ทั้งนี้ ยุคออนไลน์อย่างในปัจจุบันการ “ปลอมแปลง” เพื่อหวังประโยชน์ รวมถึง “หลอกลวงต้มตุ๋น” หวังเอาทรัพย์นั้น นับวันผู้ไม่ประสงค์ดีจะมีการ “ใช้ช่องทางออนไลน์” แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ และ “ต้องกลัว!!” ไม่เช่นนั้นอาจถูกหลอกได้ง่าย ๆ อาจประสบปัญหาหรือเสียทรัพย์ได้ในพริบตา!!

ยุคออนไลน์” นี่ “เอื้อการปลอม”

เอื้อการเฟค” จนยิ่ง “แพร่หลาย”

และขอย้ำ “เฟควิธีเดิม ๆ ยังร้าย!!”

การ “ปลอม” หวังประโยชน์ หรือ “ต้มตุ๋น” หวังทรัพย์ โดยใช้ “ออนไลน์” เป็นช่องทางนั้น ถ้าเป็นกรณีที่มีการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อให้ดูแนบเนียนมากขึ้น มีศัพท์เรียกว่า “ดีพเฟค (Deepfake)” ส่วนถ้าใช้เทคนิคเดิม ๆ มีศัพท์เรียกว่า “ชีพเฟค (Cheapfake)” หรืออีกคำคือ “แชลโลว์เฟค (Shallowfake)” ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนต่อข้อมูลเน้นย้ำ-ร่วมย้ำเตือนไว้อีกครั้ง โดยเรื่องนี้ทาง โครงการโคแฟค ประเทศไทย ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัยคนไทยไว้ผ่านบทความ “AI-DEEPFAKE เทคโนโลยีซับซ้อนปลอมเนียนน่ากังวล แต่อย่าประมาท CHEAPFAKE ทริกง่าย ๆ ที่ก็ยังหลงเชื่อกันได้”

กับการเตือนถึงกรณีปัญหาหรือภัยที่มีคำว่า “เฟค (Fake)” หรือ “ปลอม” รวมอยู่ด้วยนั้น หลักใหญ่ใจความคือมีการเตือนคนไทยว่า “เลิกประมาทไม่ได้กับเล่ห์เก่า ๆ” ที่เหล่ามิจฉาชีพยังนิยมใช้ “ลวงตุ๋น” ผ่านทางระบบออนไลน์ซึ่งแม้ตอนนี้จะกังวลกันมากกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวโยง AI” หรือ “ดีพเฟค” ที่การแพร่ข่าวลวง การบิดเบือน การปลอมแปลง จะทำได้แนบเนียนมากขึ้น จับผิดได้ยากมากขึ้น แต่กระนั้นผู้จะทำก็ต้องเข้าใจเรื่องของ AI และ Machine learning พอสมควร ในขณะที่การทำเรื่องไม่ดีแบบนี้ เทคนิคเดิม ๆ สามารถทำได้ง่ายกว่า และที่สำคัญก็ยังสามารถที่จะทำให้ผู้คนหลงเชื่อได้

ทาง โครงการโคแฟค ประเทศไทย ได้เตือนไว้ผ่านทางบทความ “AI-DEEPFAKE เทคโนโลยีซับซ้อนปลอมเนียนน่ากังวล แต่อย่าประมาท CHEAPFAKE ทริกง่าย ๆ ที่ก็ยังหลงเชื่อกันได้” โดยระบุเน้นไว้ว่า… แม้เวลานี้ “ดีพเฟค” ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกทรัพย์สินจากเหยื่อ แต่กับทริคเดิม ๆ อย่าง “ชีพเฟค” นั้นพวกมิจฉาชีพก็ยังคงใช้ได้ผลอยู่…

กลัวดีพเฟคก็ “ยังต้องกลัวชีพเฟค”

เพราะแม้จะแบบเดิม ๆ ก็ “ยังตุ๋นได้”

ทั้งนี้ ย้อนโฟกัสว่า “อะไรคือชีพเฟค?”… ในบทความดังกล่าวได้อ้างอิงคำอธิบายโดยบริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลของเกาหลีใต้ คือ Samsung SDS ที่ได้อธิบายไว้ว่า… ชีพเฟค” หรืออีกคำคือ “แชลโลว์เฟค” หากแปลแบบตรงตัวก็จะหมายถึง “การหลอกลวงหรือบิดเบือนข้อมูลด้วยวิธีการแบบง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อน” ซึ่งที่ว่าไม่ซับซ้อนนั้นก็เนื่องจากแม้ชีพเฟคอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีช่วยบ้าง แต่ก็ไม่จำเป็นถึงขั้นที่จะต้องใช้ความรู้ชั้นสูง โดย วิธีการทำชีพเฟคที่พบได้บ่อย ๆ ก็อย่างเช่น แต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop หรือตัดต่อวิดีโอด้วยการเร่งหรือลดความเร็ว เป็นต้น

กับ “กลลวงชีพเฟค” นี้ สำหรับในประเทศไทย ที่คนไทยน่าจะเคยผ่านตาบ่อย ๆ ก็คงจะเป็นกรณีอย่างการ “นำภาพเก่ามาเล่าใหม่”โดยการ “ตั้งใจเล่าให้ผิดไปจากบริบทของเดิม” ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็น “ข่าวปลอมข่าวเท็จ”

และนอกจากนั้น “เทคนิคชีพเฟค” ที่ก็เคยพบบ่อย ๆ ซึ่งพวกมิจฉาชีพมักจะนำมาใช้เป็น “กลยุทธ์หลอกตุ๋นเหยื่อ” โดยเฉพาะที่เป็นคนใจดี-คนใจบุญ ชอบบริจาคเงินช่วยเหลือ-ชอบสร้างกุศล ด้วยการ โอนเงินบริจาค นั่นก็คือ… การ “นำภาพเก่าหรือภาพของคนอื่นมาโพสต์”เพื่อ“หลอกลวงขอรับเงินบริจาค” ซึ่งการหลอกลวงแบบนี้ก็ยังมีปรากฏอยู่บ่อย ๆ

…นี่เป็นตัวอย่าง “รูปแบบชีพเฟคที่พบบ่อยในประเทศไทย” และในบทความ “เตือนคนไทย” ไว้โดย โคแฟค ประเทศไทย ก็ยังเตือนไว้อีกโดยได้มีการระบุถึงอีกหนึ่งเทคนิค “ชีพเฟค” ที่ก็พบได้บ่อยไม่แพ้ 2 ตัวอย่างข้างต้น คือ… นอกจาก “ใช้ภาพหลอก” ก็ยังมีการ “ใช้ข่าวเก่าแบบลอกมาทั้งหมด แต่เปลี่ยนชื่อบัญชีธนาคารผู้รับบริจาค” โดยการหลอกลวงต้มตุ๋นแบบนี้ก็ยังทำให้คนใจดี-คนใจบุญหลงเชื่อตกเป็น “เหยื่อ” ได้อยู่ …ซึ่งก็เป็น “เล่ห์ลวง” อีกแบบที่เคยฮิตและก็ยังต้องระวังให้ดี ๆ

รวมถึงแบบที่ “หลอกขายอะไรปลอม ๆ ที่ทำด้วยโปรแกรม Photoshop”ที่ไม่ต้องเชี่ยวชาญ AI ก็สามารถทำได้ อย่างเช่น…ป้ายทะเบียนปลอม ที่ใช้เวลาทำแค่ไม่กี่นาที ใช้ทุนไม่กี่บาท แต่เอามาใช้หลอกขายได้เป็นหลักพัน โดยย้อนไปเมื่อปีที่แล้วทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เคยมีการจับกุมผู้ที่เปิดเฟซบุ๊กขายป้ายทะเบียนปลอม …ซึ่งก็บ่งชี้ว่าแบบนี้ก็ต้องระวังเช่นกัน

มาถึงบรรทัดนี้ สรุปย้ำก็คือ… แม้ AI จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการนำมาใช้ในทางที่ผิด ใช้เพื่อการทำผิด-หลอกลวงต้มตุ๋น ซึ่งก็แน่นอนว่ายิ่งจำเป็นต้องระวังความแนบเนียน แต่ถึงกระนั้นทาง โคแฟค ประเทศไทย ก็เตือนย้ำไว้ว่า…ต้องไม่ลืม”อันตรายของ“ชีพเฟค” เนื่องเพราะ รูปแบบง่าย ๆ หรือกลเม็ดง่าย ๆ มีโอกาสเจอได้บ่อย ๆ จากการทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้ความรู้ซับซ้อน…ซึ่งหลักในการ “ป้องกันภัยเฟค” ไม่ว่าจะแบบใด ก็คือ“ตั้งสติก่อนจะเชื่อเช็กให้ชัวร์ ๆ ก่อน”

จะเฟคเทคนิคใหม่หรือเก่าก็คือ “เฟค”

ช่องทางออนไลน์” กระพือเฟคได้ง่าย

ระวัง!!…“เฟคตุ๋นออนไลน์มีเกลื่อน!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์