คากาเม ผู้นำโดยพฤตินัยตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2537 ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สี่ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนทท่วมท้น 99% สร้างเขตอิทธิพลที่ใหญ่โตกว่าขนาดของประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อพัฒนาประเทศและยึดฐานอำนาจของเขา

“รวันดากำลังดำเนินตามกลยุทธ์นโยบายต่างประเทศที่แท้จริง ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกา อีกทั้งกองกำลังป้องกันประเทศรวันดา (อาร์ดีเอฟ) ยังเป็นหนึ่งในเสาหลักของนโยบายนี้ แม้บทบาทจะมีความขัดแย้งกันก็ตาม” นายพอล-ไซมอน แฮนดี ผู้อำนวยการฝ่ายแอฟริกาตะวันออก จากสถาบันเพื่อการศึกษาด้านความมั่นคง (ไอเอสเอส) กล่าว

อนึ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) กล่าวหาประเทศเพื่อนบ้านอย่างรวันดา มานานหลายปี ว่าก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในภาคตะวันออก, ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ รวมถึงกลุ่มกบฏ 23 มีนาคม หรือ “เอ็ม23” ที่นำโดยกลุ่มชาติพันธุ์ทุตซี, ส่งทหารเข้ามาประจำการ และพยายามขโมยทรัพยากรแร่ธาตุของประเทศ

DW News

รายงานล่าสุดของผู้สันทัดกรณีจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ทหารรวันดา 3,000 – 4,000 นาย กำลังสู้รบร่วมกับกลุ่มเอ็ม23 และรัฐบาลคิกาลี มีการควบคุมโดยพฤตินัยต่อปฏิบัติการของกลุ่มนี้ ซึ่งเมื่อคากาเม ถูกถามถึงประเด็นข้างต้นซ้ำหลายครั้ง เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธอย่างชัดเจนถึงการมีอยู่ของกองกำลังรวันดา ในดีอาร์คองโก แต่ชี้ให้เห็นถึง “การข่มเหง” ชาวทุตซี และความเสี่ยงของความไม่มั่นคงบริเวณชายแดนของรวันดาแทน

แม้บทบาทที่คลุมเครือของรวันดา ในดีอาร์คองโก ทำให้รัฐบาลคิกาลี สูญเสียการสนับสนุนทางการเงินจากชาติตะวันตกไปบางส่วน แต่ขณะเดียวกัน คากาเมก็สถาปนากองทัพของเขาให้เป็น “ตำรวจแห่งแอฟริกา”

ด้านนายเฟเดอริโก โดเนลลี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยทรีเอสต์ กล่าวว่า การเข้าร่วมและการเป็นผู้นำภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็น และภารกิจทางทหารฝ่ายเดียว ทำให้รวันดา เสริมสร้างภาพลักษณ์ระดับโลก และความเกี่ยวข้องเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น อาร์ดีเอฟยังประจำการภายใต้ข้อตกลงระดับทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ เช่น สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (ซีเออาร์) และโมซัมบิก ซึ่งพันธกรณีทางทหารเหล่านี้ มักจะมาพร้อมกับข้อตกลงทางเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสในการพัฒนาให้กับรวันดา ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติหรือฐานอุตสาหกรรมเป็นของตนเอง และต้องพึ่งพาเงินทุนระหว่างประเทศ

ขณะที่โดเนลลี ระบุเสริมว่า คากาเมมีความสามารถในการอ่านกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะเขารู้ว่า ผู้มีบทบาทจากชาติตะวันตก ลังเลที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติในแอฟริกามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคากาเม กำลังใช้บทบาทของรวันดาในฐานะพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในวิกฤติ เพื่อลดการวิพากษ์วิจารณ์จากชาติตะวันตก และเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายในประเทศ เช่น การขาดการพัฒนาประชาธิปไตย, การรวมศูนย์อำนาจ และความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP