ปีนี้แม้จะเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นหย่อม ๆ บางจังหวัด หมุนเวียนกันไปตั้งแต่ จ.น่าน แพร่ สุโขทัย เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา หนองคาย เป็นน้ำป่าที่มาเร็ว ไหลเชี่ยวแรง ท่วมแค่ 2-3 วันแล้วน้ำก็ลง แต่ทิ้งสภาพความเสียหาย
ต่อทรัพย์สินของประชาชน และความเสียหายทางเศรษฐกิจเอาไว้

แต่ฤดูฝนร่องมรสุมเทศกาลพายุและไต้ฝุ่น กว่าจะเบาบางลงไปก็ปลายเดือน ต.. นั่นแหละ! ดังนั้น น..แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลน และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม

โดยมีนายกฯ-รองนายกฯ-รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง-ปลัดกระทรวง-อธิบดี-ตำรวจ-ทหาร เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่ออํานวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมพร้อม ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ การป้องกัน การช่วยเหลือเยียวยา และการฟื้นฟูบูรณะ

ปัจจุบันเมื่อเกิดน้ำท่วม-ภัยแล้งขึ้นมา หลาย ๆ คนถามว่าทำไม? รัฐบาลไม่มีการวางแผนรับมือล่วงหน้าในระยะยาว ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาซ้ำ ๆ ซาก ๆ มีความสูญเสีย ต้องตามแก้ปัญหากันภายหลังทุกปี

อันที่จริงประเทศไทยเคยทำแผนไว้รับปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงคิดทำโครงการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำปลายน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท

โดยเชิญนักวิชาการสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ และฝ่ายการเมือง มาระดมสมองออกมาเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 10 โมดูล บางคนก็นับเหลือ 9 โมดูล เพราะบางโมดูลเป็นระบบคลังข้อมูลจึงถูกนำมาไว้รวมกัน

สำหรับ 10 โมดูลที่ว่านั้น เช่น 1.สร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ

2.ปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทาน ในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ และเหนือ จ.พระนครศรี อยุธยา เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว 3.จัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) ทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที

4.จัดทำผังการใช้ที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ 5.ปรับปรุงระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยรวมทั้งการบริหารจัดการน้ำกรณีต่าง ๆ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

สรุปว่าประเทศไทยเคยระดมสมองทำแผน “บริหารจัดการน้ำ” เอาไว้ชุดใหญ่! หลังน้ำท่วมปี 54 ใช้งบ 3.5 แสนล้านบาท เป็นเงินที่มากสำหรับตอนนั้น แต่ยังไม่ทันทำก็มี “รัฐประหาร” เสียก่อน! และช่วง 9 ปีหลังการรัฐประหาร รัฐบาลหมดเงินไปกับการตามแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง ไปมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท

เมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลเที่ยวนี้ จึงควรปัดฝุ่นเอาบาง “โมดูล” ที่ยังมีความเหมาะสม หรืออาจจะต้องแก้ไขปรับปรุงอีกเล็กน้อย ขึ้นมาทำ! พร้อมกับการรวบรวมหน่วยงานที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาตั้งเป็น “กระทรวงน้ำ” เพื่อเป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการน้ำ (น้ำท่วม-ภัยแล้ง) อย่างเป็นระบบและยั่งยืนเสียที!!.

…………………………………..
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…