สแตคเฮาส์ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านในเวลาเพียง 36 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดที่โรงพยาบาลในเครือ “นอร์ทเวสเทิร์น เมดิซีน” ซึ่งมีเป้าหมายทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะโดยไม่ต้องใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย ซึ่งมีความเสี่ยง กลายเป็นเรื่องปกติ

การผ่าตัดดังกล่าวใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงเศษ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา และถือเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายครั้งที่สอง ซึ่งนำโดย นพ.ซาทิช นาดิก ผู้อำนวยการศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะแบบครบวงจร ของระบบโรงพยาบาลในเมืองชิคาโก

โดยปกติ การให้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย จำเป็นต้องใช้ท่อช่วยหายใจ ซึ่งอาจทำให้สายเสียงได้รับความเสียหาย, ลำไส้ทำงานล่าช้า และเกิด “ภาวะสมองล้า” เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ แต่การฉีดยายาระงับความรู้สึกเข้าช่องน้ำไขสันหลัง สำหรับการปลูกถ่ายไต ซึ่งคล้ายคลึงกับสิ่งที่ทำในการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้อง มีประโยชน์ทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับ

ABC News

แม้เอกสารทางการแพทย์ ระบุถึงความรู้ความเข้าใจเล็กน้อยเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแบบผู้ป่วยรู้สึกตัว ย้อนกลับไปหลายสิบปีในหลายประเทศ แต่ขั้นตอนดังกล่าวไม่เคยได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ป่วยหลายคนยังคงลังเลที่จะท้าทายวิธีการรักษาในปัจจุบัน

อนึ่ง สแตคเฮาส์ เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองว่า เขาล้มป่วยครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค. 2562 ด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแย่ลงจนทำให้เขาแทบจะเดินไม่ได้ และต้องเข้าห้องฉุกเฉินในไม่กี่เดือนต่อมา ซึ่งในเวลานั้น เขาพบว่าตัวเองไม่ได้ติดโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่ไตข้างหนึ่งของเขาล้มเหลว และไตอีกข้างหนึ่งทำงานได้แค่ 2% เท่านั้น

สแตคเฮาส์ ยอมเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไต 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่เนื่องจากอาการของเขายังไม่ดีขึ้น บุตรสาวจึงแนะนำให้เขาพิจารณาการปลูกถ่ายไต ซึ่งสแตคเฮาส์ มีความลังเลในตอนแรก เพราะผู้บริจาคอวัยวะคือบุตรสาวของตัวเอง ทว่าท้ายที่สุด เขาก็ตอบตกลง

หลังจากสแตคเฮาส์ได้พบกับ นพ.นาดิก และเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการ “อเวค คิดนีย์” ซึ่งดำเนินการผ่าตัดแบบเร่งด่วนโดยไม่ใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย ในการปลูกถ่ายไต เขาก็ตัดสินเข้ารับการผ่าตัดด้วยขั้นตอนข้างต้น

ทั้งนี้ นพ.นาดิก ยกเครดิตความสำเร็จในการปลูกถ่ายไต ให้กับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ซึ่งทำให้สแตคเฮาส์ ฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้อย่างยอดเยี่ยม และรวดเร็วกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดโดยใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย

กระนั้น ประสบการณ์จะเป็นตัวกำหนดว่า ขั้นตอนดังกล่าวจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางแค่ไหน และมันจะขยายขอบเขตครอบคลุมผู้ป่วยที่มีภาวะอื่นอยู่แล้ว เช่น โรคอ้วน หรือโรคหัวใจ ได้หรือไม่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP