อย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดี อันเนื่องมาจากความอยากลอง พฤติกรรมเลียนแบบ ความต้องการเข้าสังคม หรือบางคนหวังผลในแง่ลดความเครียด อีกทั้งกระแสสื่อโฆษณา รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดหรือทำให้เข้าใจผิด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า GEN 5 หรือ TOY POD ที่มาในรูปแบบตุ๊กตา พกพาง่าย และเหมือนของเล่นจนแยกไม่ออกว่าเป็นสิ่งของอันตราย ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เริ่มต้นการสูบ

โดย พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้ตอบคำถามคลายข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับบุหรี่ทั้ง 2 ชนิด กับ Healthy Clean ในวันนี้

ต้องบอกก่อนว่า เมื่อทดลองสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ร่างกายจะได้รับสารนิโคติน โดยสารนิโคตินจะถูกดูดซึมทางผิวหนังและเยื่อเมือกที่บุผิว เช่น ปาก จมูก หรือการสูดดมทางปอด เมื่อสูดนิโคตินเข้าร่างกาย สารนิโคตินจะเข้าสู่สมองภายในเวลา 8-10 วินาที ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดแดงหดรัดตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น หายใจเร็วขึ้น และกระตุ้นสมองส่วนกลาง ทำให้ผู้สูบรู้สึกคลายความเครียด ในคนที่ติดนิโคตินมาก เมื่อหยุดสูบประมาณ 30 นาที จะแสดงอาการอยากนิโคติน ทำให้กระวนกระวาย กังวล ขาดสมาธิ หงุดหงิด มึนศีรษะ เศร้าหมอง นอนไม่หลับ หากกลับไปสูบ อาการดังกล่าวก็จะหายไป

ทั้งบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบของนิโคติน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระบบต่าง ๆ ของเราดังนี้
ระบบประสาทส่วนกลาง: เวียนหัว วิงเวียน การนอนหลับผิดปกติ ปวดศีรษะ หลอดเลือดสมองหดตัวเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองทั้งต่อทารกในครรภ์ เด็ก และวัยรุ่น
ระบบหัวใจและหลอดเลือด: ภาวะหลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น โรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นเร็ว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ระบบหายใจ: โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมหดเกร็ง และโรคมะเร็ง
ระบบทางเดินอาหาร: แผลในกระเพาะอาหาร อาการคลื่นไส้ ปากแห้ง กรดไหลย้อน โรคมะเร็ง

น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น
1.โพรพิลีนไกลคอล: ระคายเคืองตา ทางเดินหายใจ ไอ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน
2.กลีเซอรีน: ไอ หลอดลมตีบ หอบเหนื่อย
3.สารประกอบอันตรายอื่น ๆ เช่น สารหนู โลหะหนัก ฟอร์มัลดีไฮด์ เบนซีน สารชูรสมินต์ เมนธอล ซึ่งอาจก่อมะเร็ง
นอกจากนี้ พิษของบุหรี่ไฟฟ้า ยังส่งผลเหนี่ยวนำการอักเสบ ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทั้งด้านพฤติกรรม หน่วยความจำ กล้ามเนื้อกระตุก

“สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบสูงขึ้น 71%, โรคหัวใจวายเฉียบพลันสูงขึ้น 59% และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 40%”

แล้วบุหรี่ไฟฟ้าต่างจากบุหรี่ธรรมดาอย่างไร? บุหรี่ไฟฟ้าใช้ระบบการส่งนิโคตินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไอที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้า มีความร้อนสูง ทำให้เผาทำลายเซลล์เยื่อบุการหายใจ ปริมาณของนิโคตินที่มีความเข้มข้น และอีกทั้งส่วนผสมอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างกันของแต่ละบริษัท ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงแตกต่างกัน

บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโรคที่ต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ที่รู้จักกันในชื่อ “EVALI” ซึ่งมาจาก E-cigarette or Vaping product use-Associated Lung Injury ซึ่งมีความหมายว่า “อาการปอดบาดเจ็บที่สัมพันธ์กับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการสูบไอ” อาการแสดงได้แก่ ไอแห้ง เหนื่อยเวลาออกแรง อาจมีร่วมกับ อาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อาการเกิดขึ้นเร็ว ในหลักวัน สัปดาห์ หรือเพียงไม่กี่เดือน หลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า ภาพทางรังสีปอดพบปอดอักเสบรุนแรง โดยตรวจไม่พบสาเหตุจากการติดเชื้อ เกิดภาวะพร่องออกซิเจนได้รุนแรง จนหลายรายเกิดภาวะหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

จริงหรือไม่?… บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกบุหรี่ ต้องบอกว่า บางคนอยากเลิกบุหรี่ แต่เลิกไม่ได้ จึงหาทางเลือกใหม่ด้วยการหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเชื่อว่ามีความปลอดภัยกว่า อันตรายน้อยกว่า และช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ จากข้อมูลพบว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 5-9 และมีข้อมูลว่า หากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทน ทำให้โอกาสเลิกบุหรี่ลดลง 27 เปอร์เซ็นต์ ข้อเท็จจริง คือ “บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัยที่ไม่ต่าง หรือ อาจร้ายกาจกว่าบุหรี่ธรรมดาเสียด้วย อีกทั้งไม่ช่วยในการเลิกบุหรี่”

การเลิกบุหรี่ดีต่อสุขภาพอย่างไร? ภายในหลักนาทีหลังหยุดบุหรี่ อัตราการเต้นของหัวใจเริ่มลดลงสู่ระดับปกติ
ภายใน 24 ชั่วโมงหลังหยุดสูบบุหรี่ ระดับนิโคตินจะไม่หลงเหลืออยู่ในร่างกาย
ภายใน 48-72 ชั่วโมง ระดับ Carbon monoxide ในเลือดจะกลับสู่ปกติ
หลังเลิกบุหรี่ 1-12 เดือน อาการไอ อาการเหนื่อยลดลง การทำงานของระบบการหายใจจะดีขึ้น
หลังเลิกบุหรี่ 1-2 ปี ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลดล
หลังเลิกบุหรี่ 3-6 ปี อัตราเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือดลดลงครึ่งหนึ่ง
หลังเลิกบุหรี่ 5-10ปี อัตราเสี่ยงโรคมะเร็งช่องปากและกล่องเสียง ลดลงครึ่งหนึ่ง ลดปัจจัยเสี่ยงเส้นเลือดสมองตีบ
หลังเลิกบุหรี่ 10 ปี อัตราเสี่ยงโรคมะเร็งปอดลดลงครึ่งหนึ่ง ลดอัตราเสี่ยงโรคมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ไต
หลังเลิกบุหรี่ 15 ปี อัตราเสี่ยงโรคหัวใจขาดเลือด จะเทียบเท่าคนไม่สูบบุหรี่
หลังเลิกบุหรี่ 20 ปี อัตราเสี่ยงโรคมะเร็งช่องปาก กล่องเสียง ตับอ่อน จะเทียบเท่าคนไม่สูบบุหรี่ อัตราเสี่ยงโรคมะเร็งปากมดลูกลดลงครึ่งหนึ่ง..

………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…