อย่าง “โรงพยาบาลราชวิถี” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ และเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในกระทรวงสาธารณสุขที่นำร่องด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เพื่อศึกษาพัฒนาการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดได้แม่นยำในการรักษาและลดภาวะแทรกซ้อน เช่น ใช้ในการผ่าตัด ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคที่ต้องอาศัยการผ่าตัดที่ซับซ้อนในหลายระบบได้ เช่น โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก, โรคระบบโสต ศอ นาสิก ได้แก่ โรคของต่อมทอนซิล และมะเร็งที่โคนลิ้น, โรคในระบบศัลยศาสตร์ ได้แก่ โรคมะเร็งตับ และลำไส้ใหญ่, โรคในระบบนรีเวช ได้แก่ เนื้องอกมดลูก และโรคในระบบหัวใจและทรวงอก เป็นต้น

ผศ.(พิเศษ) นพ.ธเนศ ไทยดำรงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า นับตั้งแต่โรงพยาบาลราชวิถีได้เปิดศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 จนถึงปัจจุบันผ่าตัดรักษาผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดไปแล้วกว่า 664 ราย แบ่งเป็นการผ่าตัดต่อมลูกหมาก 228 ราย การผ่าตัดตับ และตับอ่อน 151 ราย ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง 108 ราย การผ่าตัดเนื้องอกทางช่องปาก 22 ราย การผ่าตัดปอด 17 ราย และอื่น ๆ

“การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีหลังการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ทำการผ่าตัดผ่านช่องขนาดเล็ก ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัว และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น”

ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดคือ ความแม่นยำในการผ่าตัดของมือหุ่นยนต์ ที่บังคับโดยศัลยแพทย์ ไปในที่เข้าถึงได้ยากในอุ้งเชิงกราน เช่นเดียวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่แพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด มาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยด้วยวิธีผ่าตัดแผลเล็กบาดเจ็บน้อย (Minimally invasive Surgery)

เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ในพื้นที่ลึกและแคบในอุ้งเชิงกราน โดยมือของศัลยแพทย์เข้าไปได้ลำบาก การมองเห็นไม่ชัดเจน ดังนั้น การนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่มีแขนกลเคลื่อนไหวได้ 7 ทิศทาง มีเทคโนโลยีภาพ 3 มิติ ช่วยทำให้มีความแม่นยำในการผ่าตัดมากขึ้น ให้ผลการรักษาที่เหนือกว่าในเรื่องขนาดแผลที่เล็ก ความเจ็บปวดที่น้อยกว่า ฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่น้อย รวมทั้งคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการผ่าตัด ในการควบคุมการปัสสาวะหลังการผ่าตัดได้ดี.

อภิวรรณ เสาเวียง