เต็มไปด้วยสีสันและมีบรรยากาศสุดคึกคักตั้งแต่สัปดาห์แรกของ “Pride Month” ปี ค.ศ. 2024 จากที่มีการกำหนดให้ตลอดทั้งเดือน มิ.ย. เป็น “เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองเพื่อแสดง ออกให้ผู้คนยอมรับใน “สิทธิเท่าเทียม” ของ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งสำหรับ ประเทศไทย ปีนี้ก็มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีคนดังวงการต่าง ๆ เข้าร่วมแสดงพลังด้วย ทั้งนี้ ปีนี้พิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และกำลังจะบรรจุเป็นวาระพิจารณาของวุฒิสภาช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้…

เทศกาล Pride Month ไทยยิ่งคึกคัก
จากกระแสดีใจของ “LGBTQ+ ไทย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลาง “สถานการณ์ที่ดูจะก้าวหน้า” ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศสุดคึกคักในเทศกาล Pride Month ในไทยปีนี้…จากการที่ในสังคมไทยดูจะ “ลดอคติ-มีความเข้าใจ” กลุ่ม “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” มากขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับว่า…ก็ “ยังมีอุปสรรค” ที่ทำให้ “ไทยดูเหมือนจะยังไปไม่สุด??” ในเรื่องนี้ โดยมี “มุมสะท้อน” จาก ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจการนักศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ได้ฉายภาพผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาน่าสนใจ…

สะท้อนถึง “สถานการณ์จริงในไทย”
กับกรณี “สิทธิผู้หลากหลายทางเพศ”
“เป็นเช่นไร??” ก็ลองมาพิจารณากัน…

ทั้งนี้ ทางประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สะท้อนผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ภาพรวมเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศตอนนี้ มีความก้าวหน้ามากขึ้นจริง ๆ โดยเฉพาะเรื่องสมรสเท่าเทียม จนอาจพูดได้ว่า… ปี 2567 เป็นปีที่ดีเลย แต่ ต้องยอมรับว่าความก้าวหน้านี้กลับยังไปไม่สุด เนื่องจากแม้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้ในสิ่งที่เรียกร้องมาตลอด แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่อาจจะวางใจ หรือถ้าไม่ติดตามจับตาใกล้ชิด ก็อาจจะถอยหลังกลับไปจุดเริ่มต้นได้เช่นกัน …ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ

พร้อมแยก “ประเด็นที่ต้องจับตา” แบ่งเป็นข้อ ๆ ว่า… ประเด็นแรกคือ “สมรสเท่าเทียม” ที่มีวัตถุประสงค์คือ ทำให้คนทุก ๆ คนสมรสกันได้ แต่ที่ไปไม่สุดก็คือ…ยังมีคำว่า “บิดา-มารดา” อยู่ ทั้ง ๆ ที่สมรสเท่าเทียมควรจะเป็นบุคคลที่คือใครก็ได้ ที่สามารถสมรสกันได้ แต่พอมีคำ 2 คำนี้อยู่ ก็เลยเป็นที่กังวล เพราะ ทำให้วกกลับไปที่เรื่องเพศสภาพ หรือเรื่องของคำว่า “ชาย-หญิง” อีก เพราะทางราชบัณฑิตได้นิยามไว้ว่า “บิดา-มารดา” เป็น “ชาย-หญิง” ดังนั้น คนเพศใดก็สามารถสมรสกันได้…แต่สร้างครอบครัวไม่ได้!! ทั้งที่การสมรสไม่ได้หมายความถึงแต่งงานอย่างเดียว แต่หมายถึงการสร้างครอบครัวด้วย…

“จริง ๆ ควรจะเปลี่ยนมาใช้คำว่า…บุพการี เพราะสามารถเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กหรือลูกได้ทั้งคู่ แต่กฎหมายก็ยังไปไม่สุด เพราะยังพูดถึงบิดา-มารดาอยู่ ทำให้เมื่อหญิงกับหญิง ชายกับชาย หรือคนข้ามเพศกับคนข้ามเพศ ที่สมรสกัน และอยากรับเด็กมาอุปการะเลี้ยงเป็นลูกก็เกิดปัญหา เพราะต้องสรุปว่า…แล้วใครล่ะที่จะเป็นพ่อหรือแม่??”

นี่ข้อสังเกตประเด็นแรกที่เป็น “ข้อกังวล”

ประเด็นที่สอง “ไทยยังไม่มีองค์กรที่ได้รับการรับรองระดับสากล” แม้ว่าประเทศไทยจะประกาศให้โลกรู้ว่า…มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อง สิทธิความหลากหลายทางเพศ แล้ว แถมเสนอตัวจัดงานใหญ่ระดับโลก เช่น World Pride ซึ่งไม่มีใครติงว่าไทยไม่เหมาะสม แต่ไทยกลับไม่ผ่านเกณฑ์จากองค์กรที่ดูแลลิขสิทธิ์ตรงนี้ เพราะไทยยังไม่เคยจัดงานประชุมระดับนานาชาติว่าด้วย สิทธิ LGBTQ+ เลย ทำให้ในปี 2568 รัฐบาลจึงต้องจัดงานขึ้นให้เข้าเกณฑ์ เพื่อที่ไทยจะได้รับเลือกให้จัดงานใหญ่งานนี้

“ปัญหาคือ… ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ จะทำเรื่องนี้ต่อไหม? หรือถ้าเกิดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ขึ้นมา รัฐบาลใหม่จะทำอยู่ไหม? อันนี้คือคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ” …นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ข้อกังวล” ของทางกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ประเด็นที่สาม “การแก้ความรุนแรงที่ไม่ตรงจุด” โดยทาง ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ บอกว่า… ดีใจที่ปัจจุบันสื่อนำเสนอ ความรุนแรงที่มีต่อ LGBTQ+ ทำให้สังคมไทยตระหนักปัญหานี้ แต่การแก้ปัญหาทั้งภาครัฐและภาคประชาชนก็ยังคงเป็นแบบเหมารวม ทั้งที่ปัญหาของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งควรดีไซน์วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้

ประเด็นสุดท้ายคือ “สุขภาพสุขภาวะ” ซึ่งส่วนตัวดีใจที่สาธารณสุขขานรับเรื่องนี้ โดยหลายพื้นที่ให้สิทธิคนกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ พื้นที่ที่อาจยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพสุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่จะมีความแตกต่างและละเอียดอ่อนกว่าเพศชายหรือหญิง และอีกสิ่งที่อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยคือ “คำนำหน้าชื่อเรียก“ ขณะเข้ารับบริการ ที่เสนอว่า ไม่ควรใช้แต่ควรเปลี่ยนเป็นเรียกหมายเลขคิว หรือนามสกุลแทน เพื่อลดปัญหาการบูลลี่ทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศอับอาย…นี่เป็นอีกข้อเสนอจากประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

เพื่อ “ปลดล็อกนำสู่สิทธิเท่าเทียมจริง”
ให้สมกับที่ “ไทยประกาศตัวก้องโลก”
ว่า “คือสวรรค์ LGBTQ+ ทั่วโลก??”.