เมืองไทยระยะหลัง ๆ มีกระแสกรณี“นอกใจซุกกิ๊ก“ปรากฏขึ้นครึกโครมเอิกเกริกบ่อย ๆ จน “เหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา??“ไปเสียแล้ว??… อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็มี “มุมจิตวิทยาน่าคิด” ซึ่งเรื่องนี้กับ “ผู้ถูกนอกใจ” นั้นไม่เพียงทำให้ “เกิดแผลทางใจ” แต่ยัง “อาจเป็นตัวเร้านำสู่เหตุน่าเศร้า” ได้ด้วย ดังนั้น “วิธีรับมือการถูกนอกใจ“เป็นอีกเรื่องที่น่ารู้ไว้…

ในยุคที่เมืองไทย “อื้ออึงแทบรายวัน”
กับ “กรณีนอกใจ” ที่มีเซ็งแซ่ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล “คำแนะนำ“ เพื่อ “รับมือการถูกนอกใจ“จากชุดข้อมูลที่มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ www.istrong.co ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต ที่ได้ให้แนวทางเรื่องนี้ไว้ผ่านบทความชื่อ “เมื่อถูกคนรักนอกใจแต่เลือกให้อภัยแล้วไปกันต่อ : คู่มือก้าวข้ามความเจ็บปวดจากนักจิตวิทยา“ซึ่งชุดข้อมูลที่น่าสนใจนี้ โดยสังเขปนั้นมีว่า… ถูกคนรักนอกใจ เป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิต ซึ่งผู้ถูกนอกใจหลายคนบรรยายความรู้สึกหลังเผชิญเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่า…เหมือนกับโลกทั้งใบได้พังทลายลงไปต่อหน้า จากนั้นจึงตามมาด้วยความรู้สึกต่าง ๆ ทั้งความรู้สึกสูญเสียและสิ้นหวัง จนถึงเกิดความรู้สึกเจ็บแค้นจนแทบคลั่ง!! ทำให้ไม่อยากรักใครอีก…หรือขยาดกับความรัก

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลคำแนะนำในแหล่งข้อมูลดังกล่าวได้มีการระบุเน้นเรื่องนี้ไว้ว่า… แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไป และสำหรับคนที่ตัดสินใจให้อภัยคนรักแล้วนั้น…ก็ควรลอง เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แม้ว่าบางที การก้าวข้ามความเจ็บปวดและความกลัวที่จะไว้ใจใครอีก อาจจะเป็นบททดสอบที่ยากกว่าการถูกนอกใจ เนื่องจากจะมีคำถามมากมายผุดขึ้นมาในหัวของคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ถูกคนรักนอกใจเป็นระยะ ๆ เช่น จะมั่นใจได้หรือไม่ว่าจะไม่เจอกับเหตุการณ์ถูกนอกใจซ้ำอีก? หรือจะทำอย่างไรถึงจะหยุดฝันร้ายนี้ไม่ให้ตามหลอกหลอน? …เหล่านี้เป็น “คำถาม” ที่มักเกิดกับผู้ที่ “ถูกคนรักนอกใจ“

ในทางจิตวิทยาแล้ว… คำถามในหัวเช่นนี้ หรือความรู้สึกในใจที่บางคนกำลังเผชิญอยู่นี้ ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติหรือแปลกแต่อย่างใด เพราะ เป็นกระบวนการทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ กับทุก ๆ คน หลังเกิดเหตุการณ์ที่สั่นคลอนชีวิต โดยเรื่องนี้ทางนักจิตวิทยา
ต่างประเทศชื่อดัง อย่าง Elisabeth Kubler-Ross ได้อธิบายไว้เกี่ยวกับ “5 ขั้นตอนสำคัญ“ เมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสีย หรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิต โดยสามารถจะ “เป็นหลักคิด 5 ข้อ“ที่นำไปพิจารณาปรับใช้…

ใช้กับการสูญเสียอย่าง ถูกนอกใจ“
หรือ ใช้รับมือการเลิกรา-หย่าร้าง“…

ทั้งนี้ 5 ขั้นตอน…ที่ก็เกี่ยวกับการ “ถูกนอกใจ” ซึ่งเป็นอีกรูปแบบการสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนชีวิต ในแหล่งข้อมูลข้างต้นระบุไว้ว่าประกอบด้วย… ขั้นแรก ช็อกและปฏิเสธ (Denial) โดยช่วงแรกที่ได้รู้ความจริง คนเรามักตกใจ และไม่อยากเชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดกับตนเอง ทำให้คน ๆ นั้นพยายามหาเหตุผลเพื่อมาอธิบายว่า…ทำไมเขาจึงทำแบบนี้กับเรา?

ขั้นที่สอง โกรธ (Anger) จากนั้นเมื่อความจริงค่อย ๆ เข้ามากระทบจิตใจ คนที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้จะเริ่มรู้สึกโกรธแค้น ทั้งโกรธตัวเอง โกรธคนรัก โกรธโลกทั้งใบ ส่งผลให้บางคนแสดงผ่านอาการก้าวร้าว เอาแต่ใจ ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้

จากนั้น… ขั้นที่สาม ต่อรอง (Bargaining) โดยเมื่อถึงขั้นนี้คนที่ถูกนอกใจจะเริ่มมองหาทางแก้ไข ด้วยหวังให้ทุก ๆ อย่างที่เปลี่ยน แปลงกลับเป็นเหมือนเดิม ผ่านการกระทำและพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ขู่ทำร้ายตัวเอง ขอร้องให้กลับมา หรือแม้แต่สัญญาว่าจะยอมเปลี่ยน แปลงตามที่คนที่นอกใจต้องการ, ขั้นที่สี่ ซึมเศร้า (Depression) ซึ่ง…หากปล่อยให้อารมณ์ดำดิ่งจากการถูกนอกใจนาน ๆ จะทำให้คนที่ถูกนอกใจมักเกิดอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าอะไร ๆ คงไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิม ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกหมดหวัง เศร้า เหงา ท้อแท้ หรือบางคนปล่อยปละละเลยตัวเอง นอนไม่หลับ รับประทานไม่ได้ ส่งผลให้น้ำหนักลด หรือรายที่อาการหนัก ๆ ก็อาจจะถึงขั้นปล่อยให้งานหรือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบอยู่นั้นพังไม่เป็นท่า

ขั้นที่ห้า ยอมรับ (Acceptance) เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร ส่วนใหญ่คนเราจะค่อย ๆ ปล่อยวางและยอมรับความจริงได้ ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้ได้ ชีวิตจะเริ่มกลับคืนสู่ภาวะปกติ ถึงแม้แผลใจจะยังไม่หายดี แต่ก็พร้อมจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ได้อีกครั้ง

“การผ่านขั้นตอนทั้ง 5 อาจจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ความเข้มข้นของความสัมพันธ์ สาเหตุของการนอกใจ ระยะเวลาที่ถูกนอกใจ การสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อน“ …นี่เป็นการขยายความเพิ่มเติมถึง “ระยะเวลา” ที่ผู้ที่ถูกคนรักนอกใจนั้นจะใช้ระยะเวลาไม่เท่ากันในการ “รับมือการสูญเสีย“รูปแบบนี้

และในข้อมูลคำแนะนำที่เผยแพร่ทาง www.istrong.co ยังระบุไว้ด้วยว่า… เมื่อถึงขั้น “ยอมรับ” ในระหว่างนี้ “สิ่งที่ผู้ที่ถูกนอกใจควรทำ” มีดังนี้คือ… ให้เวลาตัวเองในการเยียวยา อย่าเร่งรีบกดดันตัวเองเกินไป, ฝึกระบายความรู้สึกอย่างสร้างสรรค์ แทนที่จะเก็บกดหรือระเบิดอารมณ์ใส่คนอื่น, ห้ามตัดสินหรือโทษตัวเองเป็นอันขาด ไม่ว่าจะรู้สึกอับอายแค่ไหน, หาสิ่งที่มีความสุขมาเติมเต็มชีวิต ใช้เวลาทำในสิ่งที่ชอบ, เปิดใจคุยกับคนรักอย่างสงบ ถึงสาเหตุการนอกใจ, ปรึกษาแหล่งความช่วยเหลืออื่น เมื่อพร้อม ได้แก่ คนใกล้ชิด ครอบครัว เพื่อนสนิท หรือนักบำบัด …นี่เป็น “คำแนะนำที่น่ารู้ไว้“

เป็นดั่ง…คู่มือรับมือการถูกนอกใจ“
ที่ก็อาจเป็น…อีกคู่มือชีวิตที่สำคัญ“
ใน ยุคที่นอกใจไม่รักมั่น…อื้ออึง!!“.