นายกุลัม อาหมัด เกษตรกรชาวอินเดีย วัย 66 ปี พลัดพรากจากพ่อแม่ตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นวัยรุ่น ท่ามกลางความโกลาหลของสงครามที่ส่งผลให้หมู่บ้านของเขาเกิดการเปลี่ยน “ผู้ควบคุม” จากปากีสถาน เป็นอินเดีย

หากจุดข้ามพรมแดนเปิดอยู่ การเดินทางไปยังดินแดนปากีสถาน จะต้องเดินเท้าเป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร และใช้เวลาประมาณ 1 วัน ทว่าในปัจจุบัน การไปยังพื้นที่ดังกล่าวต้องเดินทางไปกลับเป็นระยะทางประมาณ 2,500 กิโลเมตร รวมทั้งต้องมีวีซ่า ซึ่งขอได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

อนึ่ง อินเดียและปากีสถาน มีจุดผ่านแดนที่ถูกจำกัดอย่างเข้มงวด “เพียงจุดเดียว” ที่ผู้คนสามารถข้ามผ่านได้ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐปัญจาบ ในอินเดีย แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ตัดสินใจทำแบบนั้น

ปากีสถานกับอินเดีย ซึ่งเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราช ครบรอบ 77 ปี เมื่อวันที่ 14 และ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ตามลำดับ สู้รบกันในสงครามครั้งใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง และมีความขัดแย้งบริเวณพรมแดนอีกนับครั้งไม่ถ้วน นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศแบ่งแยกออกจากอนุทวีปอินเดีย เมื่อปี 2490 ซึ่งพวกเขายังคงมีความขัดแย้งต่อกันอย่างรุนแรง เกี่ยวกับการควบคุมและการอ้างสิทธิเหนือ “ดินแดนแคชเมียร์”

หมู่บ้านของอาหมัดในภูมิภาคคาร์กิล ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำสินธุ บริเวณ “แนวเส้นควบคุม” (แอลโอซี) ที่แบ่งการควบคุมแคชเมียร์ ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งยอดเขาสูงตระหง่านที่ปกคลุมไปด้วยด้วยหิมะ บดบังหมู่บ้านซึ่งมีที่มั่นกองทัพของสองประเทศคู่ปรับอยู่ประปราย

นอกจากนี้ ภูมิภาคคาร์กิล ยังเป็นสถานที่เกิดการปะทะครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย ระหว่างรัฐบาลนิวเดลี และรัฐบาลอิสลามาบัด เมื่อปี 2542 ด้วย

อาลี วัย 49 ปี เป็นไกด์นำเที่ยวในช่วงฤดูร้อน และมักจะพาฝูงลาที่ขนเสบียง ไปยังฐานทัพบนภูเขาของกองทัพอินเดีย ซึ่งเขากล่าวว่า ครอบครัวของลุงของเขาอยู่ฝั่งปากีสถาน แต่เขาไม่เคยเห็นอีกฝ่ายข้ามชายแดนมาเลย อีกทั้งเขายังเล่าถึงความขัดแย้งอันน่าสะพรึงกลัวที่ยาวนาน 10 สัปดาห์ ในปี 2542 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,000 คน และมันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก

หลังจากนั้นผ่านมากว่า 25 ปี กองทัพอินเดียได้ผลักดันครั้งใหญ่ เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ถนน และสายโทรคมนาคม ส่งผลให้หลายครอบครัว สามารถติดต่อกันทางออนไลน์ และแลกเปลี่ยนข้อความกันได้ หลังจากเงียบหายไปนานหลายสิบปี ซึ่งมันอาจเป็นการสื่อสารระหว่างกันเป็นครั้งแรกของพวกเขาด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางคนกล่าวว่า แม้ตอนนี้พวกเขาจะได้ติดต่อกับญาติในปากีสถานได้อีกครั้งแล้ว แต่ความปรารถนาที่จะเจอหน้ากัน และไปสวดมนต์ที่มัสยิดด้วยกันนั้น ยังคง “เป็นเพียงความฝัน”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP