วิกฤติปัญหาของ ปลาหมอคางดำ ถูกยกระดับให้กลายเป็น วาระแห่งชาติ ที่สำคัญกำลังท้าทายฝีมือ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน กับการแก้ปัญหาภาวะวิกฤติเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากจะกระทบโดยตรงต่อกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ

ที่น่าเป็นห่วงในอนาคต หากแก้ปัญหาหรือควบคุมการแพร่กระจายไม่ได้ เจ้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากทวีปแอฟริกา ถูกจัดให้เป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ ทนต่อโรคระบาด ขยายพันธุ์รวดเร็วตามแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำกร่อย ยิ่งเมื่ออยู่รวม ฝูงใหญ่ มีอานุภาพแบบทำลายล้าง หากินปลาท้องถิ่นนานาพันธุ์จนเกลี้ยง กระทบต่อสภาพแวดล้อมระบบนิเวศไทยแน่นอน เพียงแค่ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเดลินิวส์ ได้เปิดประเด็นข่าว จาก กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พบเห็นปลาหมอคางดำจำนวนมากเข้าไปโผล่อยู่ในบ่อเลี้ยงกุ้ง จนสร้างความเสียหายอย่างหนัก

ที่สำคัญเรียกว่าเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ มีการนำเสนอข่าวเจ้าสัตว์ต่างถิ่นกระจายลงไปในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อข่าวในพื้นที่เมืองคอนถูกนำเสนอ ทำให้เกษตรกรและชาวบ้านในภาคใต้ที่พบเห็นความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ สงขลา สุราษฎร์ธานี ชุมพร จนขึ้นมาถึง ประจวบฯ เจอทั้งในบ่อเลี้ยงกุ้ง ปลา แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ล่าสุดไปจับได้ในทะเล ไม่ไกลชายฝั่งเท่าไรนัก

ยิ่งเห็นภาพ-คลิป ฝูงปลาหมอคางดำ ที่ชาวบ้านนำลงโซเชียล โดยเฉพาะตามลำคลอง รอยต่อใกล้ปากทะเลพื้นที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  มากันเป็นฝูงดำทะมึน ลอยคอทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ตอนนี้น่าจะเป็นจังหวัดที่จับได้มากสุดในไทย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ปลาหมอคางดำเริ่มกระจายไปตาม จังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล รวมถึงใจกลางกรุงเทพฯ ในบึงมักกะสัน 

หากย้อนถอยหลัง เม.ย. 2561 กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เครือข่าย 4 อำเภอ 2 จังหวัด จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรี เคยออกมาเคลื่อนไหวไปร้อง เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับผลกระทบต่อการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำมาแล้ว เป็นพื้นที่แรก ๆ ที่ประสบปัญหาหนักจึงยื่นเรื่องเพื่อให้หา ต้นตอการระบาด และ การแก้ปัญหา แม้เรื่องจะเงียบหายไปในกลีบเมฆ แต่ข้อมูลหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ยังคงอยู่ที่ กสม.

กระทั่ง 26 ต.ค. 66 ปัญหาปลาหมอคางดำ ได้ถูกนำเข้าไปในสภา หลังรัฐบาลเศรษฐา เข้ามาบริหารประเทศ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล เขตบางบอนและบางขุนเทียน ตั้งกระทู้ถามได้ เรียกสอบบริษัทเอกชน ที่อาจจะมีผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อมเรื่องนี้หรือยัง การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จะแก้ไขปัญหาให้ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์หมดไปอย่างไร?

กว่า 8 เดือน จาก ต.ค. 66 ข้ามมาถึง ก.ค. 67 รัฐบาลเศรษฐา ได้รับรู้ปัญหาจากกระทู้ถามในที่ประชุมสภา แต่สถานการณ์ล่าสุด ปลาหมอคางดำขยายวงไปแล้ว 16 จว. ส่งผลกระทบทั้งเกษตรกร ระบบนิเวศมากขึ้นทุกวัน นอกจากนี้ยิ่งทำให้สังคมคลางแคลงใจ เมื่อสื่อตีแผ่ข้อมูล เอกชนขออนุญาตนำเข้าเป็นทางการในปี 2553 นำไปวิจัยในฟาร์ม จ.สมุทร สงคราม ขณะที่ กรมประมง ยืนยันตรวจข้อมูล “สมุดบันทึก“ ลงทะเบียนการลงรับนำสัตว์น้ำเข้า ไม่พบการนำส่ง “ซากปลา 50 ตัว“ กลายเป็นเรื่องทำให้ นายประยูร อินสกุล ปลัดเกษตรฯ สั่งด่วนให้กรมประมง ตั้งคณะ กก.ตรวจสอบข้อเท็จจริง การนำเข้าปลาหมอคางดำที่ผ่านมา และ สาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรง โดยให้รายงานผลภายใน 7 วัน

งานนี้ ระหว่างหน่วยงานรัฐ-เอกชน ใคร “หมกเม็ด” ข้อมูลบางอย่างเอาไว้? แต่ที่แน่ ๆ มีรายงานผลการตรวจสอบ 171/2561 ที่  กสม. เคยเรียกทั้งภาครัฐ-เอกชน-เกษตรกร ไปให้ข้อมูล พร้อมสรุปให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเอาไว้ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว หากรัฐบาลจะไปนำมาปัดฝุ่นดู คงจะเห็นอะไรดี ๆ บ้าง!.

………………………………….
เชิงผา

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…