แม้ว่ายังไม่เห็นหน้าแต่ก็รักและผูกพัน ด้วยวิทยาการในปัจจุบันที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้พัฒนาการของลูกในครรภ์รวมถึงโครงร่างของลูกน้อย คือการตรวจอัลตราซาวด์ แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า… การอัลตราซาวด์ในแต่ละช่วงอายุครรภ์แตกต่างกันอย่างไรกันแน่?

วันนี้ Healthy Clean ขอพาไปหาคำตอบกับ นพ.ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) ศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายไขข้อสงสัยให้กับคุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ ได้ทราบถึงความสำคัญของการตรวจอัลตราซาวด์ลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งปกติแล้ว สามารถแบ่งอายุครรภ์ได้เป็น 3 ไตรมาส ดังนี้..

ไตรมาสที่ 1 (อายุครรภ์น้อยกว่า 14 สัปดาห์)
การอัลตราซาวด์ในครั้งแรกของการฝากครรภ์ มักเป็นการยืนยันตำแหน่งของการตั้งครรภ์ว่าเป็นการตั้งครรภ์ในมดลูกหรือไม่ นอกจากนี้ยังใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดอายุครรภ์ร่วมกับการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยวัดความยาวของตัวอ่อน (Crown-rump Length) จากภาพอัลตราซาวด์ และการตรวจดูอวัยวะอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกรานอย่างมดลูกและรังไข่ประกอบ หลังจากนั้นประมาณช่วงอายุครรภ์ 10 สัปดาห์-13 สัปดาห์ 6 วัน ทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Maternal Fetal Medicine: MFM) จะตรวจอัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยง และคัดกรองโรคดาวน์ซินโดรมความพิการของทารกในครรภ์ ทำนายเพศ และการตรวจคัดกรองโรคครรภ์เป็นพิษ

ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์)
ช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการประเมินดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ โดยสามารถตรวจดูความสมบูรณ์ของอวัยวะต่าง ๆ ได้เกือบทั้งหมด ได้แก่
-กะโหลกศีรษะ และสมอง
-โครงสร้างใบหน้า ลูกตา เพดานปาก ริมฝีปาก
-ทรวงอก ปอด โครงสร้างของหัวใจ เส้นเลือดหัวใจ และการไหลเวียนของเลือด
-ช่องท้อง กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไต กระเพาะปัสสาวะ
-เพศ
-โครงสร้างกระดูก กระดูกสันหลัง กระดูกแขน ขา มือ เท้า นิ้วมือ และเท้า
-ปริมาณน้ำคร่ำ
-ประเมินน้ำหนักของทารกในครรภ์
-ตำแหน่งการเกาะของรก และสายสะดือ

ความผิดปกติที่พบบ่อย เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ สมองผิดปกติ หัวใจพิการ รกเกาะต่ำ หากตรวจพบความผิดปกติแต่กำเนิดในช่วงนี้ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม โดยการเจาะน้ำคร่ำหรือสายสะดือทารก เพื่อตรวจดูความผิดปกติของโครโมโซม รวมถึงการได้รับ คำปรึกษาจากผู้ชำนาญการเฉพาะทาง เพื่อวางแผนการดูแลระหว่างตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอด

นอกจากนี้ยังสามารถประเมินความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้ จากการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อวัดความยาวปากมดลูก หากมีภาวะปากมดลูกสั้นหรือปากมดลูกหลวม เพื่อที่จะได้รับการรักษาด้วยยาหรือการเย็บปากมดลูกได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 28 สัปดาห์จนถึงคลอด)
ในช่วงไตรมาสที่ 3 นั้น ประโยชน์ของการตรวจอัลตราซาวด์ คือการตรวจดูน้ำหนักของทารกในครรภ์เพื่อประเมินน้ำหนักก่อนคลอด ท่าของทารก ปริมาณน้ำคร่ำ และตรวจยืนยันตำแหน่งการเกาะของรกว่ามีรกเกาะต่ำหรือไม่ เพื่อประเมินความเหมาะสมของวิธีการคลอด และตรวจดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ที่อาจตรวจพบได้ในช่วงไตรมาสที่ 3

“แม้ว่าการตรวจอัลตราซาวด์จะสามารถตรวจพบความพิการแต่กำเนิดได้หลายชนิด แต่ความผิดปกติบางอย่างก็ยังไม่สามารถตรวจพบได้จากอัลตราซาวด์ เช่น ความผิดปกติ ที่มีขนาดเล็กมาก สติปัญญา ออทิสติก” แต่เดี๋ยวนี้ก็มีเทคโนโลยีที่ใช้การตรวจอัลตราซาวด์แบบ 2 มิติ ร่วมกับการอัลตราซาวด์ 3 มิติ และ4 มิติ เพื่อช่วยให้เห็นภาพใบหน้า และโครงสร้างภายนอกของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ โดยสามารถเก็บภาพ และคลิปวิดีโอ เป็นความทรงจำดี ๆ และยังเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างพ่อแม่ และลูกในครรภ์ด้วยครับ..

……………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
อ่านบทความทั้งหมดที่นี่……คลิก…