โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานข่าวระบุว่า…รัฐบาลได้รับอนุมัติแหล่งเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท และงบกลางอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นราว ๆ 1.45 แสนล้านบาท เพื่อจะใช้สำหรับการนี้ ในยุค รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

อย่างไรก็ตาม แต่ก็อาจจะมีบางคนที่ตั้งคำถามว่า… กลุ่มเปราะบางคือใครบ้าง?“  รวมถึงอาจจะมี “ปุจฉา” ว่า… ภายใต้บริบทใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลง ทั้งโครงสร้างประชากร สังคม และเศรษฐกิจนั้น ’นิยาม“  ของ ’กลุ่มเปราะบาง“ ควรจะมีการ ’ตีความใหม่?“ หรือ ’ให้คำจำกัดความใหม่?“ หรือไม่?? โดยแต่เดิมนั้นภาครัฐได้ให้นิยามกลุ่มเปราะบางไว้ว่า… ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 2.คนพิการ 3.ผู้สูงอายุ ซึ่งปุจฉาที่บางคนมีต่อเรื่องนี้ก็น่าสนใจ…น่าพิจารณาไม่น้อย…

ไทย ’มีการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ“

’ส่งผลเช่นไร?“ กับ ’นิยามเปราะบาง“

จำเป็นที่จะ ’ต้องตีความใหม่หรือไม่?“

เกี่ยวกับข้อถกเถียงและปุจฉาเรื่องนี้ ก็มีการจัดเวทีเสวนา ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อในวันนี้ โดยเป็นข้อมูลจากการร่วมกันเสนอ “มุมมองใหม่ของความเปราะบาง” หลังจากพบ สถานการณ์และความท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ ประชากรทุกคน ทุกกลุ่ม กลายเป็นกลุ่มเปราะบางได้ในชั่วข้ามคืน!! โดยเวทีเสวนานี้จัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น รวมไปถึง “ร่วมเสนอมุมมองใหม่” เกี่ยวกับประชากรกลุ่มนี้ให้กว้างขวาง และครอบคลุมเพิ่มมากยิ่งขึ้น…

เพื่อประโยชน์มากที่สุดต่อ “ผู้เปราะบาง”

ทั้งนี้ เวทีวิชาการดังกล่าวได้นำเรื่อง “ความเปราะบาง” ขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก โดยนักวิชาการได้มีการเสนอแนะให้ ’ไทยต้องขยายมุมมองใหม่“ ให้กับนักวิจัยและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับ ’กลุ่มคนเปราะบาง“  ด้วยการช่วยกันค้นหาคำจำกัดความเกี่ยวกับประชากรกลุ่มนี้ เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ที่กว้างขวางและครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในนักวิชาการบนเวทีนี้ คือ รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนไว้ในเวทีนี้ว่า… ก่อนที่จะค้นหานิยามใหม่ของคำว่าเปราะบางนั้น ควรเริ่มจากการตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า… เมื่อพูดถึงคำว่าเปราะบาง…นึกถึงอะไร?“

จากนั้นทางนักวิชาการท่านเดิมก็ได้ขยายความเกี่ยวกับคำถามนี้เพิ่มเติมไว้ว่า… แน่นอนว่าคำตอบส่วนใหญ่จะยังคงเป็นคำจำกัดความเดิม ๆ อย่างเช่นการตีความกลุ่มเปราะบางตามกรอบช่วงอายุ อาชีพ ความพิการ หรืออาการเจ็บป่วย  ซึ่งคำตอบเหล่านั้นก็เป็นคำตอบที่ถูกต้อง หากแต่อีกด้านหนึ่งนั้นก็เป็นกับดักความคิดของการตีความ โดยเฉพาะในการทำงานวิจัย เนื่องจาก ความเปราะบางนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ลักษณะของบุคคล แต่ความเปราะบางยังถูกเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทในสังคม และการเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถจะนำไปสู่ความเปราะบางได้ในทันที!!

ทาง รศ.ดร.ลือชัย ระบุไว้อีกว่า… ที่จริง มีหลากหลายเหตุการณ์ที่อาจทำให้คนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเปราะบางต้องกลายเป็นคนเปราะบางในทันที หรือทำให้คนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วได้รับผลกระทบสาหัสยิ่งขึ้นอีก เช่น การเกิดภัยพิบัติ เศรษฐกิจพลิกผัน การเมืองเปลี่ยนแปลง เกิดโรคอุบัติใหม่ ซึ่งเหตุการณ์หรือสถานการณ์เหล่านี้มักจะสร้างผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็ว คำถามสำคัญคือ…จะทำอย่างไรให้สังคมมีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต?

Tokyo people traveling on the street

“นักวิจัยความเปราะบางต้องมองให้หลากหลายมากกว่าเดิม กับควรออกจากกรอบความคิดที่ระบุถึงความเปราะบางจากลักษณะทางกาย เพื่อตีโจทย์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่รองรับความเปราะบางในอนาคตที่อาจเกิดกับทุกคน ทุกสถานะในสังคม เพื่อไม่ให้เป็นความเปราะบางที่มีผล
กระทบไม่รู้จบ” …
รศ.ดร.ลือชัย เสนอไว้

เพื่อให้ “จำกัดความทันสถานการณ์”

ขณะที่ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. สะท้อนไว้ว่า… การวิจัยความเปราะบางต่อจากนี้จะไม่ใช่แค่การเก็บข้อมูลจากคนที่มีความเปราะบางแล้วนำกลับมาวิเคราะห์ หรือแค่สรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเหมือนในอดีต เพราะ บริบททางสังคมมีผลต่อการสร้างความเปราะบาง และมีผลต่อคนที่ไม่เคยอยู่ในกลุ่มเปราะบางมาก่อนมากขึ้น ซึ่งนักวิจัยอาจจะมีมุมมองการแก้ปัญหาตามที่ได้เรียนรู้มาอย่างเดียว เช่น นักวิทยาศาสตร์จะใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหา นักเศรษฐศาสตร์จะใช้กระบวนการเศรษฐศาสตร์แก้ไข แต่ ต่อจากนี้งานวิจัยเรื่องของความเปราะบางอาจต้องมีกระบวนการข้ามศาสตร์

“ความเปราะบางยุคใหม่ขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ งานวิจัยเกี่ยวกับความเปราะบาง หรือประชากรเปราะบาง จากนี้ต้องอาศัยการทำงานหลาย ๆ ศาสตร์ หลาย ๆ ความรู้ หลาย ๆ กรอบความคิด เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตอบโจทย์และตรงจุด ไม่มีใครตกหล่นจากประโยชน์หรือสิทธิที่ควรจะได้รับ” …ทาง ทพ.จเร ผจก.งานวิจัย สวรส. ระบุไว้ ’น่าคิด??“…

นี่เป็น ’มุมสะท้อน“ กรณี ’เปราะบาง“

’คนเปราะบาง“ นั้น ’ต้องมีนิยามใหม่“

กระนั้น ’แต่ก็คงไม่ทันรับเงินหมื่น??“.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่