สมาคมโรคเบาหวานของสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) ใช้เกณฑ์วินิจฉัยภาวะก่อนเบาหวานโดยอาศัยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร หรือ ระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังรับประทานน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม (การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส หรือ oral glucose tolerance test) หรือ ระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ดังนี้

–  ระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหาร 100-125 มก/ดล เรียกภาวะนี้ว่า impaired fasting glucose (IFG) (องค์การอนามัยโรคใช้เกณฑ์ระดับน้ำตาล 110-125 มก/ดล)

–  ระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังรับประทานน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม 140-199 มก/ดล เรียกภาวะนี้ว่า impaired glucose tolerance (IGT)

–  ระดับฮีโมโกลบินเอวันซี 5.7-6.4 %

ผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานมากกว่าคนปกติ (รายละเอียดอยู่ในบทความเดือนถัดไป) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต (lifestyle modification) โดยเฉพาะการลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีภาวะนี้ได้ ซึ่งจะมีความคุ้มค่ามากกว่าการรักษาเมื่อเกิดโรคเบาหวานขึ้นแล้ว การทราบความชุกของภาวะก่อนเบาหวาน จะทำให้สามารถคาดการณ์ความชุกของโรคเบาหวานในอนาคต คาดการณ์ภาระด้านงบประมาณที่ประเทศต้องแบกรับในการรักษาโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อน และการเตรียมวางแผนระดับนโยบายสาธารณสุขเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

ความชุกของภาวะก่อนเบาหวาน (pre-diabetes) ในประทศไทย

ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 6) พ.ศ.2562-2563 โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชัย เอกพลากรและคณะ พบว่าในประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ความชุกของภาวะ IFG (ระดับน้ำตาลในเลือด 100-125 มก/ดล) ของคนไทยโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 10.7 ในขณะที่ผลการสำรวจก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.2552 และ 2557 พบความชุกของ IFG โดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 10.6 และ 15.6 ตามลำดับ ความชุกของ IFG จะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น ในการสำรวจครั้งล่าสุด ความชุกของภาวะ IFG ในประชากรอายุ 30-45 ปี พบร้อยละ 11 ในขณะที่ความชุกจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี เป็นต้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าในทุกการสำรวจที่ผ่านมา พบความชุกของภาวะ IFG ในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิงในทุกกลุ่มอายุ ในขณะที่ความชุกของโรคเบาหวานของคนไทย พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนความชุกของภาวะ IGT ในประชากรไทยจะสูงมากน้อยเพียงใดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากในการสำรวจสุขภาพประชากรไทย ไม่มีมีการตรวจหาความผิดปกตินี้

World diabetes day; hand holding sugar cubes and thumb down in another hand

อย่างไรก็ตาม ความชุกของภาวะก่อนเบาหวานจะขึ้นอยู่กับลักษณะประขากรที่ทำการสำรวจด้วย  ถ้าทำการสำรวจในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ความชุกของภาวะก่อนเบาหวานในประชากรกลุ่มนี้ย่อมสูงกว่าความชุกในประชากรทั่วไป การศึกษาในประชากรไทยกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน (มีโรคอ้วนหรืออ้วนลงพุง หรือ มีความดันโลหิตสูง หรือ มีประวัติโรคเบาหวานในครอบครัว) จำนวน 6,884 ราย อายุ 35-65 ปี พบความชุกของ IFG สูงถึงร้อยละ 25 ซึ่งสูงกว่าความชุกในประชากรทั่วไปถึง 2 เท่า แต่ที่น่าสนใจ คือ ในผู้ที่ไม่มี IFG (ระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารน้อยกว่า 100 มก/ดล) พบมีภาวะ IGT สูงถึงร้อยละ 25 (isolated IGT) และในผู้ที่มีภาวะ IFG พบมีภาวะ IGT ร่วมด้วยสูงถึงร้อยละ 50 (combined IFG and IGT)

โดยสรุป ความชุกของภาวะ IFG ในประชากรไทยมีค่อนข้างสูง และใกล้เคียงกับความชุกที่มีรายงานในประเทศเพื่อนบ้าน ความชุกจะเพิ่มสูงขึ้นในประชากรกลุ่มเสี่ยง ส่วนความชุกของภาวะ IGT ในประเทศไทยในภาพรวม ยังไม่มีข้อมูลที่มากพอ แต่ในประชากรกลุ่มเสี่ยง ความชุกของภาวะ IGT น่าจะเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับที่พบในภาวะ IFG ผู้ที่มีภาวะ IFG และ/หรือ IGT มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคเบาหวานในอนาคต

ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่