มาถึงวันนี้ “โผ ครม.ชุดใหม่” ของ “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” ชัดเจนแค่ไหน?-อย่างไร?? ก็ดังที่ทราบ ๆ กัน ที่แน่ ๆ ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ “กระแสข่าวลือเชี่ยวกราก” ไม่น้อย!!… ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับในไทยที่ช่วง “การเมืองไม่นิ่ง-การเมืองมีการเปลี่ยนแปลง” ก็มักจะตามมาด้วย “สารพัดข่าวลือ” ซึ่งที่สุดแล้วเป็นจริงบ้าง-ไม่จริงบ้าง…ก็ว่ากันไป อย่างไรก็ตาม ว่ากันถึง “ข่าวลือ” นี่ในทางสังคมศาสตร์ก็มีแง่มุมน่าพิจารณา ที่แม้ว่าหลายคนจะมองเชิงลบต่อ “ข่าวลือ” แต่ทว่า…

’ข่าวลือ“ นั้นกลับ ’มีพลังทางสังคม!!“

เป็น ’อาวุธ“ ใช้ ’เปลี่ยนแปลงบางสิ่ง“

กับการวิเคราะห์ “ข่าวลือ (Rumor)” และชี้ถึง “พลัง” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลนั้น เรื่องนี้ทาง วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้สะท้อนไว้ผ่านบทความชื่อ ’พลังของข่าวลือ“ ที่เผยแพร่ในหมวดวัฒนธรรมร่วมสมัย ใน เว็บไซต์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งมีแง่มุมที่น่าพินิจดังต่อไปนี้…

ข่าวลือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์มาช้านาน โดยพลังของข่าวลือนั้น มีอิทธิพลต่อการรับรู้ พฤติกรรม การกระทำ หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงวิถีของประวัติศาสตร์ซึ่งถึงแม้ข่าวลือจะถูกมองเป็นเพียงเรื่องซุบซิบ หรือเรื่องราวที่ไม่เป็นจริง แต่พลังของข่าวลือกลับแผ่ขยายไปไกลเกินกว่าเนื้อหา ซึ่งมีตั้งแต่บทบาทในฐานะเป็น “เครื่องมือ” ของ “ความสามัคคี” และ “ความขัดแย้ง” ไปจนถึงการ “สร้างความเป็นจริงทางสังคมขึ้นมา” …นี่เป็นคำอธิบายโดยสังเขปกรณี “พลังข่าวลือ”

Hands working on digital device network graphic overlay

ทั้งนี้ ในทางสังคมศาสตร์ “ข่าวลือ” ถูกให้นิยามหลากหลาย ในทางหนึ่ง ข่าวลือเป็นความเชื่อที่ปราศจากหลักฐานแน่ชัดมาสนับสนุน ในอีกทางหนึ่ง ข่าวลืออาจเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน รวมถึง เป็นเนื้อหาในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นพลวัตจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งจากความยืดหยุ่นนี้ทำให้ ข่าวลือวางอยู่บนชายขอบข้อเท็จจริงบางประการ ที่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมของสังคม ซึ่งทำให้ข่าวลือแพร่กระจายได้กว้างไกล ยิ่งขึ้น

ขณะที่ “บทบาทข่าวลือ” ในฐานะ เครื่องมือของความสามัคคีและความขัดแย้ง ในบทความดังกล่าวระบุไว้ว่า…เนื้อหาสาระของข่าวลือมักฝังอยู่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และส่งผ่านข้อมูลเหล่านั้นจากบุคคลไปสู่บุคคล และจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ส่งผลทำให้การแพร่ขยายข่าวลือ มีการเสริมแต่ง ดัดแปลง ตลอดจน ทำให้เรื่องราวซับซ้อนหรือใหญ่โตไปกว่าจุดแรกเริ่ม ได้ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า… ผู้คนมักกระจายข่าวลือโดยสอดแทรกอัตตา การตีความ ความคิดเห็นส่วนตัว เพื่อหล่อเลี้ยงอีโก้ ของตนเองหรือของกลุ่ม และที่สำคัญ การแพร่ขยายของข่าวลือ นั้น…

มักเกิดในช่วงความไม่แน่นอน-วิกฤติ

อนึ่ง ในบทความดังกล่าวได้หยิบยก “ตัวอย่างข่าวลือ” ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ความรู้สึกของผู้คนในสังคมกำลังอ่อนไหว โดยนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดกับ กรณีสุลต่านโมฮัมเม็ดที่ 5 แห่งโมร็อกโก หลังถูกเนรเทศโดยรัฐบาลฝรั่งเศส โดยในสังคมโมร็อกโกเวลานั้นมีข่าวลือว่าจะสังเกตเห็นใบหน้าของอดีตสุลต่านได้เมื่อมองไปที่ดวงจันทร์ยามราตรี ซึ่งการแพร่หลายของข่าวลือเรื่องนี้ได้ส่งผลทำให้ชาวโมร็อกโกนั้น “เกิดจินตนาการร่วมกัน” จนข่าวลือกลายเป็น “เครื่องมือสร้างความสามัคคีในชาติ”  …นี่เป็นกรณีศึกษา “พลังของข่าวลือ” ที่ถูกหยิบยกนำมาเป็นตัวอย่าง

Newspaper background concept

สำหรับ ’ในยุคสมัยใหม่“  ที่โครงสร้างต่าง ๆ ทางสังคมเปลี่ยนไป กรณีนี้ก็ส่งผลทำให้ ข่าวลือยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และการแพร่ขยายในสังคมสมัยใหม่นั้น ข่าวลือแพร่กระจายและขยายผลกระทบได้มากกว่าในอดีต อันเป็นผลพวงจากเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นหลาย ๆ รูปแบบ กับมีช่องทางแพร่กระจายข่าวลือมากขึ้น ทำให้ ยากต่อการควบคุมและหักล้าง อีกด้วย โดยหลาย ๆ ครั้งพบว่า “แพลตฟอร์มดิจิทัล” นั้น “ทำให้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องแต่งกับความจริงเลือนรางเพิ่มขึ้น” ส่งผลให้เนื้อหาสาระ ’ข่าวลือ“ สามารถ มีได้หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องราวธรรมดา จนถึงเรื่องเหนือธรรมชาติ

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ได้นำสู่คำถามคือ อะไรที่จะทำให้เรื่องราวของข่าวลือบางแบบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ได้รับความเชื่อถือ หรือดูเป็นไปได้ในสายตาของคนบางกลุ่ม ซึ่งคำตอบเรื่องนี้มีนักวิชาการต่างประเทศวิเคราะห์ว่า… สิ่งที่ทำให้ข่าวลือน่าเชื่อถือในสังคมหนึ่ง แต่อาจไม่น่าเชื่อในอีกสังคมหนึ่งนั้น กับความแตกต่างนี้อาจมีรากฐานจากบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม ซึ่งรากฐานทางความคิดที่แตกต่างกันของแต่ละสังคม เป็นปัจจัยที่จะสนับสนุนความเป็นไปได้ของ ’ข่าวลือ“  จนทำให้ เรื่องราวที่ดูผิดที่ผิดทางหรือไร้เหตุผลในสังคมหนึ่ง ก็อาจพลิกกลับตรงข้ามได้ในสังคมอื่น ๆ

ทั้งนี้ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ยังระบุไว้ว่า… ข่าวลือไม่เพียงเป็นมากกว่าความเท็จหรือการซุบซิบนินทา ยังเป็นองค์ประกอบพื้นฐานการสื่อสารของมนุษย์ ที่สะท้อนและกำหนดความเป็นจริงทางสังคม ทำให้ข่าวลือมีทั้งที่ถูกใช้งานตรงไปตรงมาและแอบแฝง รวมทั้งสะท้อนให้เห็นเบื้องลึกความรับรู้บางอย่างที่เคยมีอยู่ หรือถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานความเข้าใจร่วมกันของสังคม ’ข่าวลือ“  จึงเป็น ’เครื่องมือที่ทรงพลังทางสังคม“ การทำความเข้าใจข่าวลือจึงสำคัญในโลกปัจจุบันที่มีความท้าทายจากข้อมูลที่ผิดพลาดง่ายขึ้น…เพื่อรับมือ

ยุคนี้ ’ภูมิทัศน์ข้อมูลมีความซับซ้อน“

โดย ’การเมืองไทยยุคนี้ก็ยิ่งซับซ้อน“

และ…’ก็ต้องจับตาพลังข่าวลือ??“. 

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่