ความปั่นป่วนในตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ยังคงมีมาไม่ขาดสาย…เรียกว่า ถาโถมปัญหาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนปีนี้ปี 67 ก็ผ่านพ้นมาเกือบจะ 7 เดือนแล้ว แต่ปรากฏว่าดัชนีหุ้นไทยก็ยังไปไม่ถึงไหน ยังไม่สามารถพลิกฟื้นคืนชีพเหมือนดั่งเก่าก่อนที่เคยมีได้ เพราะบรรดานักลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศยังคงขาด “ความเชื่อมั่น” ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเป็นการขาดความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน

เริ่มก่อเชื้อจาก “หุ้นมอร์”

ทั้งนี้ทั้งนั้น!! หากย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมาคงจำกันได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยเริ่มก่อเชื้อมาตั้งแต่ ประเด็นของ “มอร์ รีเทิร์น” หรือ “หุ้นมอร์” หุ้นฉาวที่โดนข้อหาฉ้อโกง หรือปล้น 11 โบรกเกอร์  ที่เริ่มจากหุ้นมอร์มีปริมาณซื้อขายผิดปกติ โดยมีการจับคู่ทำธุรกรรมมูลค่ากว่า 4,300 ล้านบาท มากกว่า 10 เท่าตัวของปริมาณซื้อขายเฉลี่ย อีกทั้งราคาเปิดยังกระโดดเป็น 2.90 บาท หรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้นถึง 4.3% ก่อนจะร่วงเหลือ 1.37 บาทในวันต่อมา

เหตุการณ์ข้างต้นไม่ต่างจาก “เจ้าทุบ” หลังจากปั่นราคาหุ้นจนพอใจ แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยและในแวดวงของหุ้นตัวเล็ก แต่กรณีนี้ต่างออกไป เพราะเงินที่ใช้ซื้อหุ้นดังกล่าวคือวงเงินกู้จากบริษัทโบรกเกอร์ 11 แห่งมูลค่า 4,350 ล้านบาท และสุดท้ายไม่มีการส่งมอบเงิน เพื่อชำระค่าหุ้นจนเกิดการฟ้องร้องและยึดทรัพย์ และ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษกลุ่มบุคคลกรณีร่วมกันสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในการซื้อขายหลักทรัพย์มอร์ทั้งหมด  32 ราย

สตาร์ค”สะเทือนขวัญหนัก

ถัดมาช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2566 เกิดเหตุสะเทือนขวัญตลาดหุ้นไทยครั้งใหญ่ กับคดีฉ้อโกง และตกแต่งบัญชีในตลาดหุ้นไทยของ บมจสตาร์ค คอร์ปอเรชั่น หรือ หุ้นสตาร์ค ที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้ถือหุ้นครอบครัวดัง ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง แต่ที่เกิดกระแสความไม่มั่นใจของนักลงทุนก็คือ การโยกเงินสินเชื่อสถาบันการเงิน–การระดมทุนหุ้นกู้ และเงินเพิ่มทุน ออกไปจากบริษัทไปแบบง่าย ๆ จนเกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทกันเลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด

หุ้นกู้เริ่มมีปัญหา

ผลกระทบที่ตามมา คือ ทำให้ ตลาดหุ้นกู้ปั่นป่วน ผู้ออกไม่สามารถระดมทุนได้ผู้ซื้อไม่เชื่อมั่น จนเกิดปัญหาตามมาอีกหลายราย เห็นได้จาก “บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล” หรือ เจเคเอ็น มีการ “ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้” จำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยทั้งสิ้น 609 ล้านบาท และลามไปถึงหุ้นกู้ชุดอื่นอีก 5 ชุด รวม 3,000 ล้านบาท จนเจเคเอ็นต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการแบบเร่งด่วน และนำไปสู่การคัดค้านของเจ้าหนี้หลายครั้ง

ยักษ์อสังหาฯเลื่อนใช้หนี้

เช่นเดียวกับ ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ อย่าง “บมจอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” หรือ ไอทีดี ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเข้าขบวนกับเค้าด้วยเหมือนกัน แต่ก็เกิดปัญหาสภาพคล่องจนต้องขอเลื่อนการชำระหนี้เงินต้น หุ้นกู้ 5 ชุด มูลค่า 14,455 ล้านบาท ออกไป 2 ปี และได้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้หุ้นกู้ รวมไปถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินสูงถึงเกือบ 30,000 ล้านบาท ซึ่งก็กลายเป็นว่ามีปัญหาการชำระหนี้ตามมา

กระทั่ง หุ้นที่ “เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้ง” “หรือ เจมาร์ท ราคาหุ้นร่วงยกกลุ่มจากงบการเงินบริษัทลูกเข้าสู่ภาวะขาดทุน และมีข้อกังขางบการเงิน จนกระทบหุ้นแม่เผชิญปัญหาสภาพคล่องหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องออกมายืนยันว่าไม่กระทบสภาพคล่อง แต่ถูกฟอร์ซเซลล์หรือการบังคับขาย จนเกิดการขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมา หลายรายถูกฟอร์ซเซลล์

หุ้นนางงาม “บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ เอ็มจีไอ ก็ไม่รอด ราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงลิบลิ่ว 65 บาท จากเปิดซื้อขายแก่ประชาชนครั้งแรก หรือ ไอพีโอที่ 4.95 บาท จากนั้นในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน ราคาหุ้นเอ็มจีไอดิ่งทันทีหลังมาตรการหยุดพักซื้อขายที่ 17.60 บาท จากข้อสงสัยว่าเป็นการชอร์ตเซลล์ จนถูก ฟอร์ซเซลล์ หรือไม่ นี่…ก็กลายเป็นคำถามในสังคมไทยไม่น้อยเช่นกัน แม้หลายคนจะเล็งเห็นถึงสาเหตุก็ตาม

ขณะที่ “บมจ.สบาย  เทคโนโลยี” หรือ สบาย ก็ถูกถล่มขายอย่างหนัก จนร่วงหล่นติดฟลอร์ หรือราคาลงต่ำสุดถึงระดับ 30% ทีเดียว แถมยังเป็นการลดต่ำลงติดต่อกันถึง 2 วันซ้อน โดยตลาดหลักทรัพย์ระบุถึงสาเหตุที่หุ้นทรุดหนักว่าเกิดจากการขายที่กระจุกตัวในบุคคลบางราย แต่เบื้องหลังแรงขายที่กระหน่ำใส่ สบาย จริง ๆ เกิดจากการบังคับขาย หรือ ฟอร์ซเซลล์ซึ่งมีทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ของสบาย และนักลงทุนรายย่อยที่ถูกโบรกเกอร์บังคับขาย

ตามมาด้วยการเปิดงบ “สบาย คอนเน็กซ์ เทค “ ที่มีรายการนำเงินจากการกู้กลุ่ม สบาย และซื้อหุ้นเดียวกันกลายเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งก็ทำให้หลายคนหลายฝ่าย “ไม่สบาย” ตามชื่อกลุ่มไปด้วยเช่นกัน

เมื่อตลาดหุ้นกู้ตราสารหนี้เกิดปัญหาทำให้แหล่งระดมทุนตลาดหุ้นกลายเป็นจุดเสี่ยงตามมา เกิดกรณีหุ้นถูก ชอร์ตเซลล์ ตามมาด้วยการถูกบังคับขายหุ้น หรือ ฟอร์ซเซลล์“

ปีนี้เหตุก็เกิดกับ “เน็กซ์ พอยท์” หรือ เน็กซ์ ธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์เชิงพาณิชย์พลังงานไฟฟ้า ที่ราคาร่วงดิ่งลงหลังจากการประกาศเพิ่มทุนครั้งใหญ่ และภายในช่วงเวลา สั้น ๆ การเพิ่มทุนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด และเพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน 

นอกจากนี้ยังมีการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการตอบรับจากตลาดด้วยการซื้อขายที่มีมูลค่าสูงถึง 665 ล้านบาท และเป็นการแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองของตลาดต่อข่าวสารทางการเงินที่สำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทั่วไป

หุ้นอีเอดิ่งจนน่าตกใจ

ล่าสุด เมื่อเดือน มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา ได้เกิดขึ้นกับอีกหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ “บมจ.พลังงานบริสุทธิ์” หรือ อีเอ ที่ราคาหุ้นดิ่งลงจากหลักร้อย เหลือแค่หลักสิบ จน “นายสมโภชน์ อาหุนัย” ผู้บริหาร ออกมาตั้งโต๊ะแถลง ว่า ได้นำหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้ จากนั้นเกิดข่าวลือในทางลบ มีไอ้โม่งปล่อยข่าวที่ทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นของบริษัท มีการติดต่อไปยังผู้ถือหุ้นรายใหญ่โน้มน้าวให้ขายหุ้นทิ้ง จนทำให้เกิดความบอบช้ำมากมาย

อีกทั้ง หุ้นก็ถูกชอร์ตเซลล์มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อหุ้นถูกเทขายออกมามาก ๆ ทำให้ราคาหุ้นลดลงและเกิดการถูกฟอร์ซเซลล์ ทำให้เกิดความเสียหาย และโดยส่วนตัว “นายสมโภชน์” ก็ถูกฟอร์ซเซลล์ด้วยเช่นกัน

พายุลูกใหม่ผู้บริหารทุจริต

จากนั้นผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์ ก็เกิดพายุลูกใหม่ขึ้นกับ “อีเอ” เมื่อทาง ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหารอีเอ และนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ร่วมกันทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่า 3,466 ล้านบาท จนต้องยุติบทบาทผู้บริหารไปต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

ตัวผู้บริหารออกไปแล้ว แต่เคราะห์ร้ายยังเกิดขึ้นกับตัวบริษัทอีเอ สารพัดปัญหา ทั้งโดนถอดออกจากหุ้นยั่งยืน ลดระดับเครดิตเรตติ้ง จนต้องพับแผนการออกหุ้นกู้ใหม่มูลค่า 5,500 ล้านบาทปีนี้ แถมยังมีภาระหนี้จากสถาบันการเงินประมาณ 3,200 ล้านบาท แต่ทางบริษัทยืนยันว่ายังสามารถชำระหนี้ก้อนนี้ได้แน่นอน

อีเอราคาต่ำกว่าไอพีโอ

ขณะที่ตัวหุ้นอีเอเอง ที่หลังจากเกิดปัญก็ถูกขึ้นเครื่องหมาย H หยุดซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว จนกว่าอีเอจะชี้แจงข้อมูล แนวทางที่จะชัดเจนในการชำระคืนเงินกู้ และแหล่งการเงินในการชำระคืนหนี้สิน และต่อด้วย SP จากนั้นหลังจากที่อีเอชี้แจงข้อมูลแล้ว ก็ได้ปลดเครื่องหมาย SP ในวันถัดมาให้สามารถซื้อขายได้ ทันทีที่ตลาดเปิดทำการซื้อขาย ก็เป็นไปตามคาด หุ้นอีเอ ดิ่งติดฟลอร์ไป 2 วันติดต่อกัน จน ณ ปิดตลาดภาคเช้าของวันที่ 19 ก.ค.67 ที่ผ่านมาราคาหุ้นอีเออยู่ที่ 5.10 บาท ซึ่งต่ำกว่า ราคาไอพีโอ 5.50 บาท

ทิศทางของหุ้นอีเอ จะไปในทิศทางไหน? หลังจากมีผู้บริหารใหม่ และจะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมารุ่งเรือง มีเงินจ่ายหนี้ได้ตามที่คุยไว้หรือไม่ยังต้องรอติดตาม”

แม้เรื่องนี้!! จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ซึ่งเป็นเรื่องของความอิจฉากันเองในทางธุรกิจ แบบชนิดที่เรียกว่าคนรวยเค้าอิจฉาคนรวยด้วยกันเองนั่นแหละ เพราะปัญหาเกิดมานานนับสิบปี กระบวนการตรวจสอบอะไร? จะต้องสอบสวนต้องตรวจสอบกันมาราธอนยาวนานกันจนถึงป่านนั้น!! จนนำมาสู่การร้องทุกข์กล่าวโทษ ดั่งที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นกระแสโด่งดังในแวดวงการหุ้นไทย ที่สำคัญ! ยังเป็นตัวฉุดรั้ง ตอกย้ำสถานการณ์ความไม่เชื่อมั่นในหุ้นไทยเข้าให้อีก เพราะเชื่อได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นในรอบนี้ก็เป็นการต่อสู้เพื่อแย่งก้อนเค้ก เพื่อแย่งผลประโยชน์ระหว่างกันนั่นเอง แต่ก็ถือว่ายังดีที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายกำกับได้ออกมาตรการ “อัพติ๊ก” มาล้อมคอกไว้ก่อนหน้าแล้ว

จากนี้ไปคงต้องจับตาดูสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยจะเริ่มดีขึ้น เริ่มผ่อนคลายลง จากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเริ่มขยับตัว หรือกลายเป็นว่า จะมี “โดมิโน่” ตัวใหม่ที่มาบั่นทอนความรู้สึกนักลงทุน ให้เกิดเป็น ”วิกฤติศรัทธา“ อีกหรือไม่ !!!.