รัฐบาลเสี่ยนิด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ต้องการให้ไทยเป็นเจ้าภาพ world pride ให้ได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ดึงดูดต่างชาติเข้ามา อาจมีการเดินอลังๆ แบบงานมาดิกราส์ แต่ก็ได้ข่าวว่า องค์กร world pride  เขาจะพิจารณาจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กรภาค LGBT+ ในประเทศไทย ซึ่งในปีนี้ “วงใน”เขาเล่าว่า “ตบกันสนุกสนานน่าดู” คือจะจัดพาเหรดแยกกันต่างหาก แบบใครเปิดก่อนได้เปรียบ ใครวิ่งหานักการเมืองได้หน้า แย่งสปอนเซอร์กันสนุกสนาน จนจบงานน่าจะมีกรณีผีไม่เผาเงาไม่เหยียบกันบ้าง

คนนอกมองเขาก็บอก “ธรรมดาของโลก” ถ้าเมื่อไรที่มีเรื่องหน้าตา ผลประโยชน์มา มิตรภาพที่ว่าเคยทำงานด้วยกันก็ฉิบหายมานักต่อนัก แต่ทีนี้ หลายคนเริ่มรำคาญกระแส“กะเทยไม่เคยพอ”…คือเมื่อได้สมรสเท่าเทียม เมื่อองค์กรต่างๆ เปิดตัวมีความเป็นมิตรต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศในที่ทำงานแล้ว ก็จะรีบเรียกร้องเอากฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านามสำหรับคนข้ามเพศ หรือกฎหมายอัตลักษณ์บุคคลทันที แนวๆ ว่า คนข้ามเพศต้องได้สิทธิ์ตามเพศใหม่ และยังถกเถียงกันว่า “จะต้องแปลงเพศก่อนอนุญาตให้ใช้คำนำหน้านามใหม่หรือไม่” บ้างก็ว่าต้องแปลง บ้างก็ว่าไม่ต้อง การบังคับไปตัดไปเฉาะอะไรในร่างกายมันละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เริ่มมีกระแส “เรียกร้องจนน่ารำคาญ”

หรือที่ต่างประเทศเรียกว่า woke คือทำตัวเป็นผู้ถูกกดขี่อยู่ไม่รู้แล้ว และเรียกร้องกันแบบถึงขั้นมีปมด้อย มีเรียกร้องเรื่องคำนำหน้านามสำหรับคนไม่อยากนิยามเพศตัวเอง ( non binary ) แบบเกิดมาเป็นเพศอะไรก็เถอะ แต่ฉันไม่อยากอยู่ใน “กรอบเพศ”ใดๆ ก็ให้มีคำนำหน้านาม“นาม”แยกต่างหาก โดยยกกรณีบางรัฐในอเมริการใช้ ‘X’ ก็ยิ่งมั่วกันเข้าไปอีก เมื่อมีคนชักรำคาญและไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ( ให้ออกไปฟังวงนอกบ้าง LGBT ไม่ใช่เย้วๆ กันอยู่แต่ในกลุ่มตัวเอง ) ก็น่าจะลองใช้วิธีทำประชาพิจารณ์ดูสิ ไหนๆ ก็จะแก้กฎหมายประชามติแล้ว ก็เอาเรื่องนี้ทำดูว่า “คนไทยเห็นด้วยหรือไม่ กับการที่กลุ่มข้ามเพศจะใช้คำนำหน้านามตามเพศใหม่แทนเพศกำเนิด”

ขนาดสมรสไต้หวัน เขารับรองด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม พอชั้นประชาพิจารณ์ก็ตก แต่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญรัดคออยู่ไง จึงต้องไปออกกฎหมาย .. จากสายตาคนนอกที่บ่นๆ มา คือ “อย่าได้คืบจะเอาศอกให้มาก” จำไว้ว่าคนไทยน่ะขี้หมั่นไส้ เรียกร้องอะไรเยอะเกินจะกลายเป็นแทนที่ช่วงนี้เขาเห็นเป็นเดือนความหลากหลายทางเพศ ..ทำตัวน้ำขึ้นให้รีบตัก รีบเรียกร้อง ดันตักเยอะไปเจอตอใหญ่ แล้วเกิดกระแสตีกลับ

เอาเป็นว่า ผ่านเดือน มิ.ย.แล้ว เราก็มาดูวาระของรัฐบาลกันดีกว่า เริ่มตั้งแต่ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธง แบบว่า ต้องกู้มาโปะนโยบายนี้ตั้งเป็นงบขาดดุล โดนฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตเรื่องงบกลางปี 67 ไม่ยอมใช้ จะผันมาลงโครงการนี้ และจะผันเงิน ธ.ก.ส.แจก ซึ่งคงจะให้เฉพาะกลุ่มเกษตรกร ..จะให้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือมือถือได้ ก็ยึกยักอยู่ไม่รู้แล้ว ถาม รมช.หนิม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับ รมช.ออฟ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ก็บอกว่า “รอเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ๆ” ถามแล้วถามเล่าก็ตอบแค่นี้ ไม่มีความชัดเจนอะไรสักอย่างนอกจากจะกู้

คือกู้แล้วมาขยายเศรษฐกิจ เช่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ มันก็ดี แต่ทีนี้ ก็ยังมีคนจำนวนมากในสังคมที่คิดว่า “ถ้าเป็นนโยบายแจกเงิน รู้สึกตัวเองได้รับเป็นชิ้นเป็นอันดี” แต่ทีนี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบกระชากเศรษฐกิจหรือไม่ ? อันนี้ก็มีพูดกันไปหลายต่อหลายแบบ อาทิ ฝั่งโลกสวยเขาก็บอกกระตุ้นได้ เพราะจะทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน แต่ฝั่งโลกไม่สวยบอกลงทุน จ้างงานเพิ่ม ..กะสมบัติกะอีแค่เงินได้หมื่นเดียวเนี่ยนะ ? ให้ลงทุนด้วยเรื่องแค่นี้เห็นทีจะเจ๊ง เงินใช้หมดมันก็หมด บางคนเอาไปใช้เป็นเบี้ยหัวแตกซะอีก ..คนที่เขาว่าไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อว่า ก็ไปซื้อของร้านทุนใหญ่มันสะดวกกว่าเยอะ ร้านเล็กร้านน้อยแผงลอยข้างทางมีกี่ร้านที่รับ ? เพราะพวกไม่เข้าระบบภาษี

เปิดสภา เดือน ก.ค. คาดว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาวาระสองน่าจะสิงหา เพื่อให้ทันใช้ปีงบประมาณ แต่ระหว่างนั้นในชั้นกรรมาธิการคงกัดกันเลือดสาดอยู่โดยเฉพาะเงินก้อนนี้ และตอนวาระสองน่าจะเห็นการอภิปรายการจัดงบแบบทุบๆๆๆ ของฝ่ายค้าน ซึ่งก็ตุ้มๆ ต่อมๆ เรื่องยุบพรรคอยู่ เกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112  แต่เขาก็สู้ในประเด็นที่ขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ไม่น่าจะถูกต้อง ดังนั้น  แม้ว่า เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรก็ต้องไว้ลายให้เห็นกันหน่อย

นอกจากนี้ ยังมีวาระเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อให้มีการรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 คือ แก้ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่รู้จะเจอตอเรื่องคำถามประชามติอีกหรือไม่ที่ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ซึ่งจะมีผลกับสถาบันฯ ฝ่ายที่เขาให้แก้ก็อ้างหวังดีว่า การเมืองจะได้ดึงสถาบันฯ ลงมาแปดเปื้อนไม่ได้ อีกฝ่ายก็คิดไปตรงกันข้าม คนละทาง คนละอย่าง คนละอุดมการณ์กัน สรุป ตั้งแต่ปี 53 ตั้งกรรมการปรองดองมากี่ชุดไม่เคยปรองดองได้สำเร็จ ยังจำได้ว่า สมัยรัฐบาล คสช. ก่อนเลือกตั้งได้บิ๊กตู่เป็นนายกฯ อีกรอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ทวงเรื่องการสร้างความปรองดอง ก็ไปศึกษากันใหม่ อารมณ์แบบทำ“หลักกลและเหตุผลาญ”กันไปเรื่อย สุดท้ายได้ตุ๊กตาออกมาเต้นแย้กๆ กลางสี่แยกไม่กี่วัน ไม่ทราบว่าช่วยแก้ไขความขัดแย้งระดับความคิดตรงไหน

ขณะเดียวกัน ในรัฐบาลก็ลือกันไปเรื่อย ว่าไม่ค่อยปรองดองกันนักหรอก มีกระแสข่าวจะขับพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องความหวาดระแวงกลุ่มอำนาจ คสช. เลยกลายเป็นมีข่าวว่า ถ้าพรรคก้าวไกลโดนยุบ สส.จำนวนหนึ่งจะโดนช้อนไปพรรค พปชร. เรื่องนี้ตอบยาก มีแค่เวลาที่ตอบได้ ..มีคนถามว่า คุ้มหรือกับการเป็นงูเห่า ก็อาจบอกได้ว่า อาจมีประเภทเอาเงินก้อนไปทำอย่างอื่นหลังเป็น สส.ดีกว่า หรือไม่ถ้าหยั่งกระแสดีก็ลองลง สส.สอบตกขึ้นมาแล้วพรรคที่ตัวเองไปสังกัดได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีก ก็ไปเป็นข้าราชการการเมืองได้

ในทางการเมือง วาระสำคัญคือการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องรอดูว่า การร่างกฎหมายสเปคของ ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไร เอื้อพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่ ตอนออกกฎหมายตั้ง ส.ส.ร.คงสนุกพิลึกอีกล่ะ แนวๆ ล็อบบี้คนของตัวเองเข้าไปให้ได้ ซึ่งสิ่งที่นักการเมืองต้องการที่สุด คือ “การออกแบบกติกาเลือกตั้งใหม่” อย่างอื่นเป็นรอง ( แต่ช่วยคงการรับรองสิทธิความเท่าเทียมประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 4 ไว้หน่อยแล้วกัน )

ถ้าบังเอิญ รัฐธรรมนูญไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้า ตอนทำประชามติรับหรือไม่รับ ก็รณรงค์ให้ตกกันอีก แล้วประเทศนี้ก็จะสาละวันเตี้ยลงๆๆๆ กับการทำให้นักการเมืองพอใจ ไม่ทราบจริงไหม ที่เขาว่าตลาดหุ้นตลาดการลงทุนฉิบหายกันหมดเพราะต้องคอยให้ได้กฎที่เป็นที่พอใจของนักการเมือง ไม่งั้นพวกป่วน ฟ้องโน่นฟ้องนี่ให้เกิดความไม่เสถียรภาพทางการเมืองซะงั้น..แล้วใครจะลงทุนโดยเฉพาะเมกะโปรเจคเขาก็ดูนโยบายของรัฐบาลด้วย ..ตอนนี้ก็เริ่มแพล่มกันแบบโยนหินถามทางแล้ว ว่า จะให้มี สส.เขตทั้งหมด เพราะเข้าใจประชาชนมากกว่า สส.ปาร์ตี้ลิสต์

ที่จะเอา สส.เขตหมดเพราะจะสกัดพรรคก้าวไกล ที่ผ่านมาคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก้าวไกลสูงมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าขำที่เหมือน สส.รัฐบาลทำตัวเองยังไงไม่ทราบ ไปแก้วิธีเลือกตั้งบัตรใบเดียวที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ( กรธ.) ออกแบบไว้ไม่ให้มีคะแนนทิ้งน้ำ หลักใหญ่ใจความมันอยู่ที่ไปยกเลิกจำนวน สส.พึงมี ซึ่งเผลอๆ พรรคก้าวไกลอาจไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์สักคนด้วยซ้ำเพราะพอนับจำนวน สส.พึงมีแล้วได้ สส.เขตเกิน เที่ยวนี้ สงสัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์  หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยบอกไว้คงมีแนวโน้มจริง เอา สส.เขต ..คุณหญิงสุดารัตน์ไม่ได้อธิบายว่าทำไมเอาแต่ สส.เขตหรอก แต่ชาวบ้านเขารู้ว่า “มันซื้อง่าย”

ซึ่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เกี่ยวกับองค์กรอิสระ คงให้หมดทันอายุรัฐบาลนี้ จะให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่เสียหมากันหมดพอดีเพราะตอนนี้ภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยยังเป็นลบ นโยบายอะไรที่หาเสียงไว้เยอะก็..เท่าที่เห็นคือ บัตรทองรักษาได้ทุกที่นำร่องไปบางจังหวัด นอกนั้นก็ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมนัก เรื่องการค้าการลงทุน การเป็น HUB ของการท่องเที่ยว การคมนาคมภูมิภาค และการทำแลนด์บริดจ์ ยังไม่เริ่ม ซึ่งการทำแลนด์บริดจ์มีคนสงสัยมากกว่าคุ้มทุนจริงหรือไม่ เพราะขนของขึ้นที่ท่าเรือระนอง แล้วต้องขนส่งรถไฟไปลงชุมพรอีก แล้วอ้อมแหลมมะละกาไม่ดีกว่าหรือ ? อันนี้ก็แล้วแต่รัฐบาลไปขายการลงทุนอย่างไร ซึ่งถ้าแลนด์บริดจ์เกิด ก็ต้องมีฝั่งเสียผลประโยชน์ เขาก็ต้องบลัฟฟ์กลับ มันเป็นเรื่องปกติ

ถ้าพรรคเพื่อไทยเลือกตั้งอีกสมัยในปีสองปีนี้ โอกาสแพ้ก้าวไกลสูง เพราะชั่วโมงบินหัวหน้าพรรค “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร” ก็ยังไม่สูง ไม่ได้มีภาพนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างกลุ่มพรรคก้าวไกล แถมเงาของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ครอบอยู่ ถึงขนาดบอกว่า จะรับตำแหน่งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก็ได้ ..หลายคนอาจเคยเห็นใจนายทักษิณมาจากตอนโดนกระทำรัฐประหาร แต่การป่วยอภินิหาร ออกจาก รพ.ปุ๊บหาย ก็กลายเป็นเรื่องโปกฮาเรื่องนักโทษเทวดา กลายเป็นความหมั่นไส้เข้าไปอีกว่า คนไม่เท่ากัน คือราคาของนายทักษิณวันนี้ไม่เหมือนเมื่อ 17 ปีก่อน

แต่..ก่อนจะคิดไปถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งใหม่ ปรดงอดง ก็ต้องคิดถึงเรื่องในปลายสมัยประชุมนี้ รัฐบาลอาจโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน ไม่รู้จะโดนเรื่องอะไรบ้าง เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไหมน้อ.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่