นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

ในโอกาสวันชาติฝรั่งเศสปีนี้ ผมมีความยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบ ถึงภาพรวมของความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทยที่ก้าวหน้าอย่างมาก ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงแรกของการปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยของผม

ผมเข้ารับหน้าที่เมื่อปลายเดือนก.ย. 2566 ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังการเยือนไทยของนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อเดือนพ.ย. 2565 เพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปค โดยในปี 2566 ฝรั่งเศสและไทยมีการแลกเปลี่ยนมากมาย สืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ตามแผนการสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายลงนามเมื่อเดือนก.พ. 2565 นำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดความสัมพันธ์ในสาขาที่มีศักยภาพต่าง ๆ

การเยือนไทยของรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศฝรั่งเศส ด้านการค้าต่างประเทศ เพื่อเปิดกิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ได้สร้างแรงผลักดันใหม่ต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ขณะที่การเยือนไทยของรัฐมนตรีการอุดมศึกษาและการวิจัยฝรั่งเศส เมื่อเดือนต.ค. 2566 นำมาซึ่งการลงนามความตกลง เพื่อกระชับความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายมีมาอย่างยาวนานในหลายสาขา

การแลกเปลี่ยนระดับสูงของทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 จากการเยือนฝรั่งเศสทั้ง 2 ครั้งของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี การเยือนครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อเดือนมี.ค. 2567 และฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปที่นายกรัฐมนตรีไทยเยือนอย่างเป็นทางการ

นายเศรษฐาน ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย พบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเอมานูว์แอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส

ในระหว่างการเยือน นายเศรษฐาได้รับเกียรติจากประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันและหารือทวิภาคี โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและกลาโหม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อันเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศส และจะมีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้พบหารือกับผู้บริหารภาคเอกชนฝรั่งเศสหลายราย เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและแสวงหาแนวทางความร่วมมือใหม่ ๆ หลังกลับจากการเยือนได้ไม่กี่สัปดาห์ ผู้บริหารองค์กร Comité Colbert ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของฝรั่งเศสที่มีสมาชิกประกอบด้วยแบรนด์สินค้า Luxury และสถาบันทางวัฒนธรรม ก็ได้มาเยือนไทยตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ Soft Power ซึ่งเป็นด้านที่ฝรั่งเศสมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

หลังการเยือนฝรั่งเศสครั้งแรกได้ 2 เดือนเศษ นายกรัฐมนตรีก็ได้เดินทางไปฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 ก่อนเดินทางต่อไปเยือนอิตาลี โดยในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมงาน Thailand-France Business Forum ซึ่งจัดขึ้นสืบเนื่องจากการหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2567

กิจกรรมครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อกัน โดยในปี 2566 ฝรั่งเศสและไทยมีการค้าระหว่างกันคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านยูโร (ราว 196,734 ล้านบาท) มีภาคเอกชนฝรั่งเศสทั้งที่เป็นบริษัทลูกและเอสเอ็มอี ประกอบธุรกิจในไทยรวมเกือบ 300 บริษัท มีการจ้างงานกว่า 45,000 คน การลงทุนจากฝรั่งเศสในไทยมีมูลค่ารวมเกือบ 3,000 ล้านยูโร (ราว 118,040.25 ล้านบาท)

นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศได้ใช้โอกาสนี้ ขยายความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ พลังงาน คมนาคม เศรษฐกิจหมุนเวียน เกษตรอาหาร และการท่องเที่ยว รวมทั้งได้ลงนามในเอกสารความตกลงหลายฉบับ ในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นครั้งที่ 2 โดยได้มีการเน้นย้ำความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการสร้างเสาหลักด้านเศรษฐกิจ ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในอนาคต

พิธีลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงการเจรจาทวิภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์

ความร่วมมือฝรั่งเศส-ไทยได้กระชับแน่นแฟ้นมากขึ้นจากการลงนาม ในหนังสือแสดงเจตจำนงการเจรจาทวิภาคีว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพและการคุ้มครองชนิดพันธุ์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ ที่จะร่วมกันดำเนินความร่วมมือในประเด็นระดับโลกที่สำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ผ่านมาหน่วยงานฝรั่งเศสในไทย ได้แก่ สำนักงานเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (AFD) และ Business France ได้ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ โดย AFD จัดการสัมมนาเวทีการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อเดือนก.พ. 2567 และการหารือเชิงนโยบายกับกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการออกแบบและพัฒนาเมือง เพื่อตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วน Business France ได้ประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเศรษฐกิจของไทย

ผมหวังว่า ความร่วมมือที่ก้าวหน้าดังกล่าวจะดำเนินสืบเนื่องต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการสำหรับการครบรอบ 340 ปี ของการติดต่อกันครั้งแรกระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในปี 2568 และการครบรอบ 170 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ฝรั่งเศส ในปี 2569 การเตรียมการดังกล่าว จะเป็นการฉลองวาระสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานของทั้งสองประเทศ และเป็นการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต

หอไอเฟลและแม่น้ำแซน กรุงปารีส ©Jonathan Sarago/MEAE

การฉลองวันชาติฝรั่งเศสในปีนี้มีขึ้นไม่กี่วัน ก่อนพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่ฝรั่งเศสกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในรอบ 100 ปี และพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดี เพื่อให้มหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ผมขอใช้โอกาสนี้ อวยพรให้นักกีฬาไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาทั้งสองรายการ.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

( หมายเหตุ : -ภาพเปิด- การแสดงเครื่องบินผาดโผนในโอกาสวันชาติฝรั่งเศส ©Jonathan Sarago/MEAE )