“…การมีข้อมูลด้านประชากรของคนกลุ่มนี้ที่ชัดเจน จะเอื้อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานให้คนกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับความต้องการ หรือช่วยแก้ไขปัญหาที่ตรงกับความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้“ …นี่เป็นเป้าหมายสำคัญในการริเริ่ม “เก็บข้อมูลสถิติประชากร LGBTQ+” เป็นครั้งแรก เนื่องจากแม้สังคมจะรับรู้การมีตัวตนของคนกลุ่มนี้ แต่ ไม่เคยรู้ “ตัวเลขจำนวน“ ว่า “ไทยมีประชากรเพศหลากหลายอยู่เท่าไหร่?“ เพราะไม่เคยมีการรวบรวม

ส่งผลกับ การออกแบบนโยบาย“…
ที่ “อาจไม่สอดคล้องความเป็นจริง“
จึงเป็น “ที่มาการจะสำรวจครั้งแรก“

เกี่ยวกับแนวคิดที่ ประเทศไทยจะมีการรวบรวม “ตัวเลข-สถิติ” ของ “ประชากรกลุ่ม LGBTQ+ ชาวไทย” ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ เรื่องนี้มีการเปิดเผยไว้เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ภายใต้ชื่อ “โครงการคาดประมาณขนาดประชากรหลากหลายทางเพศ และสถานการณ์ชีวิตและสุขภาพของ LGBTQ+“โดยจะถือเป็น ครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการสำรวจจำนวนประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ นั่นก็คือ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาและคุ้มครองสิทธิ รวมถึงสวัสดิการ ให้กับคนกลุ่มนี้…

สำหรับรายละเอียดของโครงการนี้ ทางหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่จะจับมือกันทำการสำรวจ “จำนวนประชากร LGBTQ+” ได้มีการให้รายละเอียดไว้ โดยสังเขปว่า… ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดข้อมูลประชากรและสถานการณ์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ชัดเจนและทันสถานการณ์ ซึ่งการที่ไม่ถูกมองเห็นเช่นนี้ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญปัญหาสุขภาวะในหลากหลายรูปแบบ
โดยเฉพาะจากปัญหาการ ขาดความรอบรู้เรื่องสุขภาพ (health literacy) ซึ่งเพื่อให้สามารถทำงาน สร้างเสริมสุขภาพให้ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาของคนกลุ่มนี้ ต้องมีฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนานโยบาย…

“ต้องสำรวจจำนวน“ ประชากรกลุ่มนี้

ส่วน “รูปแบบ-วิธีสำรวจ” นั้น เรื่องนี้ก็มีการให้ข้อมูลโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ ไว้ว่า… เนื่องจากไทยไม่เคยมีการคาดประมาณขนาดประชากรกลุ่มเพศหลากหลายอย่างเป็นระบบมาก่อน จึงจำเป็นจะต้องมีข้อมูลพื้นฐานก่อน ทางโครงการฯ จึงใช้การสำรวจ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่หนึ่ง “สำรวจประชากรทั่วไปอย่างเป็นระบบ“โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่ จ.ราชบุรี 2,400 ครัวเรือน และลักษณะที่สอง คือ “สำรวจเชิงพื้นที่นำร่องในสถานศึกษา“ จำนวน 3 ระดับ ในพื้นที่ จ.นครปฐม ประมาณ 1,100 คน กับกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 15-25 ปี โดยพิจารณาจากปัจจัยเชิงพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ความพร้อม ศักยภาพพื้นฐาน ลักษณะสังคมเศรษฐกิจระดับกลาง ไม่มีลักษณะบ่งชี้เป็นพื้นที่ซึ่งมี LGBTQ+ มากหรือน้อย

นี่เป็นวิธี-รูปแบบที่ใช้เพื่อ สำรวจ“
“ประชากร LGBTQ+ ประเทศไทย“

ถามว่า…สำรวจแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร? ปุจฉานี้ก็มีการแจกแจงไว้เช่นกัน โดยนอกจากจะนำไปใช้เป็น “สถิติเพื่ออ้างอิง” แล้ว การมีข้อมูลที่เชื่อได้ของประชากร LGBTQ+ เป็น “ความจำเป็น” ในการ “สร้างสังคมที่ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมที่มากขึ้น” ด้วย …นี่เป็นการแจงไว้ถึงประโยชน์ที่จะได้จากการสำรวจเรื่องนี้

อนึ่ง กับการสำรวจ “สำมะโนประชากร LGBTQ+” นั้น กรณีนี้ก็มีบทความวิชาการน่าสนใจ โดย รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ “แคนาดา“ ที่เป็น “ประเทศแรกของโลกที่มีการจัดทำข้อมูลสถิติประชากรหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+” โดยบทความดังกล่าวนี้เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์เดอะประชากร.คอม ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจ และน่าจะใช้เป็น “กรณีศึกษา“สำหรับประเทศไทยได้…

ทาง รศ.ดร.สุชาดา ฉายภาพการสำรวจเรื่องนี้ของแคนาดาไว้ว่า… นอกจากจะเป็นประเทศแรกในโลกที่จัดทำโครงการสำรวจประชากร LGBTQ+ แล้ว แคนาดายังจำแนกประชากรกลุ่มนี้ออกเป็นด้านต่าง ๆ ด้วย อาทิ ตามเขตที่อยู่อาศัย สถานะสังคม เศรษฐกิจ การมีคู่ สุขภาพ ซึ่งหากย้อนกลับไปดูช่วงที่แคนาดาเริ่มสำรวจ ใน แบบฟอร์มสำรวจ จะมีข้อแตกต่างจากแบบสำรวจที่เคยใช้ โดยมีการ เพิ่มคำถามเกี่ยวกับเพศภาวะ เข้าไป อีกทั้งยัง ขยายความเกี่ยวกับเพศให้ชัดเจนขึ้น …นี่เป็นกรณีศึกษาในต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะปัจจุบัน การรับรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศได้เปลี่ยนไปมากแล้ว…

การสำรวจประชากรก็ควรปรับเปลี่ยน

ทั้งนี้ ในบทความนี้ยังทิ้งท้ายถึง “การสำรวจข้อมูลสถิติประชากร LGBTQ+ ไทย” ที่กำลังมีการจัดทำไว้ว่า… ไทยมีประชากร LGBTQ+ อยู่เท่าไหร่? เป็นคำถามที่ถามกันมานานกว่า 2-3 ทศวรรษ ดังนั้นการที่ไทยมีแนวคิดที่จะรวบรวมข้อมูลคนกลุ่มนี้ไว้ใน “รายงานสำมะโนประชากร“ ย่อมเป็นการ ปูทางไปสู่การสร้างนโยบายที่ครอบคลุมและเท่าเทียมมากขึ้นและช่วยให้ “ประชากรหลากหลายทางเพศ” มั่นใจว่า…ปัญหาที่ “LGBTQ+ ไทย” เผชิญ จะได้รับการแก้ไขแน่ ๆ…

“ระบบ 2 เพศ“ เดิม ๆ จะอ่อนแรงลง“
“สลายเหลื่อมล้ำ“ นั้น จะมีการปูทาง“
ก็ จะดีต่อการสร้างนิเวศที่โอบรับ“.