“ผมเรียนรู้ว่าการเป็นครูนั้นไม่ต้องให้เด็กมาไหว้ครูเพียงเพราะเราเป็นผู้มีพระคุณ แต่อยากให้เขารักเรา เคารพเรา เพราะเราช่วยให้เขาเติบโตได้มากกว่า” เป็นความรู้สึกของ “ชัชวาลย์ บุตรทอง” หรือ “ครูติ๊ก” ของเด็ก ๆ พื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งมีทั้งเด็กในระบบการศึกษา ในโรงเรียน รวมถึง เด็ก Drop out ที่หลุดจากห้องเรียน จากระบบ ที่เป็น “แรงบันดาลใจ” ทำให้เขาตัดสินใจลุกขึ้นมาค้นหาวิธีช่วยเด็กกลุ่มหลังนี้ ด้วยวิธี “คิดนอกกรอบ” ให้ “ตอบโจทย์ปัญหาในพื้นที่” จนเกิด “โรงเรียน 4 ตารางวา” ขึ้นมา ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปพูดคุยถึงเส้นทาง แนวคิด และความฝัน “ครูนอกกรอบ” คนนี้…

“ผมโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน เราก็หวังว่าจะเรียนแล้วก็สอบเข้ารับราชการ เพราะคิดว่าพอได้รับราชการแล้ว ชีวิตก็คงสบายแล้ว ซึ่งผมสอบบรรจุได้เป็นครูที่โรงเรียนใน จ.นนทบุรี ก็ไกลบ้านมาก แต่ก็มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจอยากที่จะกลับมาที่บ้านเกิด คือ จ.อุตรดิตถ์ ก็ไปสมัครคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครูคืนถิ่น แล้วก็ได้มาบรรจุเป็นครูที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นผมก็สอนในโรงเรียน เป็นครูสอนเด็กในระบบปกติ แถมผมเป็นครูฝ่ายปกครองด้วย ซึ่งก็ทำหน้าที่นี้อยู่หลายปี จนมีเรื่องหนึ่งมาสะกิดใจ ทำให้กลับมาคิดว่า การเป็นครูไม่จำเป็นต้องยืนจุดนั้นจุดเดียว แต่มีหลาย ๆ พื้นที่ที่ยังช่วยเด็กได้” เป็นความรู้สึกลึก ๆ ในหัวใจ ที่ ครูติ๊ก พรั่งพรูเล่าถึงเรื่องราวที่เป็นเหมือนสารตั้งต้นให้ตัดสินใจออกมาเป็น “ครูนอกกรอบ” เพื่อช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบ

สำหรับ “เส้นทางอาชีพครู” ของเขานั้น ครูติ๊กเล่าว่า หลังเรียนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้ไปเป็นครูที่ จ.นนทบุรี ก่อนจะได้ย้ายกลับมาสอนหนังสือในโรงเรียนพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งก็ทำงานเป็นครูในระบบเรื่อยมา จนตอนที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ครูฝ่ายปกครองนั่นเอง ที่ทำให้มีโอกาสสัมผัสโลกอีกใบของเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่มักมองเด็กกลุ่มนี้เป็น “ตัวปัญหา” หากแต่เขากลับตั้งคำถามกับการศึกษาในระบบ หลังมีเด็กหลายคนที่เคยเดินผิดพลาดอยากกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่แต่กลับไม่มีช่องว่างให้เด็กเหล่านี้กลับเข้ามา สุดท้ายเด็ก ๆ กลุ่มนี้ก็หลุดลอยร่วงหล่นสู่วงจรชีวิตผิด ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เขาจึงเริ่มมองหารูปแบบการศึกษาที่จะช่วยเด็กกลุ่มนี้ จนพบแนวคิด “โรงเรียนขยายโอกาส” และเกิดเป็น “โรงเรียน 4 ตารางวา” ซึ่งเป็นชื่อเรียกไม่เป็นทางการ เพราะชื่อจริง ๆ คือ ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ที่มี ศ.ดร.ชรินทร์ มั่งคั่ง อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานกรรมการศูนย์ โดยโมเดลนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับแรงเสริมหนุนจากปิยมิตรมากมาย ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี กสศ. รวมอยู่ด้วย

