หาดราไวย์”ในพื้นที่จ.ภูเก็ต เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ด้วยสภาพหาดทรายขาวสะอาด จนเป็นที่จับจ้อง ครอบครองของบุคคลภายนอก ในขณะที่มีชาวเล ซึ่งเรียกตัวเองว่า“อูรักลาโว้ย” อยู่อาศัยและทำกินบริเวณนี้มาเนิ่นนาน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมาย

ผลคือต่อมามีการออกเป็น“โฉนด”ให้บุคคลภายนอก นำมาสู่การฟ้องร้องขับไล่ชาวเลออกจากพื้นที่ราไวย์ และไม่ให้ทำกินในพื้นที่ที่มีการออกโฉนดแล้ว…

ช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมามีคำพิพากษาสำคัญ เกี่ยวกับการรับรองสิทธิในที่ดินของชาวเลราไวย์ 2 คดี แยกเป็นเรื่อง “สิทธิในการอยู่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิม”และ“สิทธิในการทำกินในพื้นที่”

ในเรื่องสิทธิอยู่อาศัยเจ้าของโฉนดมีการฟ้องชาวเล 4 คน ได้แก่ นายแอ่ว หาดทรายทอง ,นายวรณัณ หาดทรายทอง , นายนิรันดร์ หยังปาน และนายบัญชา หาดทรายทอง ซึ่งเป็นชาวเลที่ราไวย์ เพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่พิพาท เนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน บริเวณ ม. 2 .ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต .ภูเก็ต และเรียกค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท

คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน“ยกฟ้อง”ตามศาลชั้นต้น พร้อมให้ความเห็นโดยสรุปว่า การแจ้งการครอบครองของเจ้าของโฉนดไม่ชอบ และเกินกว่า ส.ค.1ที่อ้าง และศาลฎีกาพิพากษา“ยกคำฟ้อง”เจ้าของโฉนดในเรื่องสิทธิการทำกินในพื้นที่ผู้จัดการมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 8324 ต.ราไลย์ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ฟ้อง..อ้อมใจ กันเสนาะ, นายเจริญ ดำรงเกษตร , นางสอน หาดทรายทอง , ..เย็นจิต หมิเด็น และ..สมพอง แซ่ชั่ว เป็นจำเลยที่ 1-5 ที่ถือวิสาสะเข้ามาตั้งแผงค้าขายอาหารทะเลสด เป็นแผงปลาขนาดกว้างยาวแผงละประมาณ 3 เมตร

โดยจำเลยที่ 1 และ 2 มีคนละ 2 แผง และจำเลยที่ 3 ถึง 5 มีคนละ 1 แผง จึงข อให้รื้อถอนและขนย้ายแผงค้าขายอาหารทะเลสด พร้อมทั้งบริวารออกไป และห้ามยุ่งเกี่ยวที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ทั้งเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหาย จากจำเลยที่ 1 และ 2 จำนวน 12,000 บาทต่อเดือน และจำเลยที่ 3 ถึง 5 จำนวน 6,000 บาทต่อเดือน

กระทั่งศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา โดยศาลอุทธรณ์ ภาค 8 พิพากษายกฟ้องตามศาลชั้นต้น และเห็นว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาเชื่อในพยานหลักฐานของจำเลยที่สำคัญคือ

การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่ดินพิพาท ปี 2493 , 2510 , 2519 , 2538 , 2545 และ 2552 พบว่าหมู่บ้านชาวเลราไวย์ปลูกสร้างอยู่ในสวนมะพร้าว ตั้งแต่ปี 2493 แล้ว รวมทั้งการขุดค้นพบโครงกระดูกบริเวณที่พิพาทโดยนักโบราณคดีกรมศิลปากร และการตรวจดีเอ็นเอโครงกระดูกที่พบกับชาวเลราไวย์ในปัจจุบันโดยสถาบันนิติวิทยาสตร์ พบว่ามีความเกี่ยวพันเป็น“บรรพบุรุษ”ของชาวเลราไวย์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีสำเนาทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้พื้นที่พิพาทมากที่สุด พบว่ามีชาวเลราไวย์เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ก่อนปี 2498 และภาพถ่ายการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มา ณ ชุมชนราไวย์ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2502 โดยมีภาพชาวเลราไวย์ร่วมรับเสด็จ มีบ้านพักอาศัยลักษณะเป็นหมู่บ้านและมีต้นมะพร้าวจำนวนมาก

นายสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลราไวย์ ระบุ ต้องใช้เวลาเนิ่นนานกว่าชาวเลจะชนะคดีในศาลฎีกาซึ่งถือเป็นที่สุด ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจที่จะอยู่อาศัยในที่ดั้งเดิม มั่นใจที่จะเพิ่มแผงปลาที่จะค้าขายอาหารทะเล ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวเลตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถใช้พื้นที่ชายหาดส่วนอื่น ซึ่งผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ติดชายหาดไม่ให้เข้าไปใช้ ทั้งที่ชายหาดเป็นพื้นที่สาธารณะและชาวเลก็เคยใช้ประโยชน์ตลอดมา โดยเฉพาะพื้นที่ทางทะเลที่มีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลทับพื้นที่ดั้งเดิมของชาวเลที่ยังถูกกีดกันไม่ให้ชาวเลเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่อุทยาน

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยว่า จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ระบุว่ามีการออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของชาวเล รัฐบาลและกรมที่ดินต้องตรวจสอบการออกโฉนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ และเพิกถอนโฉนดฉบับนั้น รวมทั้งออกโฉนดให้กับชาวเลที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นเจ้าของและอาศัยอยู่มาเนิ่นนาน

ตลอดจนตรวจสอบการออกประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ทับพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของชาวเลที่มีมาดั้งเดิม รวมถึงเพิกถอนพื้นที่ที่มีการทับซ้อน

เพื่อให้ชาวเลสามารถอยู่อาศัย ทำกิน มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณในพื้นที่ดั้งเดิมของตัวเองได้” นายสุรพงษ์ เสนอทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน