จนล่าสุด…นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องสั่งด่วนให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ การทำธุรกิจของแพลตฟอร์มนี้ว่าส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการเสียภาษี ที่กรมสรรพากร เร่งเข้ามาตรวจสอบ เพราะในเมื่อทำการค้ากับไทยก็ต้องเสียภาษีที่ไทย  และกระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี ก็ต้องไปดูว่าเ ป็นไปตามกฎหมายไทยในทุกด้านหรือไม่?

การรุกคืบของแพลตฟอร์มดังครั้งนี้ ย่อมมีผลต่อผู้ประกอบการไทยแน่นอน!! เพราะ ที่ผ่านมา “TEMU” ได้ยึดตลาดสหรัฐ และยุโรป ได้เป็นผลสำเร็จ

ขณะที่ในอาเซียน ก็เข้าบุกตลาดฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ส่วนไทย กำลังเป็นประเทศที่ 3 ซึ่งการรุกคืบเช่นนี้ ย่อมทำให้สงครามราคาครั้งใหม่ของ “อีคอมเมิร์ซ” จะปะทุขึ้นอีกครั้งและเป็นสงครามราคาที่ “รุนแรง”

ก่อนหน้านี้มีให้เห็นชัดเจนในเรื่องของ รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ที่มีการหั่นราคากันอย่างน่าตกใจ จากค่ายดังอย่างบีวายดี ก่อนตามมาด้วยค่ายยักษ์อย่างเทสลา เนต้า และอีกหลากหลาย

ปัญหาใหญ่การตัดราคา การทุ่มตลาดของสินค้าจีนในหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนเองต้องการระบายสต็อกสินค้าที่มีอยู่อย่างล้มหลามให้ลดลงน้อยที่สุด โดยอาศัย…กลยุทธ์และช่องทางการค้าในทุกรูปแบบ เพื่อให้สินค้าจีนออกสู่ตลาดโลก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก!! ที่หลายประเทศต้องเสียดุลการค้าให้กับจีน โดยเฉพาะไทยที่ขาดดุลการค้าจีนมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 67 ไทยขาดดุลการค้าจีนสูงถึง 7.2 แสนล้านบาท

ส่วนปี 66 ไทยขาดดุลการค้าจีนที่ 1.29 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 65 ที่ไทยก็ขาดดุลการค้าจีนกว่า 1.29 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปี 64 ไทยขาดดุลการค้าจีนกว่า 9.54 แสนล้านบาท

กลยุทธ์การค้าของ “TEMU” ได้ใช้จุดเด่นในการเป็น “ตัวกลาง” ระหว่างโรงงานผู้ผลิตสินค้าของจีน จึงทำให้สามารถลดราคาได้กว่า 90% ทีเดียว

นอกจากนี้ยังใช้โปรโมชั่นแบบจัดหนักจัดใหญ่จัดเต็ม ยิ่งทำให้การตั้งราคาสินค้าที่ถูกลงไปอีก แน่นอน!! เมื่อของถูกก็ต้องโดนใจขาชอป

ที่สำคัญ!! ยังมีการดึงจุดเด่นการขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว เน้นการจัดส่งฟรี หากมีปัญหายังส่งคืนฟรีและเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่โดยเร็ว รวมไปถึงการคิดค่าธรรมเนียมที่ต่ำ

ด้วยกลยุทธ์ เหล่านี้จึงไม่ต้องแปลกใจ หาก TEMU จะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปี 66 มียอดขายสินค้าโดยรวมถึง 1.5 หมื่นล้านดออลาร์สหรัฐ มีผู้ใช้งานในสหรัฐ มากกว่า 100 ล้านคน

การเติบโตขนาดนี้ เชื่อได้เลยว่าส่งผลกระทบต่ออีคอมเมิร์ซ !!ดังนั้นเมื่อ TEMU บุกเข้าไทย  “สงครามราคา” ย่อมเกิดขึ้นแน่ แม้จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค ต่อนักชอป

อย่าลืมว่าไทยส่งเสริมการค้าแบบอีคอมเมิร์ซ มาโดยตลอด เพื่อให้พ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการ ทำธุรกิจได้ง่าย ต้นทุนน้อย จนล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว มีมูลค่าตลาดสูงถึง 6.34 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังคาดว่าในปีนี้ ปี 67 ตลาดอีคอมเมิร์ซ จะเพิ่มเป็น 6.94 แสนล้านบาท ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค จากทิศทางจากแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกเรื่องในทุกด้านตลอดเวลา

ส่วนปีหน้า… ปี 68 ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะพุ่งสูนขึ้นไปจนแตะ 7.50 แสนล้านบาท โดยที่นักชอปใช้แพลตฟอร์มในการซื้อสินค้าและบริการเฉียด 67% กันทีเดียว

แม้เวลานี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พยายามปิดทุกช่องปิดทุกทาง เพื่อให้ไทยเสียเปรียบเรื่องของอีคอมเมิร์ซให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการให้กรมศุลกากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อแก้ปัญหาในด่านแรกไปแล้วก็ตาม

แต่ก็อย่าลืมว่า การปิดเพียงประตูแรก!! คงอาจไม่สามารถดูแลทั้งหมด เพราะจนถึงทุกวันนี้ สินค้าจากจีนก็ยังคงไหลทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี หากไม่เข้มแข็ง ปรับตัวได้ช้า หรือปรับตัวไม่ได้ ก็มีแต่ “ตายกับตาย”

เช่นเดียวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากยังนิ่งเฉยสไตล์ “รัฐ” หากไม่เปิดทาง ทำให้ “ต้นทุน” ของเอกชนลดน้อยถอยลง ไม่เพียงแค่รายเล็กรายย่อยเท่านั้น ที่จะตาย!! บรรดารายใหญ่เจ้าของแบรนด์เองก็ต้องก่ายหน้าผากรอวันตายไปด้วยเช่นกัน!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่