ครูติ๊ก เล่าว่า ตอนที่ตัดสินใจจะผลักดันให้เกิดโรงเรียน 4 ตารางวานี้ให้ได้นั้น เกิดจากได้พบเด็กคนหนึ่งที่เคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนในระบบ แต่ช่วงหนึ่งเด็กหลุดจากโรงเรียนไป เพราะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จนวันที่กลับออกมา เด็กมาหาเขา พร้อมขอว่าอยากกลับเข้าเรียนอีกครั้ง ครูติ๊กจึงไปขอกับผู้ใหญ่ในโรงเรียน แต่โรงเรียนไม่เอาด้วย ไม่รับเด็กกลับเข้ามา เพราะกลัวเป็นปัญหา ทำให้ครูติ๊กมองว่าเรื่องนี้เป็นความหวาดกลัวของระบบการศึกษา ซึ่งหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการช่วยให้เด็กกลับเข้าห้องเรียน สุดท้ายเด็กก็หลุดจากระบบและก็กลับสู่วังวนชีวิตเดิม ๆ ซึ่งครูติ๊กมองว่า ถ้าหากไม่มีระบบอะไร หรือไม่มีพื้นที่อะไรให้เด็ก ๆ กลับเข้าสู่ระบบเรียนรู้ ปัญหาแย่ ๆ ก็จะไม่มีวันหมดสิ้น และจะเกิดเป็นวงจรซ้ำ ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ

สมัยเป็น นศ.ฝึกสอน ที่สาธิต มช.

“เพราะเด็กนอกระบบไม่มีอะไรเลย ไม่มีความฝัน ไม่มีโอกาส เพราะการที่เด็กขาดโอกาสเรียนรู้ทำให้เด็กไม่รู้ว่าจะออกแบบอนาคตให้ตัวเองยังไง เพราะบ้านเราถ้าไม่มีวุฒิการศึกษาก็ไปต่อไม่ได้ จึงไม่แปลกที่เด็ก Drop out จะเที่ยวเล่นไปวัน ๆ เพราะเขาไม่รู้จะออกแบบชีวิตยังไง หรือไม่รู้ว่าจะวางแผนชีวิตยังไงให้ไปได้ไกลกว่านี้ และด้วยเหตุนี้ผมจึงผลักดันให้เกิดพื้นที่เรียนรู้นี้ขึ้น อย่างน้อยจะได้ช่วยเพิ่มพูนทักษะให้เด็กนำไปออกแบบชีวิตตัวเองได้”

ทั้งนี้ ครูติ๊กบอกว่า จากตรงนั้นทำให้เขาอยากสร้างพื้นที่สักพื้นที่หนึ่งขึ้นมา เพื่อให้เป็นโรงเรียนสำหรับเด็ก ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าเด็กจะออกมาจากกระบวนการยุติธรรม หรือหลุดจากระบบไปด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็สามารถมาใช้พื้นที่นี้ในการเรียนรู้ได้ โดยศูนย์เรียนรู้นี้ตั้งขึ้นภายใต้มาตรา 12 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ภายใต้สังกัดของสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ซึ่งเริ่มเปิดมาตั้งแต่ปี 2565 ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในการดูแล 42 คน มีทั้งเด็กในพื้นที่และเด็กที่อยู่ไกล ส่วนการเรียนนั้นใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบ หรือ กศน. โดยมีตั้งแต่ ม.ต้น-ม.ปลาย ซึ่งแต่ละระดับชั้นจะมีราว 20 วิชา ที่ส่วนใหญ่จะเป็นทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ วิชาสุขศึกษา และทักษะการใช้ชีวิตในสังคม โดยมีเงื่อนไขของทางกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดว่าเด็ก ๆ ที่นี่ต้องมีสถานะเป็นนักเรียนระยะเวลาเท่าใด และต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้างจึงจะได้รับวุฒิการศึกษา จบชั้น ม.3 และ ม.6

โรงเรียน 4 ตารางวา ตรงไหนก็เรียนได้

ขณะที่ “จุดเด่น” ของห้องเรียนที่ออกแบบขึ้นนี้ ครูติ๊ก บอกว่า คือการไม่ต้องมานั่งในห้องเหมือนโรงเรียน และแม้แต่วันหยุดก็นับรวมด้วย เพราะวันหยุดเด็ก ๆ ก็ไม่ได้หยุดเรียนรู้ จึงนับทุกการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของเด็ก ๆ เข้ามาอยู่ในหลักสูตรหมด และนอกจากนี้ ครูติ๊กยังเล่าว่า ที่นี่ได้มีการออกแบบระบบขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้กับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ โดยใช้ชื่อว่า “D Learning” เพื่อให้เด็ก ๆ ที่อาจจะมาทำกิจกรรมไม่ได้ สามารถเข้าไปทำงานในระบบดังกล่าวเพื่อเก็บสะสมชั่วโมงเรียนได้ตลอดเวลา เพราะท้ายที่สุดเด็ก ๆ จะต้องเข้าไปสอบ เพราะเป็นเงื่อนไขจบการศึกษา ซึ่งเมื่อเด็ก ๆ ผ่านแล้ว ศูนย์ก็จะเป็นคนทำเรื่องรายงานต่อไปยังหน่วยงานที่ดูแล เพื่อแจ้งว่าเด็ก ๆ ทดสอบผ่านแล้ว …ครูติ๊กอธิบายกระบวนการช่วยเหลือเด็กนอกระบบผ่านทางโมเดลนี้

นอกจากความฝันของ “ครูนอกกรอบ” คนนี้จะเป็นการสร้างกลไกเพื่อดึงไม่ให้เด็กหลุดลอยจากระบบแล้ว อีกความฝันที่ครูติ๊กอยากช่วยเติมเต็มให้เด็ก ๆ ด้วย ก็คือการ “เติมเซลฟ์ (Self) ให้เด็ก” โดยครูติ๊กขยายความว่า ตอนเป็นครูฝ่ายปกครอง บางคนในโรงเรียนอยากให้ไล่เด็กบางคนออก ซึ่งตอนที่จะเอาเด็กออกทำง่ายมาก แต่พอเด็กอยากจะเข้ามา กลับติดเงื่อนไขมากมาย หรือเด็กที่หลุดไปแล้ว และมีโอกาสได้กลับมาเข้ามาในระบบ ก็มีประตูมีกำแพงหลายชั้นเหลือเกิน ทำให้ไม่สามารถอยู่ในระบบได้ เพราะกลไกระบบไม่ยืดหยุ่นพอจะรองรับเด็ก ๆ เหล่านี้ ทำให้คิดว่าถ้ามีกลไกที่ยืดหยุ่นพอ ก็อาจเป็นอีกวิธีที่จะรักษาให้เด็กอยู่ในระบบได้ ทำให้โรงเรียน 4 ตารางวาที่ดูแลอยู่จึงออกแบบให้ยืดหยุ่นได้มากที่สุด เช่น เปลี่ยนวิธีเรียนแบบเดิมมาเป็นรูปแบบใหม่ อาทิ ใช้กิจกรรมชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เหมือนที่ทำร่วมกับผู้ใหญ่ใจดีที่ชุมชนเจริญธรรม หรือบางคนที่ทำงานแล้ว ก็อาจนำสิ่งที่เขาทำงานอยู่มาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตการเรียนได้ เพื่อให้เด็ก ๆ มีโอกาสอยู่กับการเรียนมากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้เด็กได้เรียนจบ ได้มีวุฒิการศึกษา เพื่อที่พวกเขาจะมีความกล้ามากขึ้นที่จะออกแบบอนาคตชีวิตของตัวเอง

กับแฟน “เพ็ญนภา กฤชทองคำ” กำลังใจสำคัญ

“ผมเห็นว่าเด็กในระบบบางคนนั้นพอเรียน ๆ ไป Self esteem ของเด็กนั้นกลับหายไป เพราะกระบวนการบางอย่างที่มองว่าการออกคำสั่งคือการอบรมสั่งสอน ซึ่งบางทีก็ไปทำลาย Self esteem ของเด็ก ทีนี้พอเด็กถูกกระบวนการนี้เรื่อย ๆ Self ก็จะยิ่งลดลง จนเด็กขาดความมั่นใจ ผมก็เลยจัดพื้นที่เพื่อเติมเรื่องนี้ให้เด็ก ด้วยการส่งไปทำกิจกรรม ซึ่งพอเขากลับมา ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เช่น มุมมองการใช้ชีวิต อย่างเด็กบางคนเคยใช้ยาเสพติด พอกลับมาเขาเลิกเลย ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ผมพบว่า เมื่อเด็กถูกเติม Self เด็กก็จะเปลี่ยนไปเอง จากไม่มั่นใจ ก็มั่นใจขึ้น จากไม่กล้าฝัน ก็กล้าฝันขึ้น หรือจากที่ไม่คิดถึงอนาคต ก็หันมาวางแผนชีวิตตัวเอง คือเด็กกล้าที่จะมองตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น จนบางคนกล้าปะติดปะต่อว่า เขาฝันอยากเป็นอะไร” ครูติ๊กบอกเล่าไว้

