับใจความน่ารักแล้วยัง “มีความรู้สึกร่วม” กับเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น สังคมจึง “พยายามที่จะหล่อเลี้ยงกระแส” เพราะสังคม “ไม่ต้องการให้กระแสหมูเด้งหายไป”

กับการที่สังคม “ฟีเวอร์หมูเด้ง” จน “หล่อเลี้ยงกระแส” นั้น จิตแพทย์คนเดิมอธิบายว่า… ภาวะเช่นนี้มักเกิดขึ้นเมื่อ สังคมมีความรู้สึกร่วมกัน”กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงพยายามทำให้กระแสไม่หายไป อย่างกรณีหมูเด้งนั้น ก็มีการนำภาพและคลิปไปดัดแปลง เช่น ทำเป็นมีม ภาพกราฟิก ภาพการ์ตูน เพื่อให้กระแสหมูเด้งไม่หล่นหายไปจากความสนใจ ซึ่งนอกจากเป็นการหล่อเลี้ยงกระแสแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เพราะ “สังคมต้องการคลายเครียด”ด้วย…จึง “มองหาภาพตัวแทนของความสุข”

หมอแนตดร.นพ.วรตม์ ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า… การที่ระยะหลังมานี้คนไทย หรือแม้แต่คนทั่วโลก มัก “โดนตกจากคลิปแนวน่ารัก” โดยเฉพาะคลิปสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่แสดงอากัปกิริยาหรือพฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกขบขัน กรณีนี้ก็อาจเป็นเพราะ สภาพสังคม บรรยากาศปัจจุบัน ทำให้ผู้คนเกิดความเครียด-ไม่มีความสุข ดังนั้นเมื่อมีสิ่งที่ดูแล้วทำให้หายเครียด ทำให้ยิ้มออก คนจึงให้ความสนใจ และอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะจากกรณีของหมูเด้งซึ่งเป็นลูกฮิปโป ที่เป็นสัตว์ที่คนไม่ค่อยได้เห็นพฤติกรรม หากเทียบกับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข และแมว เมื่อมีภาพน่ารัก ๆ ก็จึงรู้สึกแปลกใหม่ ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ “โดนตก”ได้ง่าย

การได้ดูอะไรน่ารัก ๆ เป็นการผ่อนคลาย ไม่เป็นอันตราย สิ่งสำคัญคือ เราจะใช้กระแสนี้ช่วยประเทศไทยได้ยังไง นี่คือจุดสำคัญ เพราะถ้าเราช่วยโปรโมท จะมีประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลดีเพิ่มขึ้น มากกว่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือคลายเครียดให้คนในสังคม” …เป็น “ข้อเสนอ” จากทาง ดร.นพ.วรตม์

จาก “ฟีเวอร์” ที่เกิดจาก “ความน่ารัก”

หมีเนยแมวส้ม” มาจนถึง “หมูเด้ง”

นี่ “อาจให้อะไรที่ดียิ่งกว่ามันเขี้ยว”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์