การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI ส่งผลดีต่อมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ขณะเดียว กันก็สร้างความเสียหายและผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน จนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งการหลอกลวง เผยแพร่ข้อมูลเท็จ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และการใช้อำนาจผูกขาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม“ …นี่เป็นแง่มุมจาก บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค ที่ได้สะท้อนไว้ในเวที “โครงการสานพลังอาเซียน+3 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเศรษฐกิจดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งจัดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล…

มีการ ฉายภาพสถานการณ์ปัญหา“
การ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในมุมผิด“
ทำให้ เกิดปัญหาต่าง ๆ ต่อผู้บริโภค“

ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ สภาผู้บริโภคของไทย ร่วมกับ มูลนิธิผู้บริโภคอินโดนีเซีย (YLKI) และ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย (FOMCA) เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อหา “แนวทางมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค” จากปัญหาที่เกิดใน “ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” หลังพบว่า… การแก้ไขปัญหายังมีลักษณะเหมือนวัวหายแล้วล้อมคอก เพราะมาคิดวิธีแก้ตอนที่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว??

สำหรับมุมมองต่อการรับมือปัญหาเรื่องนี้ ทาง สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ระบุไว้ โดยสังเขปมีว่า… ที่ประชุมองค์กรผู้บริโภคอาเซียน+3 ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการออกแนวทางเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงจากการที่ มีการนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มาใช้หลอกลวงผู้บริโภค โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ความรู้และกฎหมายที่มีอยู่ในตอนนี้กลับวิ่งตามไม่ทันกลโกงหรือเทคนิคของมิจฉาชีพ ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจและชีวิตประชาชนอย่างร้ายแรง และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ

ครึ่งปีแรกของปี 2567 มีสถิติร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภคเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ 1,386 กรณี และสถิติสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีตัวเลขว่าช่วง 3 ปีนี้มีคนไทยได้รับความเสียหายจากภัยออนไลน์สูงถึง 65,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยแล้วมีมูลค่าเสียหาย 180 ล้านบาทต่อวัน“ …เป็นสถิติน่าตกใจ

เหยื่อ-ความเสียหาย “ภัยออนไลน์”…
นับวัน “มีมากมาย-มีมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ทางด้าน อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้สะท้อนภาพผลกระทบของไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลไว้ว่า… ตอนนี้หลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทาย และก็พบปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในลักษณะคล้ายกันกับของประเทศไทย เพราะด้วยความที่ “พื้นที่เศรษฐกิจดิจิทัล“ มีการ ขยายตัวอย่างกว้างขวาง“ทำให้ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่านั้นก้าวข้ามขอบเขตพรมแดนของรัฐชาติได้อย่างง่ายดายกว่าในอดีต ดังนั้น “มุมมองวิธีคิด“ รวมถึง “มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค“ จึงอาจจะ “ไม่สามารถใช้รูปแบบเดิม ๆ หรือวิธีแบบเดิม ๆ“ ได้

กับประเด็นนี้ ทางนักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษาก็ได้เน้นย้ำไว้ว่า… การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตขยายตัวเช่นนี้ หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมองให้กว้างกว่าเดิมเพื่อให้เท่าทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว แต่ที่พบส่วนใหญ่คือรัฐจัดการปัญหาไม่ทัน เพราะยึดติดกับแนวคิดแบบเดิม ๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลกลับปรับตัวไปไวมาก เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบใหม่ (Digital Public Infrastructure) แต่ปัญหาคือ รัฐก้าวตามไม่ทัน แถมบางครั้งยังเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ ด้วย จน ผู้บริโภคเสียเปรียบทั้งขึ้นทั้งล่อง

“ยิ่งแก้ไม่ได้ ยิ่งสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการบริการสาธารณะของรัฐ และที่พบอีกเรื่องก็คือ เมื่อเกิดปัญหาก็มักอ้างโครงสร้างรัฐไม่เอื้อ ขาดงบประมาณ ขาดองค์ความรู้ โดยผู้บริโภคในหลายประเทศก็เจอข้ออ้างแบบนี้เช่นกัน ส่วนตัวจึงเสนอว่าผู้บริโภคควรต้องรวมกลุ่มกันให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ที่ไม่ได้มุ่งคุ้มครองแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ควรขยายข้ามพรมแดนด้วย เพื่อให้ทันการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล“…เป็นข้อเสนอน่าคิด

ทุกภาคส่วน“ต้องปรับตัวให้เท่าทัน“
โดยที่“ภาคประชาชนก็ด้วยเช่นกัน“

ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าวยังได้มีการเน้นย้ำถึงประเด็น “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ไว้ด้วยว่า… ในส่วนของภาคสังคม ภาคประชาชนเอง ก็จำเป็นต้องตระหนักและตื่นตัวกับการรับมือปัญหานี้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อพบว่าภาครัฐยังมีปัญหาในเรื่องของการปรับตัว ที่ยังตามไม่ค่อยทันเล่ห์เหลี่ยมหรือกลโกงต่าง ๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่สังคมควรจะช่วยกันผลักดันเร่งด่วนด้วยก็คือกดดันให้รัฐ“ออกกฎหมายพาณิชย์เฉพาะ“ เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา เพื่อสร้างกฎระเบียบ เพื่อ เพิ่มอำนาจในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้บริโภค และเพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขันด้วย

“คุ้มครองผู้บริโภคยุคเศรษฐกิจดิจิทัล“
“ต้องเท่าทัน“ กันทุกภาคส่วนทุกฝ่าย
และก็ รวมถึงในมุมกฎหมายด้วย!!“.