บ่ายวันที่เราได้นั่งคุยกับ “ครูติ๊ก-ชัชวาลย์” แม้ลมฝนจะโหมกระหน่ำเหมือนโมโหใครมา หากแต่ความชุ่มเย็นฉ่ำจากหัวใจความเป็นครูของคุณครูท่านนี้ก็ทำให้พายุแรงนอกอาคารกลายเป็นเรื่องเบาลงไป โดย “ทีมวิถีชีวิต” ถามกับเขาว่า นับแต่ปี 2565 จนถึงตอนนี้มีอะไรเป็นความท้าทายอีกหรือไม่? ครูติ๊กครุ่นคิดสักครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า ความท้าท้ายช่วงแรก คือการเข้าถึงเด็ก เพราะต้องให้เด็กไว้ใจว่าพื้นที่ตรงนี้คือพื้นที่ปลอดภัย เพราะเด็กบางคนไม่เข้ามาเพราะไม่มั่นใจว่าเมื่อกลับเข้ามาแล้วเขาจะทำสำเร็จมั้ย ส่วนความท้าทายอีกเรื่องที่มาพบช่วงหลัง ๆ คือทัศนคติคนทำงาน บางคนเมื่อเข้ามาทำงานอาจจะกลัว อาจมีเงื่อนไขในใจ ก็ต้องพยายามสลายความกลัว พยายามลบเงื่อนไขในใจให้ได้ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะยากไปหมด… “ส่วนถ้าถามว่าความสุขของผมคืออะไร แน่นอนว่าไม่ใช่การที่เด็กมาขอบคุณ แต่คือการที่เราช่วยเขาแล้ว แล้วเขาเดินกลับมาหาเรา และบอกเราว่า…ครูครับผมอยากทำเหมือนครู นั่นคือ…อยากช่วยคนอื่น ๆ ต่อ”.

‘ประโยชน์เด็กไม่ควรมีเงื่อนไข’

เราได้ถามถึง “คำจำกัดความ” คำว่า “ครู” ในมุมมองของ “ครูติ๊ก-ชัชวาลย์ บุตรทอง” ซึ่งเขาบอกว่า เขามองว่าการเป็นครูไม่ควรจะมองเด็กคือบริวาร เช่น ใช้เด็กตักน้ำให้ครูหน่อย หรือไม่ควรมีประโยคว่า “ถ้าไม่เรียนจะไม่สอน” เพราะครูในความหมายของเขาคือ “คนที่เห็นว่าเด็ก ๆ ทุกคนควรได้รับโอกาสการศึกษาเท่าเทียมกัน” ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรืออยู่ภายใต้เส้นที่ขีดไว้ไหม ซึ่งปกติส่วนใหญ่ครูมักจะขีดเส้นว่า ใครอยู่ข้างบนนี้คือคนดี ใครอยู่ข้างล่างนี้คือไม่ดี ซึ่งเขามองว่า ครูควรลบเส้นเหล่านี้ออก ไม่ควรรีบประทับตราเด็กให้เขาอยู่ข้างบนหรือใต้เส้นที่ครูขีดไว้ ซึ่งจริง ๆ เด็ก ๆ ทุกคนควรได้เป็นผู้เลือกมากกว่า และอะไรที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็ก มันไม่ควรมีเงื่อนไขรุงรังอะไรมากมาย พร้อมกันนี้ ครูติ๊ก ยังเล่าถึงเรื่องราวหนึ่งให้ฟังว่า… “มีวันหนึ่งผมเจอเด็กเดินอยู่ริมถนน ผมจำได้ว่าเป็นเด็กที่โรงเรียน แต่ขาดเรียนไป 2 สัปดาห์แล้ว ผมก็เข้าไปหาเขาแล้วถามว่า เธอเรียนที่ไหน เขาก็บอกว่าไม่ได้เรียนแล้ว ผมโดนไล่ออก เพราะไปขโมยเงิน ผมก็เลยถามว่า แล้วอยากเรียนไหม ถ้าอยากเรียนให้ไปหาผมที่โรงเรียน พอวันรุ่งขึ้นเขาก็ไปรอผมหน้าประตูโรงเรียนแต่เช้าเลย ผมก็พาเข้าไปสมัคร แต่พอเข้าไปก็ติดเงื่อนไขว่าต้องให้ผู้ปกครองเป็นคนพามาสมัคร เด็กก็บอกพ่อเขามาไม่ได้ เพราะพิการ ถ้าจะมาก็ต้องหาคนหิ้วพ่อมา ผมจึงคิดว่า ถ้าการเข้าเรียนมันยังติดเงื่อนไขมากมายแบบนี้อยู่ เด็กก็คงไม่มีทางกลับเข้าห้องเรียนได้แน่ ซึ่งผมเชื่อว่าเงื่อนไขเหล่านี้คงจะไม่มีอยู่…ถ้าเรามองประโยชน์เด็กเป็นตัวตั้ง”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน