เดือน มิ.ย. 67 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนผู้ปลูกข้าวปี 67/68 โดยให้เกษตรกรสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เพื่อพัฒนาผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และลดภาระการเงินการคลังของประเทศ เป็นปุ๋ยเคมีปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพในราคาครึ่งหนึ่ง ไม่เกิน 500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 10,000 บาท ตั้งแต่ 15 ก.ค. 67-31 พ.ค. 68

ปุ๋ยคนละครึ่ง” จะสะดุดหรือเปล่าไม่ทราบ! เพราะ “พยัคฆ์น้อย” ได้ข่าว ชาวนาไม่ปลื้ม! สส.เพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้านหลายคนไม่แฮปปี้ไปด้วย เนื่องจากอยากได้เป็นเงินสด ไร่ละ 500-1,000 บาท ดีกว่า

สอบถามคนใกล้ชิดนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ว่า “ปุ๋ยคนละครึ่ง” มีที่มาอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า

1.นายกฯ เป็นห่วงภาระงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละปีสูงมาก โดยเฉพาะชาวนา ทั้งที่ราคาข้าวสูงขึ้นมา 2 ฤดูการเพาะปลูกแล้ว จากอดีตตันละ 7,000-8,000 บาทมาหลายปี ขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณตันละ 11,000 บาท คือราคาสูงขึ้นกว่าในอดีตตันละ 2,500-3,000 บาท ข้อมูลหลังสุดเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 ชาวนาสุโขทัยยังเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกขายตันละ 10,400 บาท (ข้าวขาวความชื้นเกิน 25%)

2.นายกฯ จึงให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ไปศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม ถ้าไม่ช่วยเลย จะเหมือน “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” สุดท้ายจึงได้ข้อสรุปที่ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ช่วยลดภาระต้นทุน มีสูตรปุ๋ยใหม่ให้เลือกอีก 2 สูตร ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น

3.ชาวนาไม่มีสูตรปุ๋ยใหม่ ๆ นานแล้ว! จนกระทั่งเดือน เม.ย. 67 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะนักวิจัยข้าวของศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ได้ส่งมอบสูตรปุ๋ย 2 สูตรใหม่ให้นายกฯ เพื่อส่งต่อให้ถึงชาวนา คือสูตร 20-8-20 สำหรับข้าวหอมมะลิ และสูตร 25-7-14 สำหรับข้าวหอมปทุมธานี (ข้าวขาวทั่วไป) โดยเฉพาะสูตร 25-7-14 อยากแนะนำให้ชาวนาได้ใช้ เพราะจะช่วยเพิ่มผลผลิตขึ้นอีก 30-70%

4.ถ้าชาวนาเข้าร่วมโครงการ ก็ไปสั่งซื้อได้ที่ ธ.ก.ส. จะเลือกปุ๋ยสูตรใหม่ หรือปุ๋ยสูตรเดิม ๆ ที่เคยใช้ก็ตามสะดวก เพราะมีให้เลือกกว่า 10 สูตร เลือกบริษัทปุ๋ย (50 บริษัทเข้าร่วม) แล้วเลือกร้านค้าที่จะไปส่งปุ๋ยให้

5.ไทยมีพื้นที่เกษตร 150 ล้านไร่ (นาข้าว 65-70 ล้านไร่) ราคาข้าวเกินหมื่นบาท/ตัน มา 2 รอบ แต่ยังช่วยชาวนาไร่ละพัน ถ้าเกษตรกรอื่น ๆ ขอแบบนี้บ้าง! รัฐบาลจะตอบอย่างไร? จะเอางบที่ไหนไปช่วย? แต่ถ้าราคาดิ่งลงไปเหลือ 7,000-8,000 บาท/ตัน เหมือนปีก่อน ๆ รัฐบาลจึงมีเหตุผลสมควรเอาเงินมาช่วยอยู่แล้ว!

ลูกหลานชาวนาเมื่อรับฟังข้อมูลตรงนี้ แล้วมาวิเคราะห์กับสิ่งที่ตัวเองรู้อยู่เกี่ยวกับค่าจ้างไถ ค่าจ้างเกี่ยวไร่ละกี่ร้อยบาท, จ้าง “โดรน” พ่นยา-ใส่ปุ๋ยไร่ละเท่าไหร่, นา 20 ไร่ใส่ปุ๋ยกี่ตัน! สรุปต้นทุนทำนาไร่ละ 5,000 บาท พอมีกำไรไร่ละ 2,000-3,000 บาท แต่ขยับขึ้นไปได้กำไรไร่ละ 5,000-6,000 บาท มา 2 รอบแล้ว!

เสพติด” กับการช่วยเหลือจนเคยชิน! แต่เมื่อราคาข้าวเกินหมื่น! สส.ต้องช่วยอธิบายกับชาวนาให้เข้าใจบ้าง!.

……………………………….
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…