สุนัขเป็นสัตว์ที่รู้จักฝันระหว่างนอนหลับอย่างแน่นอน เรื่องนี้มีผลวิจัยในปี 2544 ของสถาบันเอ็มไอทีแห่งสหรัฐระบุไว้ชัดเจนว่า สุนัขก็รู้จักฝันเหมือนกับมนุษย์ โดยสิ่งที่มันฝันถึงนั้นจะมีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์จากชีวิตจริงของพวกมัน หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นการเก็บเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงมาฝันถึง

“(สุนัข) อาจฝันถึงเจ้าของและการเล่นกับสุนัขตัวอื่นรวมถึงกับคนที่พวกมันชอบ” โฮเซ อาร์ซ สัตวแพทย์และอดีตประธานสมาคมสัตวแพทย์อเมริกันกล่าวไว้

กลุ่มศึกษาเกี่ยวกับความฝันของสัตว์หลายกรณียังพบว่าสุนัขมีประสบการณ์การนอนหลับแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวัน หลังจากเล่นสนุกทั้งวัน สุนัขจะมีช่วงที่รู้สึกง่วงน้อยลงและมีระยะการนอนในช่วงของการหลับตื้นไปจนถึงการหลับลึก (NREM หรือ Non-Rapid Eye Movement) และช่วงหลับฝัน REM (Rapid Eye Movement) มากขึ้น ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นช่วงที่จะเกิดความฝันได้มากที่สุด

อีกคำถามที่มีคนสงสัยมากก็คือ ถ้าสุนัขก็ฝันเป็นแล้ว มันจะฝันร้ายได้หรือไม่?

คำตอบก็คือ “ได้” เมื่อสุนัขฝันร้าย มันอาจ “ละเมอ” หรือแสดงออกทางกายระหว่างหลับ เช่น มีอาการตัวสั่นระริก, ส่งเสียงขู่คำราม, แสดงท่าทางตะกุยตะกาย

อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์อาร์ซได้เตือนว่า เมื่อเห็นสุนัขที่เลี้ยงแสดงอาการเหมือนฝันร้าย แม้ว่าเจ้าของจะรู้สึกว่าอยากปลอบประโลมมัน ก็ไม่ควรเข้าไปแตะต้องตัวสุนัข เพราะมันอาจแว้งกัดเอาได้เพราะในช่วงที่ละเมอนี้ สุนัขไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

แล้วความฝันของสุนัขแต่ละตัวแตกต่างกันหรือไม่?

นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าความฝันของสุนัขและมนุษย์นั้นคล้ายกันมากทีเดียว กระนั้นก็ยังจำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนอนหลับของสุนัข อาร์ซเชื่อว่าในอนาคต มนุษย์มีข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมประจำวัน สายพันธุ์ และความฝันของสุนัขได้

เขายังกล่าวว่า ลูกสุนัขดูเหมือนจะฝันมากกว่าสุนัขโต ขณะที่สุนัขแก่ดูเหมือนจะฝันมากกว่าสุนัขโตที่ยังไม่เข้าสู่วัยชราเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังพบว่าสุนัขตัวใหญ่จะฝันนานกว่าสุนัขตัวเล็กซึ่งจะมีระยะของการฝันที่สั้นกว่า แต่จะฝันได้บ่อยกว่า 

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การวิจัยเพิ่มเติมอาจบอกเราได้ว่าทำไมสุนัขพันธุ์ชิวาวาจึงฝันได้มากกว่าพันธุ์เยอรมันเชปเพิร์ด อาจบอกได้ด้วยซ้ำว่าความฝันแบบใดที่สัมพันธ์กับอาการกระตุกและกิริยาเคลื่อนไหวบางอย่างของสุนัข โดยอาศัยเทคโนโลยีและการทำงานของปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีเหล่านี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ทำงานได้ซับซ้อนมากกว่าเดิม

ที่มา : usatoday.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES