เพราะถึงตอนนี้ 4 ชาติ 4 ทีม ที่ผ่านเข้าสูรอบชิงชนะเลิศ ก็ไม่ได้พลิกความคาดหมายอะไรกันมากนัก ทั้ง “ตราไก่” ทีมชาติฝรั่งเศส ทั้ง”กระทิงดุ”ทีมชาติสเปน, ทั้ง “สิงห์โตคำราม” ทีมชาติอังกฤษ และ “อัศวินสีส้ม” อย่างทีมชาติ เนเธอร์แลนด์

ต้องยอมรับว่า…ที่ผ่านมาบรรดาภาคธุรกิจ ต่างหยิบฉวยเอาเทศกาลระดับโลกมาจัดแคมเปญ มาจัดโปรโมชั่น เพราะคาดหวังว่าเทศกาลจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้เศรษฐกิจคึกคัก

โดยเทศกาลฟุตบอลยูโร 2024 นี้ มีการคาดการณ์กันว่าได้ทำให้เกิดเงินสะพัดทั้งในระบบและนอกระบบรวม ๆ กันแล้วกว่า 87,620 ล้านบาททีเดียว

เงินสะพัดจำนวนนี้ ได้มีการนำไปใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 20,575 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับการแข่งขันครั้งที่แล้วเมื่อปี 2020 และถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา

ส่วนใหญ่แล้ว เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ได้นำไปใช้เป็นค่ากิน ค่าดื่ม ค่าเสื้อผ้า ค่าแพคเกจรับชม และอีกมากมายสารพัด แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของค่ากิน ค่าดื่มกันมากกว่า

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทำให้บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ต่างได้รับผลดี สะท้อนจากราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อย่าง OSP บมจ.โอสถสภา CPALL บมจ.ซีพีออลล์

หรือแม้แต่ในกลุ่มค้าปลีก อย่าง HMPRO บมจ.โฮม โปรดัสก์ เซ็นเตอร์ รวมถึงในกลุ่มสื่อสาร อย่าง ADVANC บมจ. แอนวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส

แต่…ที่น่าสนใจ !! เงินสะพัดที่ว่า กลับไปอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ หรือการพนัน มากถึง 67,044 ล้านบาท เติบโต 17.10% ซึ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี ทำให้ธุรกิจการพนันบอลยูโรในปีนี้ เติบโตสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

และ…ที่น่าสนใจไปยิ่งกว่านั้น เงินพนันเหล่านี้ปรากฎว่า มาจากการใช้เงินออมสูงถึง 38.7% ขณะที่มาจากเงินเดือนและรายได้ปกติ 51.8% ใช้เงินจากผู้ปกครอง 4.7% ใช้เงินจากโบนัส 4.4% และไปกู้ยืมเงินมา 0.4%

การนำเงินออมมาเล่นการพนันบอลยูโร มากถึง 38.7% นี้ ถือเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและเป็นห่วง เพราะนั่นเท่ากับว่านำเงินในอนาคตออกมาใช้เล่นการพนัน

ผลสำรวจของแบงก์ชาติระบุว่า เมื่อปี 66 คนไทย คนไทยมีเงินฝาก ไม่เกิน 50,000 บาท มากถึง 115 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินฝาก รวม 4.57 แสนล้านบาท ขณะที่มีเงินฝาก 50,000- 1 แสนบาท มีเพียง 4.30 ล้านบัญชี เงินฝาก 1แสนบาท-2 แสนบาท มี 3.46 ล้านบัญชี

ส่วนเงินฝาก 2 แสนบาท- 5 แสนบาท มี 3.23 ล้านบัญชี เงินฝาก 5 แสนบาท – 1ล้านบาท มี 1.64 ล้านบัญชี ส่วนคนที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาท-10 ล้านบาท มี 1.80 ล้านบัญชี

ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จนถึงขนาดที่เรียกได้ว่า “แก่เต็มขั้น” มีประชากรไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดที่กำลังลดน้อยถอยลงไป

ด้วยเหตุนี้… รัฐบาลจึงพยายามทุกทางเพื่อให้คนไทยให้ความสำคัญกับการออมเงินในทุกรูปแบบ จนมาถึงการออก “หวยเกษียณ” ที่ดำเนินการโดยกองทุนการออมแห่งชาติ หรือกอช.

โครงการ “หวยเกษียณ” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการเรือธงของรัฐบาล “เพื่อไทย” ที่ต้องการส่งเสริมให้คนไทยมีเงินออมเพียงพอกับการดำรงชีวิตเมื่อเกษียณอายุการทำงาน

มีการคาดการณ์กันว่าภายในสัปดาห์นี้ กระทรวงการคลังจะนเรื่องนี้เสนอให้ครม.ของนายเศรษฐา ทวีสิน พิจารณาเห็นชอบ โดยคาดว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละประมาณ 700-800 ล้านบาท จากที่ต้องใช้งบประมาณจ่ายเบี้ยคนชรา สูงถึงปีละเกือบ 1 แสนล้านบาท

ส่วนรูปแบบการดำเนินการ ผู้ออมต้องซื้อหวยเกษียณผ่านแอปพลิเคชันของกอช. เป็นลักษณะหวยขูดดิจิทัล ที่มีวงกลม 10 ตัว เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถขูดรางวัลผ่านระบบออนไลน์

ด้วยเพราะคนไทยเป็นคนที่ชื่นชอบการเล่นหวยอยู่แล้ว ก็เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะผู้ออมได้ลุ้นรางวัลทุกวันศุกร์ เวลา 17.00 น. หากถูกรางวัลที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท โอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกไว้ได้ทันที

ขณะที่รางวัลที่ลุ้นมีอ 2 รางวัล ให้ลุ้นรางวัลที่ 1 วงเงิน 1 ล้านบาท5 รางวัล และรางวัลที่ 2 วงเงิน 1,000 บาท 10,000 รางวัล ขณะเดียวกัน หากแต่ละงวดไม่มีผู้ถูกรางวัล จะมีการสมทบรางวัลนั้น ๆ ไปในงวดถัดไป

ว่ากันว่า… ถ้าทุกอย่างฉลุย ผ่านกฎหมายทุกฉบับแล้ว ก็จะเริ่มลุ้นกันได้ในช่วงไตรมาสแรก ของปี 68 โดยได้ลุ้นสัปดาห์ละ 5 ล้านใบกันทีเดียว

แต่ล่าสุด!! กลับกลายเป็นว่าผลสำรวจของ “นิด้า” ที่ออกมา พบว่า 46.37% ไม่สนใจที่จะซื้อหวยเกษียณ และ 17.02% ไม่ค่อยสนใจ และยังพบว่า 30.99% ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการมอมเมาให้ประชาชนเสพติดการพนัน และอีก 16.87% ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะเงินรางวัลน้อย และใช้เวลาถอนเงินคืนนานเกินไป

เอาเป็นว่า…ณ เวลานี้ คงต้องให้ระยะเวลา เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผลงานเรือธงของนโยบายจะไปถึงฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจหรือไม่?.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่