ตอนแรก ๆ กลัวมาก จนไม่กล้าเข้าใกล้ แต่พอได้เข้าไปจับ ได้เข้าไปสัมผัส กลับรู้สึกหลงรัก และกลายเป็นความผูกพันขึ้นมาทีละนิด ๆ” สาวยูทูบเบอร์คนดัง เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก“มดคนรักควาย” ที่ชื่อ “มด-รัตนา สิงห์นาม” บอกถึงความรู้สึกเธอในช่วงก่อนที่จะ “หลงรัก” สัตว์ตัวใหญ่ที่มีวิถีผูกพันกับคนไทยมาแต่อดีต อย่าง “ควาย” โดยหลังจากเธอได้ตกหลุมรักเจ้าสัตว์ตัวใหญ่นี้แล้ว เธอก็ยังนำเรื่องราวความน่ารักระหว่างเธอและควายมาบอกเล่าผ่านช่องทางโซเชียล จนทำให้ผู้ที่เข้ามาติดตามชมต่างก็ตกหลุมรักเจ้าสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปพูดคุยกับเธอถึงเส้นทางความเป็นมา…

“กัลยา” กับ “มด” กับมุมเซลฟี่

“ควายที่เราเลี้ยงตัวแรก ตอนแรกได้แค่ผูกไว้ในคอก ไม่กล้าจูงเขาออกมาเดิน ขนาดตอนให้อาหารยังใช้วิธีโยนหญ้าเข้าไปในคอกให้เขากินเองเลย แต่พออยู่ด้วยกัน พอปรับตัวเข้ากันได้ กลายเป็นเราผูกพันและหลงรักเขามากขึ้น เดี๋ยวนี้ทั้งกอดทั้งหอมก็ทำได้สบายมาก” สาวผู้หลงรักควาย “มด-รัตนา” บอกเล่าเรื่องนี้ พร้อมกับเล่าประวัติของตัวเธอเองให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เกิดและเติบโตที่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ แต่มาเลี้ยงควายอยู่ที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ โดยครอบครัวมีอาชีพเกษตรกร ทำไร่มันสำปะหลังและอ้อยเป็นหลัก ซึ่งเธอเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวที่มีลูก ๆ รวม 4 คน ทั้งนี้ ชีวิตวัยเด็กนั้นเธอบอกว่าก็ค่อนข้างลำบาก ด้วยความที่พ่อกับแม่มีปัญหากัน ทำให้เธอต้องไปอาศัยอยู่กับยายตั้งแต่เด็ก ๆ และถ้าอยากได้อะไร อยากกินอะไร เธอก็ต้องหาเงินซื้อเอง ทำให้ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เธอจะไปทำงานรับจ้างเก็บพริกเพื่อหาเงิน

มดบอกว่า หลังจบ ม.6 โรงเรียนในตำบล ก็อยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะฝันอยากเป็นครูสอนวิชาชีววิทยา เพราะเธอมีครูชีววิทยาเป็นไอดอลมาตั้งแต่เด็ก เธอจึงเลือกสอบที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และก็สอบติดคณะครุศาสตร์ได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่มาติดอุปสรรคคือ ไม่รู้จะหาเงินจากไหนเพื่อไปเรียน เพราะยายเธอก็อายุมากแล้ว และไม่มีเงินส่งเธอเรียน

ตอนที่รู้ว่าสอบติดคณะที่ฝันไว้ ตอนนั้นมีความสุขมาก แต่พอกลับมาบอกที่บ้าน ก็ได้คำตอบว่าแล้วใครจะส่งเสีย สุดท้ายจึงไม่ได้เรียนตามที่ฝัน ตอนนั้นน้อยใจและเสียใจมาก แต่ก็ได้พี่สาวที่ทำงานอยู่ที่กระบี่ ที่เห็นความตั้งใจของเราที่อยากเรียน ก็เลยให้เราลงไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ภูเก็ต โดยเรียนช่วงวันเสาร์อาทิตย์ โดยพี่สาวจะส่งเรียนในช่วงแรกก่อน และเราก็ต้องทำงานหาเงินเรียนเองด้วย แต่มหาวิทยาลัยที่จะไปเรียน เขาไม่มีคณะครุศาสตร์ พี่เขาก็เลยลงให้เรียนสาขาพัฒนาชุมชน ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่าขอแค่ได้เรียน จะเรียนสาขาอะไรก็ได้ พอรู้ว่าได้เรียนแล้ว เราก็เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า และให้ญาติไปส่งขึ้นรถ บขส. เพื่อไปหาพี่สาวที่กระบี่ด้วยตัวคนเดียว”มดเล่า

กับ “ขวัญแก้ว” ควายอีกตัวที่เลี้ยง

อย่างไรก็ตาม แต่แล้วชีวิตก็พบกับจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ทำให้ต้องออกเดินทางอีกหน โดยช่วงที่เรียนอยู่ปี 2 เธอต้องกลับบ้าน เพราะยายเสีย หลังเสร็จงานศพยาย เมื่อถึงกำหนดจะต้องกลับไปเรียน เธอถูกรถชนจนขาหักเสียก่อน ทำให้ไม่ได้ไปสอบ และต้องรักษาตัวอยู่ที่ชัยภูมินานถึง 6 เดือน พอกลับไปเรียน กลายเป็นว่าต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ จึงตัดสินใจโอนย้ายหน่วยกิตมาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมาพักอยู่กับเพื่อน และก็ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย โดยเธอใช้เวลาเรียน 2 ปีครึ่ง ก็เรียนจบได้รับปริญญาสำเร็จ แล้วหลังจากเรียนจบ แฟนที่คบกันตั้งแต่สมัยเรียน ก็ฝากเธอทำงานที่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง จากนั้นเธอและแฟนก็ช่วยกันทำงานเพื่อเก็บเงิน จนพอมีเงินก้อนหนึ่ง กับพอมีประสบการณ์ ก็ออกมารับเหมาก่อสร้างกันเอง ทำให้ช่วงนั้นเริ่มมีเงินมากขึ้น แต่เงินที่หามาได้จะหมดไปกับการใช้ชีวิตและเดินทางท่องเที่ยว จนพี่สาวเตือนว่า ควรนำเงินไปซื้อที่ดินเก็บไว้ เพราะมีคนจะขายที่ขนาด 2 งาน โดยที่ผืนนั้นราคาประมาณ 200,000 บาท

ตอนนั้นมีเงิน แต่ไม่คิดจะซื้ออะไร เพราะเงินที่มีหมดไปกับการเที่ยว พี่สาวก็มาเตือนสติให้ซื้อที่ดินทิ้งไว้ดีกว่า ก็เลยตัดสินใจจะเอาเงินไปซื้อที่ดิน แล้วพอได้ไปเห็นที่ดินก็กลายเป็นว่าเราไม่อยากไปเที่ยวไหนแล้ว อยากจะสร้างบ้านตรงที่ดินผืนนั้นที่ซื้อไว้ และเริ่มรู้สึกอยากแต่งงาน เราก็ปรึกษาแฟนและกลับมาสร้างบ้าน แต่หลังจากทำบ้านไปได้ 1 ปีครึ่ง เราก็เกิดปัญหากับแฟน จนทำให้ต้องเลิกราแยกย้ายกันไป” สาวสวยคนรักควายเล่าย้อนชีวิต

“กัลยา” ตัวตึงประจำฟาร์ม

ก่อนจะเล่าต่อไปว่า หลังเลิกกับแฟน ก็ทำงานรับเหมาก่อสร้างที่รับงานไว้ก่อนหน้า แต่ด้วยความที่เธอเองไม่มีความรู้เท่าไหร่จึงเกิดข้อผิดพลาด ทำให้เงินเก็บหมด จึงต้องเริ่มต้นใหม่ โดยผันตัวกลับไปเป็นพนักงานบริษัทอีกครั้ง แต่ทำอยู่ 3 ปี ก็ตัดสินใจออกมาประมูลร้านขายอาหารในโรงเรียนแถวบ้าน เพราะเธออยากอยู่ใกล้ ๆ บ้าน เพื่อให้มีเวลาชีวิตมากขึ้น โดยเธอบอกว่าช่วงที่ปลูกบ้าน เธออยากปลูกต้นอินทผาลัมมาก จึงเพาะต้นเอาไว้เยอะมาก แต่พอต้องไปทำงานบริษัท ทำให้ไม่มีเวลาดูแลต้นอินทผาลัมที่ปลูก จนเมื่อเปลี่ยนมาขายอาหารที่โรงเรียน ทำให้มีเวลากลับไปดูแลและได้เริ่มปลูกต้นอินทผาลัมอีกครั้ง

มดเล่าอีกว่า ช่วงที่กลับมาอยู่บ้าน เธอมีแฟนใหม่ แฟนคนปัจจุบัน โดยแฟนเธอมีอาชีพเป็นช่างรับเหมาติดตั้งประปา เธอจึงลงทุนทำธุรกิจกับแฟนอีกครั้ง แต่แล้วก็ไปไม่รอด อีกทั้งเป็นช่วงที่เกิดโควิด-19 พอดี เธอจึงตัดสินใจอพยพกลับมาอยู่บ้านอีก จากนั้นแม่ของแฟนก็ยกที่ดินซึ่งอยู่ที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ให้เธอกับแฟน 1 แปลง เธอก็มาคิดกับแฟนว่าจะทำอะไรดี สุดท้ายก็ตัดสินใจปลูกผักชีขาย แต่ด้วยไม่มีความรู้ ไม่มีพื้นฐานการปลูกผักสวนครัวมาก่อน สุดท้ายก็ไปไม่รอด ทำให้ต้องกลับไปหางาน ต้องไปสมัครงานอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เธอได้งานทำแบบ work from home ทำให้ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

“กัลยา” คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับตำบล

ส่วน “จุดเริ่มต้น” การมาเป็น “สาวเลี้ยงควาย” นั้น มดเล่าว่า เริ่มจากแฟนเธอเห็นคอกควายของพี่ที่อยู่ถัดจากบ้าน และเห็นว่าธุรกิจขายควายทำเงินได้เยอะ แฟนจึงชวนเธอให้มาเลี้ยงควายด้วยกัน แต่ตอนนั้นเธอยังกลัวควาย และก็ไม่อยากเลี้ยง เพราะสมัยก่อนบ้านยายเธอก็เลี้ยงควาย ซึ่งเธอรู้สึกว่าการเลี้ยงควายนั้นสกปรกและเหม็น จึงไม่อยากเลี้ยงตามที่แฟนชวน แต่แฟนเธอยืนยันจะเลี้ยง เธอก็เลยต้องตามใจ แต่ก็บอกกับแฟนว่า ถ้าจะเลี้ยงก็เลี้ยงคนเดียว เธอจะไม่ช่วยเลี้ยง แต่จะขอทำงานอย่างเดียว แล้วพี่ที่เลี้ยงควายคนนั้นก็ชวนเธอกับแฟนให้ลองไปเดินที่ตลาดนัดควายที่ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ไปดูก่อนว่าเขาซื้อขายควายกันยังไง เธอกับแฟนก็จึงไปตามคำชวนนั้น โดยมดบอกว่า ตอนที่เดินตลาดควาย เดินไปก็กลัวไป อีกทั้งไม่รู้ว่าควายที่สวย ๆ เขาดูยังไง แต่ก็มีควายตัวหนึ่ง เห็นแล้วชอบและถูกชะตา ซึ่งก็ไม่ได้คิดจะซื้อ แต่กลายเป็นว่าพี่คนที่ชวนไปได้ซื้อควายตัวนั้นในราคา 120,000 บาท แล้วก็ถ่ายรูปควายและโพสต์ขายในราคา 130,000 บาท แต่ก็บอกกับเธอและแฟนว่า ถ้าอยากได้ พี่เขาจะยอมขายให้ในราคาทุน ซึ่งแฟนอยากได้ แต่มีเงินติดตัวแค่ 70,000 บาท ก็เลยบอกพี่เขาไปตรง ๆ ว่ามีเงินแค่นี้ ขอติดไว้ก่อน แล้วอีก 2 อาทิตย์จะนำที่เหลือมาจ่าย พี่เขาก็ใจดียอมขายให้ ทำให้เธอและแฟนจึงมีควายตัวแรกในที่สุด

ควายตัวนั้นเราตั้งชื่อให้ว่าแม่มะลิ โดยตอนนั้นเขาท้อง 4 เดือนอยู่ ซึ่งแรก ๆ ที่เอาแม่มะลิมาเลี้ยง ยอมรับเลยว่า เราทั้งคู่ไม่กล้าเข้าใกล้ ไม่มีใครกล้าจูง ได้แต่ผูกไว้ในคอก โดยใช้เวลาปรับตัวอยู่ 3 อาทิตย์ ก็เริ่มเข้าไปในคอกไปจับไปลูบเขาได้บ้าง จนเขาเริ่มสนิทกับเรา ก็เริ่มเอาหัวมาซบที่ขาเรา พอได้ใกล้ชิดกับเขามาก ๆ จากที่เคยไม่ชอบ จากที่รู้สึกกลัว ก็เริ่มรัก จนกลายเป็นความผูกพัน” เธอบอกเรื่องนี้ ก่อนที่จะเล่าอีกว่า จากควายตัวแรกชื่อ “แม่มะลิ” เธอก็ตัดสินใจซื้อควายตัวที่ 2 โดยตั้งชื่อว่า “ขวัญแก้ว” เพื่อเอามาอยู่เป็นเพื่อนกับแม่มะลิ ทำให้เริ่มอยากจริงจังมากขึ้น ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเลี้ยงควาย และมีแนวคิดว่าจะทำแบบซื้อมาแล้วขายไป

แต่เอาเข้าจริง ๆ กลายเป็นว่า ตอนขายเราไม่อยากขาย ถึงขั้นร้องไห้เลย จึงล้มเลิกการหาเงินจากการเลี้ยงควายไปก่อน แต่หันมาหารายได้จากการขายข้าวทางออนไลน์ และปลูกผักสวนครัวกับอินทผาลัมขายแทน”

ทั้งนี้ มดยังเล่าว่า ต่อมาเมื่อแม่มะลิที่เป็นควายตัวแรกของเธอได้คลอดลูกออกมา เธอก็ได้ตั้งชื่อลูกควายเพศเมียตัวนั้นว่า “น้องกัลยา” ทำให้มีควายเพิ่มมาอีก 1 ตัว ซึ่งน้องกัลยาเกิดได้เพียง 7 วัน ก็มีคนมาขอซื้อในราคาหลักแสน ซึ่งเธอก็ไม่ยอมขาย แต่พ่อของแฟนถูกชะตากับลูกควายตัวนี้มาก จึงขอซื้อเอาไว้ในราคา 50,000 บาท โดยเหมือนพ่อแฟนให้เป็นเงินขวัญถุงมากกว่า เพราะเขาซื้อแล้วก็ให้เธอเลี้ยงต่อ ไม่ได้เอากลับไป ซึ่งน้องกัลยาเป็นควายตัวแรกที่ทำเงินก้อนแรกได้จากการเลี้ยงควาย และยังเป็นจุดเริ่มต้นการกลายมาเป็น “ยูทูบเบอร์เด็กเลี้ยงควาย” อีกด้วย

ช่วงที่น้องกัลยาคลอดออกมา หน้าตาน่ารัก เราก็เลยถ่ายวิดีโอนำไปโพสต์ลงติ๊กตอกเล่น ๆ โดยไม่ได้คิดอะไร เพราะมีแฟนติดตามแค่คนเดียว แต่ไป ๆ มา ๆ เริ่มมีคนติดตามเข้ามาดูน้องมากขึ้น เราก็เลยลองไลฟ์สดแบบไม่ได้พูดอะไรเลย แค่ถ่ายตัวเองตอนจูงน้องควายเดินไปเรื่อย ๆ ทำอยู่แบบนี้ประมาณ 1 อาทิตย์ จนคนที่เข้ามาดูถามว่าเจ้าของช่องไม่อยู่เหรอ ทำไมไม่พูดอะไรเลย เราก็เลยพูดไปว่าเราไม่กล้าพูด และไม่รู้ว่าจะพูดอะไร จนเกิดเป็นการถามคำถามเกี่ยวกับควาย เราก็เลยได้พูดคุยมากขึ้น” เป็นที่มาจุดเริ่มต้นในการทำช่องยูทูบเกี่ยวกับควายของเธอ

มดบอกด้วยว่า พอน้องกัลยาอายุ 2 เดือนกว่า เธอเห็นมงกุฎที่ตลาด รู้สึกสวยดี ก็เลยซื้อมาใส่ให้น้อง แล้วถ่ายคลิปไปลง ปรากฏคนดูชอบมาก เธอก็เริ่มแต่งหน้าให้น้อง จนคลิปที่โพสต์กลายเป็นไวรัลโด่งดัง มีคนเข้ามาดูเป็นหลักล้าน ทำให้เริ่มมีรายได้เข้ามาจากช่องทางนี้ จากนั้นก็เริ่มมีคนติดต่อให้รีวิวสินค้าต่าง ๆ เธอจึงเริ่มจริงจังกับการทำติ๊กตอกมากขึ้น โดยพอมีคนติดตามเยอะขึ้น เธอจึงตัดสินใจเปิด เพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “มดคนรักควาย” และทำช่อง ยูทูบ ชื่อ “บ้านมดคนรักควาย”

ตอนนี้ได้คำตอบแล้วว่า เลี้ยงควายแบบไม่ขายควายก็สามารถอยู่ได้ ซึ่งเรามองว่าควายทำอย่างอื่นได้มากกว่าที่จะเลี้ยงไว้ขาย โดยเราใช้ควายเป็นตัวดึงดูด ที่สามารถสร้างรายได้ให้เราได้ เพราะพอมีคนติดตามเยอะ เราก็ขายสินค้าอื่น ๆ ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรืออินทผาลัมที่ปลูกไว้เอง” มดบอกเรื่องนี้

“มด-รัตนา” ยูทูบเบอร์สาวสวย ที่ได้ฉายา “สาวเลี้ยงควาย” ทิ้งท้ายกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า เป้าหมายต่อจากนี้เธอมีความคิดที่จะทำ “ปุ๋ยขี้ควาย” ให้เป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองซึ่งเมื่อก่อนนำขี้ควายมาตากแห้งแล้วไปใส่ต้นไม้ที่ปลูกไว้ แล้วเกิดเชื้อรา ก็เลยศึกษาหาวิธีทำปุ๋ยหมักขี้ควาย เป็นสูตรที่คิดค้นทดลองหมักเองและปรับสูตรเองจนได้ตามที่ต้องการ ตอนนี้นำปุ๋ยหมักขี้ควายที่ทำไปทดสอบใส่ในแปลงผักกับสวนอินทผาลัม ปรากฎได้ผลดี จึงคิดว่าจะทำผลิตภัณฑ์ขาย เพราะตอนนี้เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น จึงมีความคิดอยากที่จะต่อยอด ด้วยการนำสินค้าตัวเองและของดีในตำบลมาขายผ่านช่องทางออนไลน์…

“ถามว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จหรือยัง? เราเองก็ไม่รู้ แต่ถ้าย้อนกลับไปคิดเหมือนเมื่อก่อนว่า คนเราจะต้องมีเท่าไหร่ถึงจะมีความสุข พอคิดถึงคำถามนี้ เราก็มองว่าตอนนี้การที่เราได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับควายที่เลี้ยง…แค่นี้เราก็…โคตรมีความสุขแล้ว”.

‘ความสุข’ ที่สามารถ ‘เลี้ยงได้’

มด-รัตนา สิงห์นาม” ยังเล่าย้อนอดีตไปถึงช่วงที่ต้องไปเรียนที่ภูเก็ตด้วยว่า ช่วงแรก ๆ ที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เธอรู้สึกอ้างว้างเหว่ว้ามาก ๆ เพราะด้วยความที่ในห้องเรียนมีแต่เพื่อนคนใต้ เธอจึงปรับตัวไม่ค่อยได้ ไม่มีเพื่อนสนิท เหมือนต้องใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยคนเดียว ซึ่งเดือนแรกเธอแทบไม่มีความสุขเลย จนผ่านไป 1 เดือน เริ่มมีเพื่อน ๆ ในห้องเรียนเข้ามาชวนคุย เธอจึงเริ่มรู้สึกดีขึ้น จากนั้นเธอก็พยายามถ่ายทอดความเป็น “วิถีคนอีสานบ้านเธอ” ให้เพื่อน ๆ คนใต้ได้รู้ ทั้งการสอนเพื่อน ๆ ให้หัดเว้าภาษาอีสาน หรือการชวนกินส้มตำปลาร้า รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นวัฒนธรรมของภาคอีสาน จนกลายเป็นว่าเพื่อน ๆ คนใต้ของเธอนั้นชื่นชอบวัฒนธรรมอีสานบ้านเธอมาก ๆ ส่วนชีวิตในวันนี้ของเธอ สาวสวยผู้ “หลงรักควาย” เธอบอกว่า เมื่อก่อนเวลาจะทำอะไรมักโฟกัสที่เรื่องตัวเลข เรื่องเงินตอบแทนที่ต้องได้ แต่หลังใช้ชีวิต “เลี้ยงควาย” หลังทำช่องทางโซเชียล ทำให้เธอรู้สึกเพลิดเพลิน จนไม่ได้โฟกัสที่เรื่องเงิน ไม่ได้มองว่าทำแล้วจะได้เงินเท่าไหร่ “ตอนนี้โฟกัสแค่…ทำแล้วมีความสุข”.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน