เมื่อพูดถึงโรคที่น่าเป็นห่วง หลายๆคนจะนึกถึงรคร้ายแรง อย่าง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไปจนถึงโรคไตกันใช่ไหมคะ? แต่อันที่จริงแล้วยังมีอีกหนึ่งโรคของคนไทย ที่น่าห่วงแต่หลายๆคนกลับละเลยอย่าง “โรคทางตา” ซึ่งสร้างความลำบากให้กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แล้วคนไทยเป็นโรคทางตาอะไรกันบ้าง? วันนี้ Healthy Clean ขอพาไปพูดคุยกับ นพ.วิวัฒน์ โกมลสุรเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ ที่จะเผยรายละเอียดกับเราในวันนี้กันค่ะ

“โรคทางตาในประเทศไทยเราที่เจอบ่อยที่สุด คือ “ต้อกระจก” ผ่ากันแสนกว่าตาทุกปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะว่าต้อกระจกมันมากับคนอายุเยอะ  ไม่ใช่แค่ประเทศเรา แต่ทั้งโลกนี่แหละอายุเยอะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันเป็น Aging Society แล้ว ที่บอกว่าเราจะมีอายุเกิน 60 ปีนั้น 20-30% ของประชากร โอกาสของคนเป็นต้อกระจกก็จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น”จริงๆ โรคตาหลายๆ อย่างมันขึ้นตามอายุ โรคตาที่แบบอันตรายร้ายแรงพอเราวัยรุ่นไม่ค่อยเป็นเท่าไหร่หรอก แต่พออายุเยอะโรคก็เริ่มมาแล้วจากความเสื่อมของร่างกาย

“โรคต้อกระจก” โดยทั่วไปมันไม่ได้อันตรายถึงกับทำให้ตาบอด แต่มีบ้างบางคนที่ทิ้งไว้จนเกิดต้อหินแทรกขึ้นมา ต้อหินเนี่ยแหละตัวร้ายที่ทำให้ตาบอด บอดแบบแก้ไม่ได้ ถ้าเป็นต้อกระจกเราผ่าเอาเลนส์เปิดเลนส์ในลูกตาของคุณ ถ้าเราผ่าออกไปได้เรียบร้อยดีใส่เลนส์ตาเทียมใหม่เข้าไปคราวนี้ก็กลับมาเห็นใกล้เคียงเดิม เหมาะสมกับอายุของเค้า ไม่ได้กลับไปเป็นคนอายุ 20 ปกตินะ ถ้าผู้ป่วยอายุ 70 ปี 80 ปี เมื่อผ่าตัดก็จะมองเห็นเหมือนตามอายุของเขา

“จริงๆ เด็กแรกเกิดก็เป็นต้อกระจกได้ ไม่ใช่แต่เป็นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะเป็นพันธุกรรมก็มี เกิดมาก็เป็นเลยแต่พบไม่บ่อย ต้องได้รับการตรวจตั้งแต่เล็กๆ” ถ้าหากว่าเป็นขึ้นมาหรือว่าเป็นแบบข้างเดียวต้องรีบรักษา พอโตขึ้นมาหน่อยในวัยทำงานอาการที่พบบ่อยๆคือ “กล้ามเนื้อตาล้า” เพราะว่าใช้มือถือ ใช้คอมพิวเตอร์  ก็เหมือนเราใช้กล้ามเนื้อเยอะมันก็เหนื่อยง่าย มีข้อแนะนำที่ผมเคยได้ยินสูตร 20 20 20 ที่ว่ามองไกล ๆ พักตา คือทำงานนึง 20 นาที ให้พักตา 20 วินาที โดยการมองไกล ๆ ก็คือประมาณ 20 ฟุต หรือ 6 เมตรประมาณนี้ มองออกไปมองหน้าต่างนะครับพักตาแล้วก็กลับทำงานใหม่เพื่อป้องกันการล้า พออายุ 40 ขึ้นไปก็จะมีโรคเริ่มมาแล้ว “ตาแห้ง” ผู้หญิงเป็นกันมาก

“ตาแห้ง” เกิดจากความเสื่อมของร่างกายเรา การสร้างน้ำตาเราสร้างแล้วไม่เพียงพอ น้อยไป มันระเหยเร็วขึ้นแล้วก็สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ฝุ่น ลม แดด ควัน ที่เราเจอ Pollution ทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นตัวกระตุ้น ในผู้หญิงฮอร์โมนก็มีส่วน ฮอร์โมนทำให้ผู้หญิงตาแห้ง จะเห็นว่าน้ำตาเทียมขายดีมีเต็มท้องตลาดเลย มีเยอะแยะไปหมด แต่ก็ต้องเลือกดีๆ  หลังจากนั้น เมื่ออายุเริ่มมากกว่า 40 ขึ้นไป จะเริ่มเป็น “โรคต้อกระจก ต้อหิน” จริงๆ ต้อหินเกิดได้ทุกอายุ เด็กๆ เกิดมาก็เป็นต้อหินได้เหมือนกันแต่ว่าจะเป็นมากตอนอายุเยอะ จอประสาทตาเสื่อมจากอายุ 60 70 ปีขึ้นไป

แล้วเราจะมีวิธีสังเกตตัวเองอย่างไร? ต้องบอกว่าโรคหลายอย่างคือถ้าหากว่าอาการที่มันมาแบบเด่นทันทีทันใดอันนี้เรารู้ อยู่ดีๆ ปวดขึ้นมา อยู่ดีๆ ตามัวไปข้างนึง มัวสองข้าง ถือว่าผิดปกติชัดเจน แต่โรคหลายโรคมันค่อยเป็นค่อยไป วันนี้กับเมื่อวานนี้มันก็ไม่ได้แตกต่างกันแต่พอมาวัดจริง ๆ ถึงจะเจอมันผิดปกติไปแล้วอันนี้ที่ใช้คำว่าภัยเงียบคือไม่ค่อยมีอะไรชัดเจนแต่มันค่อยมาช้าๆ โดยเฉพาะต้อกระจกอย่าทิ้งไว้หนักจนนับนิ้วไม่ถูกก็รักษาได้

“จริง ๆ ตาเราเนี่ย เราสามารถทำให้เห็นชัดใช้ชีวิตได้อยู่ในเกณฑ์ปกติจนวันสุดท้ายของชีวิตได้ ยกเว้นมีโรคบางโรคที่เราไม่สามารถแก้ไขได้” ก็มีนะที่เราไม่สามารถช่วยคนไข้ได้หรือว่าโรคที่ว่าเป็นหนักแล้วหมอเอากลับมาให้ไม่ได้  เพราะฉะนั้นเราควรตรวจตาเช็คตาเหมือนตรวจร่างกายประจำปี

“ส่วนใหญ่แล้วก็แนะนำว่าตรวจตาปีละครั้งก็ได้หรือ 2 ปีครั้งนะครับ เพราะ 80% ของประสาทสัมผัสมันอยู่ที่ตานะครับ ถ้าเราเสียตาไปเนี่ย โอเคแหละคนตาบอดก็ยังใช้ชีวิตประจำวันได้เนอะแต่ว่าหลาย ๆ อย่างในชีวิตมันหายไปนะครับ การใช้ชีวิตประจำวัน การไปมาเดินเหิน การสันทนาการความสุขทั้งหลายอย่างมันมาจากตาเราเนี่ยแหละครับ ถ้ามันหายไปเนี่ยเรื่องใหญ่ ที่บอกว่าฉันจะตายอยู่แล้วฉันจะแก่ตายอยู่แล้ว ไม่เป็นไรหรอกมองไม่เห็นก็ตาบอดไม่เป็นไร ถ้าหากว่าสามารถเห็นจนวันสุดท้ายของชีวิตมันดีกว่าเยอะนะครับ ก็อยากจะบอกว่าอย่าทิ้งเอาไว้ ที่บอกไม่ต้องรักษา กลัวเจ็บ กลัวเสียเงินเยอะ กลัวลูกหลานเสียเงินเยอะ แต่ว่าการมองไม่เห็นมันทำให้ครอบครัวเป็นภาระหนัก ฉะนั้นเราควรจะดูแลดวงตาให้ดีที่สุด สุขภาพร่างกายเราสำคัญครับ” ผอ.โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ กล่าวทิ้งท้าย..

……………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
อ่านบทความทั้งหมดที่นี่……คลิก