ขณะที่ผู้ใหญ่ตั้งแต่รุ่นนั้นเห็นว่าค่านิยมของเขามันถูก ซึ่งน่าจะลงมาถึงรุ่น Gen X ( หรือ Y บางส่วน) ที่ยังพอยอมรับได้ เพราะผ่านการกล่อมเกลาด้วยชุดการสั่งสอน ชุดค่านิยมแบบนั้นมา โดยเฉพาะค่านิยมที่ว่า “เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด” คือต้องมีความเชื่อฟังผู้อาวุโส และผู้อาวุโสก็ต้องไว้ตัวไม่ลงไปสนิทเล่นหัวกับเด็กมาก เพราะเดี๋ยวจะ“เสียการปกครอง-ไม่ได้รับความเคารพ”

การทำความเข้าใจคนในแต่ละรุ่น ก็เหมือนการศึกษาประวัติศาสตร์ คือไม่ใช่เข้าใจแค่สถานการณ์ แต่ต้องเข้าใจวิธีคิด คนโตมาในรุ่นเบบี้บูม น่าจะมีความห่างเหินกับพ่อแม่พอสมควรเพราะค่านิยมแบบโบราณที่สร้างให้พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณสูงสุด มีความไว้ตัวกับลูกระดับหนึ่งเพื่ออำนาจในการสั่งสอน รักและหวังดีต่อลูก ลูกห้ามเถียงห้ามเห็นต่าง และยิ่งบางครอบครัวมีลูกมากการปกครองก็ยิ่งเข้มงวด ( ให้ลองนึกภาพพ่อแม่จากหนังดังเรื่อง ธี่หยด จะเห็นภาพ ) ลูกไม่ได้เรียนสูงมาช่วยงานครอบครัว การประสบความสำเร็จคือได้ทำงานหลวง ( รับราชการ ) เพราะมียศฐา มีสวัสดิการหลวงเลี้ยง การถูกกล่อมเกลาแบบนี้มีผลต่อความคิดที่พอตัวเองโตขึ้น ก็“เว้นระยะ”กับผู้อ่อนอาวุโสกว่า ไม่ชอบให้เถียง

.. ต่อมา ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ คือการเข้าถึงสื่อมวลชน ทำให้เกิดการเปิดโลกของเยาวชน เด็กใช้เวลากับเพื่อนที่โรงเรียนมากขึ้น เพื่อน สื่อ ก็มีอิทธิพลต่อความคิดของคนรุ่นนั้น

แล้วก็มีแนวคิดว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่ถูกคนรุ่นเก่าสั่งสอนมา ต้องได้รับการรื้อถอน เพราะมันเป็นเรื่องกดทับ กดดันให้ยอมจำนนต่ออำนาจ ขณะที่คนรุ่นใหม่ๆ เห็นภาพอันพึงประสงค์ของชีวิตที่เสรีมากขึ้น และการเข้าถึงสื่อที่ง่ายและเร็วขึ้นทำให้คนเราอยากมีตัวตนมากขึ้น วิธีคิดก็ยิ่งแตกต่างจากคนรุ่นเก่าที่สงวนตัว สงวนความคิด น้ำขุ่นไว้ในน้ำใสไว้นอก การเป็นคนเปิดเผย ตรงๆ ดูจะได้รับการยอมรับมากกว่า ..นอกจากทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสาร สื่อในยุคใหม่ทำหน้าที่ในการสร้างสาธารณมติและการเคลื่อนไหวมากขึ้น เช่น การให้คนเข้ามามีความเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสังคม และกลายเป็นการผลักดันสังคมให้เปลี่ยนแปลง มีการนัดกันเคลื่อนไหวทั้งบนพื้นที่อินเทอร์เนตและพื้นที่จริง

 ก็กลายเป็นว่า มีผู้ใหญ่หลายๆ คนมองว่า“เด็กสมัยใหม่ไม่น่าเอ็นดู” แล้วก็พาลไปว่าบางพรรคการเมืองล้างสมองเด็ก ซึ่งเรื่องนี้ก็แล้วแต่จะมองว่า การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมฝั่งซ้ายมีผลต่อความคิดของคนรุ่นใหม่หรือไม่ ..แต่อย่างไรก็ตาม คนรุ่นเก่าก็ยังพยายามที่จะคงการใช้อำนาจของตัวเองไว้ ด้วยวิธีต่างๆ ตามวิธีคิดของเขาที่เห็นว่า มีเหตุผล สมควรแล้ว ซึ่งวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ อาจมองว่า ไม่มีเหตุผลและดูน่าตลกเอาก็ได้

เมื่อไม่นานมานี้ มีดราม่าเกิดขึ้นในสังคมอุดมดราม่าไทยแลนด์ เรื่องชุดนักกีฬาไปโอลิมปิค ที่ออกมาเป็นทรงพระราชทาน สีฟ้า แบบแก่ ชาวเน็ตเอาไปตัดต่อรูปหัวตัวเองใส่กันใหญ่ มีข้อความเย้ยหยันขบขันประเภท “อบต.ไทยจะไปโอลิมปิค” แล้วก็ควานหาตัวกันใหญ่ว่า “ใครเป็นคนอนุมัติ” ดราม่าลามไปถึงตัวลายเสื้อ จนทางแบรนด์ที่ออกแบบลายต้องร่อนหนังสือชี้แจงว่า “ไม่ได้เกี่ยวกับกระบวนการออกแบบตัดเย็บ” และมีรายงานข่าวต่อมาว่า ห้องเสื้อเก่าแก่แห่งหนึ่งเป็นผู้ตัดเย็บ ห้องเสื้อก็ออกมาปฏิเสธเช่นกัน..ไม่ใช่ฉัน สรุปคือจับมือใครดมไม่ได้ว่า ใครตัด

คือที่เขาขบขันกันใหญ่เพราะแบบแก่ การโพสต์ การจัดองค์ประกอบภาพอะไรแก่ แก๊ แก่..คนใส่เป็นทรงกระบอกมาเชียว ทั้งที่การแข่งกีฬานั้น ชุดมันควรจะมี curve ความสวยงามกล้ามเนื้อของนักกีฬาก็จะสวยกว่า แล้วก็มีการเอาไปเปรียบเทียบกับชุดพิธีการของประเทศอื่น โดยเฉพาะมองโกเลีย ที่นิตยสารชื่อดังหัวนอกจัดให้เป็นชุดโอลิมปิคที่ดีที่สุด เป็นการผสมผสานระหว่างความโมเดิร์นกับแบบและลายวัฒนธรรมชนเผ่า ( แม้ว่าจะมีข่าวว่า ชาวมองโกเลียไม่ค่อยปลื้ม เพราะมีการล็อคสเปคของผู้ตัดเย็บชุดก็ตาม )

ชุดทรงพระราชทานของไทยเหมือนว่าน่าจะใช้เฉพาะกับส่วนงานพิธีการ ชุดแข่ง ชุดเข้าสนาม อาจปรับเปลี่ยนโดยใช้ชุดจากแกรนด์สปอร์ตที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลายบ้านเชียง ซึ่งดูแล้วก็สวยอยู่ทั้งชุดใส่แข่งทั้งแจ็คเก็ต แต่ปรากฏว่า “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในกรรมการโอลิมปิคออกมาแสดงท่าทีเรื่องชุดเจ้าปัญหาแบบ“แก้สถานการณ์ไม่ถูกใจสังคม” คือออกมาในเชิงกราดเกรี้ยวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องใส่อารมณ์มากก็ได้ สังคมสมัยนี้ไม่ใช่สังคมประเภทคนใหญ่คนโตออกมาโวยวายอะไรแล้วคนกลัว แต่ออกไปทาง “ยิ่งเต้นคนยิ่งล้อ” เสียจะมากกว่า กลายเป็นภาพลักษณ์ของคณะกรรมการโอลิมปิคหัวโบราณ ควรปลดออกให้คนใหม่ๆ มาทำได้แล้ว

…ลามไปที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า “กราดเกรี้ยวทำไมอ่ะ ?” คือแค่เพราะกระทบอัตตาหรืออย่างอื่น แล้วจะลามไปว่า ตกลงการบริหารจัดการค่าแบบ ค่าชุดนี่ เป็นอย่างไร เลือกตามรสนิยมใคร ถ้ารู้ว่า มันเชยก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มาทำดีไหม ไหนๆ ประเทศไทยก็จะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เสื้อผ้า แฟชั่นก็เป็นด้านหนึ่งที่เอามาเล่นความคิดสร้างสรรค์ได้ตั้งเยอะ แล้วตกลงใครตัด ? งบประมาณเท่าไร ..และก็มีบางคนที่บ่นๆ ว่า พวกบอร์ดกีฬาหลายอย่าง มักจะเป็นพวกทหารแก่ไปนั่งคุม ไม่ทราบว่า ผลประโยชน์ต่อปีเท่าไร และทำไมต้องให้ทหารแก่คุม ?  บางคนเขาสงสัยลามไปว่า “จริงๆ ความรู้ความสามารถมีหรือไม่ หรือจ้างที่ปรึกษาเป็นหางว่าว ประธานบอร์ดแค่ฟังกรรมการ เคาะตามที่ปรึกษาเสนอ”

เอาจริง เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า เหมือนคนยุคเก่าๆ แก้ปัญหาง่ายๆ ไม่เป็นเพราะอัตตาเยอะ ดราม่าแค่นี้จริงๆ ไม่ต้องอารมณ์ขึ้น ไม่ต้องไปด้อยค่าชุดประเทศอื่นเป็นลิเกเป็นงิ้ว ( คือก่อนจะด้อยค่าลิเก เขาเข้าใจคุณค่าของลิเกในแง่ของความเป็นศิลปวัฒนธรรมไทยหรือไม่ และเขาทราบหรือไม่ว่า นักแสดงลิเกดังๆ นี่รายได้เท่าไร ลิเกอาจเป็นต้นกำเนิดของวิธีคิดแบบแม่ยก ซึ่งสร้างมูลค่ามหาศาลในวงการบันเทิงปัจจุบันด้วยซ้ำ เปลี่ยนเป็นคำว่า เปย์ศิลปิน ) ..มีดราม่าก็แค่บอกว่า “สังคมว่าแบบนี้เหรอครับ อืม ก็จะรับไปพิจารณา และแก้ไขให้คนไทยชอบ และภูมิใจมากขึ้น” แค่เนี้ย.. ดราม่ามันก็ไม่แรง

อัตตาของคนเรา บางครั้งไม่ใช่แค่เรื่องวัย แต่มาจากยึดมั่นในเกียรติยศ อำนาจ ค้ำคอไว้ แบบใครไม่คล้อยตาม และยังกระด้างกระเดื่องถือว่าเสียเหลี่ยม เสียเกียรติ ผลคือ การยิ่งดึงดันจะใช้อำนาจในการแก้ปัญหามันจะขยายช่องว่างความไม่เข้าใจระหว่างวัยกันมากขึ้น เพราะชี้ให้เห็นว่า “คนแก่ก็ไม่ฟังเสียงคนวัยรุ่น” เอาแต่เรียกร้องว่าตัวเองถูก ยกข้ออ้างอาบน้ำร้อนมาก่อนๆ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยมันเร็วมาก ..เทคโนโลยีเปลี่ยน นิสัยคนเปลี่ยน เอาแค่ง่ายๆ เรื่องการเข้าถึงการสื่อสารได้ง่ายด้วยการพัฒนาอินเทอร์เนตและสมาร์ทโฟน มันส่งผลถึงระดับการเปลี่ยนวิธีคิดของรุ่นทีเดียว

การพยายามเอาชนะแบบคนเก่าๆ แก่ๆ บางทีมันกลายเป็นภาพโศกนาฏกรรม ที่ไม่ได้หมายถึงใครตาย แต่คือการพยายามยึดอัตตาจนนอกจากปัญหาแก้ไม่ได้แล้วตัวเองยิ่งพัง ( โศกนาฏกรรม หรือ tragedy เป็นพลอตเรื่องที่ว่าด้วยตัวเอกที่ต้องมาพังเพราะข้อบกพร่องหรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งเดียว ถลำลึกเข้าสู่หายนะ..เอากลิ่นอายแบบไทยๆ ก็บ้านนางเอกในละคร“ขมิ้นกับปูน”ที่ข้อบกพร่องคือตัวพระยาอภิบาล หัวหน้าครอบครัว ยึดมั่นในเกียรติศักดิ์ศรีตัวเองจนไม่สามารถพาครอบครัวไปตลอดรอดฝั่งในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ ) ก็อย่างคนใหญ่คนโตรายหนึ่งที่ไปด้อยค่าชุดมองโกเลีย ต่อมา ลูกหมั่นไส้ทำให้พอเขาพลาด ก็ถูกชาวเน็ตดูถูกกลับเรื่องปล่อยบ้งที่ว่านักบอลสเปนจริงๆ เกิดที่ยะลา

การ“เอาชนะ”ที่ดูแย่มาก บางครั้งออกมาในรูปเรื่องอื่นแพ้ คนไม่แพ้ เลยใช้อำนาจข่มเหงคนศักดิ์ต่ำกว่า อย่างเมื่อครั้งหนึ่ง มีการนำเสนอข่าวในเชิงตลกๆ ว่า ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่งมีบัตรประชาชนที่อำเภอออกให้ผิดพลาด ไปเกิดวันที่ 30 กุมภาพันธ์ ซึ่งมันก็เป็นเรื่อง “ถี่ลอดตาช้าง” บางทีก็มีพลาดกันได้ ก็แค่ขำๆ และแก้ไขกันไปก็จบ

ปรากฏว่าไม่ใช่แบบนั้น รมว.มหาดไทยขณะนั้น คือนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ออกมากราดเกรี้ยวทำนองว่า “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็เป็นกลไกของมหาดไทย ทำไมถึงเอาเรื่องแบบนี้มาทำให้ดูเหมือนระบบทะเบียนของมหาดไทยเสื่อมเสีย” คือระดับรัฐมนตรี ทำท่าจะเอาเรื่องผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน..ก็คิดดูแล้วกันว่า “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คนบ้านนอกซื่อๆ ตาดำๆ” เขาจะรู้สึกอย่างไร กลัว ตกใจ เสียใจ..พอ “ผู้ใหญ่” เล่นใหญ่เกินเบอร์แบบไม่มีพรหมวิหาร 4..ซึ่งเป็นธรรมะของนักปกครองประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา กับ “ผู้น้อย”  จากเรื่องขำๆ เล็กๆ น้อยๆ มันกลายเป็นภาพการใช้อำนาจในการข่มเหงไปเสียอย่างนั้น และทำให้ผู้น้อยเป็นทุกข์

เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ก็รู้สึกเสียดาย…ถ้าเป็นปี พ.ศ.นี้ อาจเกิดกรณี “มุตาไม่ยอมเป็นเหยื่อของแกอีกต่อไป” คือกระแสชาวเน็ตนั่นแหละจะสับแหลก มท.1 ว่าเล่นใหญ่เกินเบอร์ ไม่เห็นใจชาวบ้าน อาจโจมตีต่างๆ ลามไปมีใครไปขุดตอนทำอะไรบ้งๆ มาเล่นบ้างแบบคนใหญ่คนโตในคณะกรรมการโอลิมปิคถูกชาวเน็ตแซวอยู่ในขณะนี้เรื่องนักบอลสเปน ..จะว่าคนรุ่นใหม่กระด้างกระเดื่อง..มันก็แล้วแต่ว่า จะใจกว้างในการนิ่งฟังก่อน แล้วค่อยมีปฏิกิริยาหรือไม่  ถ้าเริ่มจากวิธีคิดว่า วัยวุฒิไม่มีปัญหาต่อการพูดคุย ก็ต้องปรับจูนให้เข้ากันให้ได้ทั้งสองฝ่าย

คนรุ่นเก่า บางเรื่องก็อย่าเล่นใหญ่เกินเบอร์ว่าคนรุ่นใหม่งี่เง่าไม่เชื่อฟัง เปิดใจฟังกัน อย่าลืมว่า มันมีตัวแปรหลายอย่างที่ทำให้สังคมเปลี่ยนไป และวิธีคิดคนเปลี่ยน คนรุ่นใหม่เอง ก็เปิดใจรับฟังคนรุ่นเก่าที่เขาให้เหตุผลบ้าง เช่น เรื่องความสำคัญของระเบียบวินัย หรือไม่ก็ชี้แจงในสิ่งที่ยังไม่มีความเข้าใจกันด้วยวิธีที่ไม่ใช่การด้อยค่า หยุดฟังกัน ชี้แจงกัน และเข้าใจความแตกต่างทางความคิด แล้วความแตกต่างระหว่างรุ่นจะอยู่กันได้ อาจเป็นเรื่องอุดมคติแต่ถ้าทำได้ในบางประเด็นทางสังคมก็ดี   

ไม่มีชุดความคิดไหนถูกต้องทั้งหมดหรอก ประสบการณ์และวิธีคิดของรุ่นเป็นตัวกำกับมันอยู่.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่