แต่!! ที่น่ากลัวที่สุด คือการเป็นโรคจิต ที่ส่วนใหญ่หากเข้าไปดูถึงรากเหง้าปัญหา ก็จะมาจากเรื่องของการเสพยา และรากเหง้าของการเสพยา ก็ล้วนแต่มีเหตุผลมาจาก ภาวะเศรษฐกิจ มีรายได้ไม่พอกับการใช้ชีวิต

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใด ๆ ที่จะเห็นการรายงานข่าวในทุกช่องทางแทบทุกวัน ว่า มีคนร้ายทำร้ายคนอื่น ทั้งถึงแก่ชีวิต ไม่ถึงแก่ชีวิต ทั้งคนปกติ และคนเป็นโรคจิต ที่ส่วนใหญ่เมื่อตรวจร่างกายแล้วจะพบ “ฉี่ม่วง” จากการเสพยาบ้า

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหาทางแก้ปัญหา ต้องหาทางป้องกัน โดยรากฐานสำคัญก็ต้องไปแก้ในเรื่องปัญหาปากท้อง ต้องมีรายได้ที่สามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ที่รายงานภาวะสังคมล่าสุด พบว่า 1 ใน 8 ของคนทั่วโลก มีปัญหาด้านสุขภาพจิต หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 970 ล้านคนทั่วโลก

ขณะที่คนไทยเองอาจมีผู้ป่วยจิตเวช มากถึง 10 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนผู้มีปัญหาที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยะระดับโลก ด้วยซ้ำ ซึ่งข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 58 เป็น 2.9 ล้านคนในปี 66

จากตัวเลข จากข้อมูล ที่รายงาน สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาอีกเป็นจำนวนมาก!!

เห็นได้จาก…ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูง เพราะตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66-22 เม.ย. 67 ปรากฎว่า มีผู้ที่มีความเครียดสูงถึง 15.48% เสี่ยงซึมเศร้า 17.20% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ซึ่งแย่ลงกว่าในปีที่ผ่านมา

ในปี 67 มีเด็กและเยาวชน มีภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้น 26.7% มีภาวะเครียดสูง  18.3% ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดสูง ก็มีทั้งด้านการเรียน ด้านความคาดหวังถึงการทำงานในอนาคต รวมไปถึงความเครียดจากด้านการเงินของครอบครัว

ส่วนคนที่อยู่ในวัยทำงานต้องมีความรับผิดชอบสูง มีหลายปัญหารุมเร้า ทั้งความเครียดจากการทำงาน การติดสุรา การใช้สารเสพติด และปัญหาจากการดำรงชีพ

ปัญหาใหญ่ของวัยทำงาน ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต มาจากการใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการทำงาน ที่พบว่ามีมากถึง 1 ใน3 ของแต่ละวัน

ไม่เพียงเท่านี้!! ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิดอีกต่างหาก

เพราะอะไร? เพราะ…องค์การอนามัยโลก พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไป 12,000 ล้านวันทีเดียว

การที่วันทำงานหายไปมากขนาดนั้น หมายความว่า ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถ ดูแลตนเองได้ ทำให้ครอบครัวต้องหาผู้มาดูแล ที่ต้องเสียเงิน เสียทรัพยากรบุคคลมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันในเวลานี้  ทำให้เห็นได้ชัดว่า คนไทยกลายเป็นโรคซึมเศร้า กลายเป็นโรควิตกกังวลมากขึ้น ในปีงบประมาณ 66 พบว่า สัดส่วนผู้ป่วย กลุ่มโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่น ๆ รวมกัน เสียอีก และยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง 8.59 ต่อประชากรแสนคน

จากข้อมูลของ บริษัท Kisi พบว่า ปี 65 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลก ที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป ขณะที่ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนกรุงเทพ ในเวลานี้ มีมากถึง 7 ใน 10 คน ที่กำลังหมดไฟในการทำงาน

ภาวะทางสังคมที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องไม่มองข้าม เพราะข้อมูลที่ออกมาทั้งหมดทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า…ปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก่อนนำไปสู่สังคมที่ล้มเหลว !!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่