เรื่องนี้ จากการรวบรวมข้อมูลที่ได้จาก “กรมควบคุมโรค” และ “กรมอนามัย” 2 หน่วยงานหลักภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “อะแคนทามีบา” ว่า เป็นเชื้อปรสิตที่ก่อโรคและฉวยโอกาสที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป เช่น น้ำ ดิน ฝุ่นละออง

โรคที่พบได้บ่อยหากติดเชื้อตัวนี้ คือ “กระจกตาอักเสบ” โดยเฉพาะคนใส่คอนแทคเลนส์มีโอกาสสูงหากทำความสะอาดไม่ถูกวิธี ใส่ไม่ถูกสุขลักษณะ ใส่ในขณะที่ว่ายน้ำหรืออาบน้ำ รวมทั้งผู้ที่เคยมีประวัติกระจกตาอักเสบมาก่อน โดยมี อาการปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล แพ้แสง การมองเห็นลดลง

ส่วนโอกาสเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นที่เชื้อไปที่สมองหรือการติดเชื้อแบบแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนั้นพบได้น้อยมาก แต่พบได้ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

เชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง เช่น ผ่านทางดวงตา บาดแผลที่ผิวหนัง การสูดหายใจเอาเชื้อเข้าปอด การป้องกันการติดเชื้อต้องล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนสัมผัสดวงตา เลี่ยงการขยี้ตา ใช้น้ำสะอาดในการอุปโภค บริโภค เลี่ยงการใช้สระว่ายน้ำที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้หรือใช้ของร่วมกับคนที่ป่วยโรคตาแดง”

ประเด็นสำคัญ คือกรณีที่ผู้พักอาศัยในคอนโดฯ ดังกล่าวติดเชื้อได้อย่างไร เมื่อใช้น้ำประปาซึ่งจะมีกำหนดเรื่องของมาตรฐานน้ำประปา การเก็บ การใช้น้ำในอาคารสูงอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเอาให้พอปลอดภัยคือ น้ำนั้นต้องคลอรีนไม่ต่ำกว่า 0.2 ppm ถึงจะสามารถฆ่าเชื้อตัวนี้ได้

ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองลงพื้นที่ ร่วมกับสำนักอนามัย สำนักงานเขตจตุจักร ศูนย์บริการสาธารณสุข 51 จตุจักร กรุงเทพมหานคร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เก็บตัวอย่างน้ำอุปโภค 7 ตัวอย่าง มาตรวจ ผลเบื้องต้นพบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ ระหว่าง 0.2-0.5 ppm 6 ตัวอย่าง และ ไม่พบคลอรีนอิสระในน้ำ 1 ตัวอย่าง

นี่อาจจะเป็นต้นตอของปรสิตอาละวาดในคอนโดฯ นี้ได้ ดังนั้นเขตจตุจักรจะเร่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550) เพื่อกำกับติดตามให้นิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการตามมาตรการต่อไป

ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ต้องดูไว้เป็นบทเรียนในเรื่องของความสะอาด ได้มาตรฐานของน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ต้องหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์เก็บน้ำ จ่ายน้ำ ดูแลคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน.

อภิวรรณ เสาเวียง