กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการซื้อขายรถมือสอง

เมื่อบริษัทฯ ขายรถยนต์ให้แก่ลูกค้า แล้วลูกค้าไปดำเนินการจัดไฟแนนซ์กับสถาบันการเงิน เช่นนี้ถือว่า บริษัทฯ ได้ขายรถยนต์ให้แก่สถาบันการเงินทั้งคัน บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่สถาบันการเงินเต็มตามมูลค่ารถยนต์ที่ตกลงราคาขายให้ไว้แก่ลูกค้า ตามข้อ 5 (4) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.36/2536ฯ ดังนี้  

“ข้อ 5 ในกรณีผู้ซื้อได้ชำระเงินล่วงหน้าจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ขายก่อนทำ การตกลงว่าจะซื้อขายสินค้าในลักษณะซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือซื้อขายตามสัญญาให้เช่าซื้อ

(4) ในกรณีผู้ซื้อได้ตกลงว่าจะซื้อขายสินค้าในลักษณะให้เช่าซื้อภายหลังจากที่ได้มีการชำระเงินล่วงหน้าจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ขาย โดยเงินชำระล่วงหน้าเป็นการชำระไว้ตาม (2) ถือว่าผู้ขายได้ขายสินค้าที่ผู้ซื้อได้ชำระราคาล่วงหน้าไว้แล้ว
ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมูลค่าทั้งหมดของสินค้ารวมทั้งส่วนที่ได้มีการชำระล่วงหน้าด้วย และผู้ให้เช่าซื้อได้ขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อให้แก่ผู้เช่าซื้อตามมูลค่าทั้งหมดของสินค้ารวมทั้งราคาสินค้าชำระล่วงหน้า ให้ผู้ขายสินค้าและผู้ให้เช่าซื้อปฏิบัติดังต่อไปนี้

(ก) ผู้ขายสินค้าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าทั้งหมดของสินค้ารวมทั้งราคาสินค้าชำระล่วงหน้า และต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 78 (1) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

(ข) ผู้ให้เช่าซื้อต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าทั้งหมดของสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อรวมทั้งราคาสินค้าชำระล่วงหน้า และต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้เช่าซื้อ ตามมาตรา 78 (2) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

(ค) ในกรณีที่ผู้ขายได้รับชำระราคาสินค้าล่วงหน้าจำนวนหนึ่งจากผู้ซื้อ และผู้ขายได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อแล้วตามมาตรา 78 (1) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้ขายได้ออกใบกำกับภาษีขายสินค้าดังกล่าวให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตาม (ก) แล้ว ให้ผู้ขายออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ซื้อ ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร”

และกรณีบริษัทฯ ขายผ่านนายหน้า ขายให้นายหน้า 20 ล้านบาท แต่นายหน้าไปขายต่อ 21 ล้านบาท นายหน้าได้กำไร 1 ล้านบาท เช่นนี้ บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีขายให้แก่ลูกค้าเต็มจำนวน 21 ล้านบาท แล้วจ่ายค่านายหน้าให้แก่นายหน้าตัวแทนจำนวน 1 ล้านบาท.