หน้าที่แก้ปัญหา“ให้ประเทศ ไทย-คนไทย โดย รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรีคนใหม่“ ที่ชื่อ แพทองธาร ชินวัตร“นั้น …ย่อมรวมถึงกรณี “เฟคนิวส์แก๊งคอลเซ็นเตอร์“ ทั้งนี้ แม้จะมีการออกตัวว่าการทำหน้าที่ของนายกฯ คนใหม่จะไม่ถูกครอบงำใด ๆ โดยอดีตนายกฯ ที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” แต่จากการที่นายกฯ แพทองธาร เป็นลูกสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่ก่อนหน้าจะเป็นคนการเมืองผู้โด่งดังนั้นเคยเป็นนักธุรกิจที่โดดเด่นด้าน “เทคโนโลยีสื่อสาร” ดังนั้น ก็น่าคิดว่าจะซึมซับอะไร ๆ ทางด้านนี้มาใช้สั่งการแก้ปัญหา “ภัยจากเทคโนโลยีสื่อสารมิจฉาชีพยุคดิจิทัล“ บ้างหรือไม่?-อย่างไร?…

“เฟคนิวส์-แก๊งคอลฯ“ ก็ ปัญหาใหญ่“
ที่ผ่าน ๆ มา สร้างความเสียหายมาก“
ซ้ำร้าย นับวันจะยิ่งอันตรายมากขึ้น!!“

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูปัญหานี้กันอีกในภาพรวม โดยจะสะท้อนต่อข้อมูลแง่มุมน่าสนใจจาก เวที “Wit in Bangkok 2024” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-11 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเวทีดังกล่าวนี้ก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาสะท้อนข้อมูล-มาระบุถึง “ปัจจัย” ที่เป็นตัวกระตุ้นให้“เฟคนิวส์ระบาดง่ายขึ้น“โดยเฉพาะ “สังคมยุคดิจิทัล“ ที่มี “เทคโนโลยีก้าวหน้า“

เริ่มจาก สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคี โคแฟค (ประเทศไทย) บอกโดยสังเขปจากการสะท้อนไว้มีว่า… ที่จริงไม่อยากให้คำว่า ข่าวลวง ใช้คำว่า เฟคนิวส์ (Fake News) แต่ก็พอรับได้ เพราะติดปากประชาชนไปแล้ว โดยคำว่า News หรือข่าว ไม่ควรเป็นเรื่องไม่จริง เนื่องจากคือสิ่งที่อยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งอยากให้เรียกว่าข้อมูลคลาดเคลื่อน (Misinformation)หรือ ข้อมูลบิดเบือน (Disinformation) ที่หมายถึง ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งไม่ตั้งใจและตั้งใจ

ผู้ก่อตั้งภาคีเครือข่ายโคแฟค (ประเทศไทย) ระบุไว้ว่า… ยุคดิจิทัลเช่นนี้ ที่ข้อมูลแพร่กระจายได้เร็วมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้สื่อข่าวในโลกออนไลน์ แต่ด้วยความเร็วและปริมาณจึงทำให้รับมือไม่ไหว ส่งผลให้ข้อมูลหลายอย่างไปไกลจากความจริงมาก ยิ่งเมื่อมีคนเชื่อก็ยิ่งอันตราย เพราะข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือบิดเบือน ส่งผลทำให้ตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งไม่ได้มีแต่ข่าวปลอมเกี่ยวกับการเมือง ยังมีเรื่องอื่น ๆ เรื่องเทคโนโลยี และสุขภาพ ที่สำคัญ ข่าวไม่จริงบางอย่างก็ยิ่งทำให้ง่ายที่จะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ จนเป็นปัญหาซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากปัจจัยเทคโนโลยี

กับปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น ที่เกิดขึ้นจากเรื่องนี้นั้น ทางผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ยังระบุไว้ว่า… เมื่อดูสถานการณ์ในประเทศไทย จากการใช้งานแอปพลิเคชัน ฮูสคอลล์ (Whoscall) ที่เป็นแพลตฟอร์มระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม พบว่า… ปี 2566 ที่ผ่านมา คนไทยถูกมิจฉาชีพหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือการส่งข้อความแนบ Link มากเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย!!คิดเป็นมูลค่าความเสียหายหลักหมื่นล้านบาท!! นอกจากนั้น คนไทยยังมีแนวโน้มสูงที่จะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพกลุ่ม Romance Scam หลอกให้รัก หรือหลอกให้ลงทุน

“ปัญหานี้ไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นภาครัฐควรเน้นให้ถูกจุด และทุ่มเททรัพยากรในการแก้ปัญหา อย่างการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวลวง ก็ควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถรับมือมิจฉาชีพได้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาภาครัฐมักจะไปทุ่มเทกับการสกัดกั้นข้อมูลที่เป็นเรื่องการเมือง“ …เป็นมุมสะท้อนและข้อเสนอจากทาง สุภิญญา

ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมเวทีดังกล่าวด้วย ก็สะท้อนไว้บางช่วงบางตอนว่า… สิบกว่าปีที่ตนออกมาสื่อสารประเด็นต่าง ๆ ที่สังคมสงสัยหรือร่ำลือกัน ด้วยข้อเท็จจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ พบว่า… มีทั้งข่าวดี คือคนไทยมีวิจารณญาณมากขึ้น เช่น เรื่องน้ำมะนาวผสมโซดารักษาโรคมะเร็งได้ คนยุคนี้ก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง ซึ่งกรณีนี้ในอดีตต้องคอยตามอธิบายอยู่เรื่อย ๆ ว่าไม่เป็นความจริง แต่เมื่อทำบ่อย ๆ ข้อมูลปลอมที่เคยถูกแชร์ก็ค่อย ๆ ลดลง จากแทบทุกวันก็ลดเป็นสัปดาห์ หลักเดือน หรืออาจแชร์วนกลับมาเพียงปีละครั้ง

อย่างไรก็ตาม แต่ก็ยังมี ข่าวร้าย โดยทาง รศ.ดร.เจษฎา ระบุไว้ว่า… แม้จะมีข่าวดี ที่ข่าวไม่จริงหรือข้อมูลปลอมบางเรื่องค่อย ๆ หายไป หากแต่กลับ มีเฟคนิวส์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ดำรงอยู่ได้คือกิเลส เช่น ชอบมาก หรือกลัวมาก โดยขณะนี้ แพลตฟอร์มประเภทคลิปวิดีโอก็กำลังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง กรณีที่เป็นเรื่องไม่จริง เพราะคลิปวิดีโอยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือและดึงดูดสายตาคนได้ดีกว่าแพลตฟอร์มดั้งเดิม อีกทั้งการที่มีผู้ผลิตเนื้อหาหรือ Content Creator จำนวนไม่น้อยมีแนวคิดน่าเป็นห่วง เพราะมุ่ง ทำทุกอย่างหรือทำอะไรก็ได้เพื่อให้มียอดผู้ติดตามหรือยอดส่งต่อเนื้อหามากที่สุด กรณีนี้ก็ยิ่งง่ายที่จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะมีคนไม่น้อยที่พร้อมจะเชื่อ

“ในมุมที่บอกว่ามันดีขึ้น แต่ก็มีมุมที่น่ากังวล โดยที่น่าห่วงเวลานี้คือการเข้ามาของ AI ซึ่งน่ากลัวมาก โดยเฉพาะการใช้ AI ช่วยสร้างภาพ วิดีโอ หรือแม้แต่เสียง ที่เนียนมากขึ้นกว่าในอดีต จนบางทีแทบแยกไม่ออกแล้วว่าอันไหนจริงหรืออันไหนคือลวง ซึ่งเรื่องนี้กำลังเป็นเครื่องมือยอดนิยมของมิจฉาชีพ และเป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน“…ทาง รศ.ดร.เจษฎา ระบุไว้ในเวที Wit in Bangkok 2024 ซึ่งก็เป็น “ภาพสะท้อนปัญหาที่รุนแรงขึ้น” กว่าเดิม

“เฟคนิวส์-มิจฯยุคดิจิทัล“ นี่ ยิ่งร้าย!!“
“สะดวกลวง“ ก็ปัญหา ท้าทายฝีมือ“
“นายกฯอิ๊งค์“ จะ สู้ยังไง?-สู้ได้มั้ย?“.