ไสยศาสตร์เป็นระบบความเชื่อของมนุษย์ที่ตอบโจทย์ความต้องการทางใจและจิตวิญญาณ หน้าที่ของไสยศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่คือการ spiritual exercise ที่ช่วยให้มนุษย์เข้มแข็งขึ้น มีความหวังมากขึ้น จนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ในโลกที่มีความไม่แน่นอน“ …เป็นมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อ “ปรากฏการณ์มูเตลูฟีเวอร์“จนทำให้ “ธุรกิจมูเตลู” จัดเป็นหนึ่งใน “ธุรกิจดาวรุ่งปี 2567” และกระตุ้นให้ มี “มิจฉาชีพ” เข้ามาเป็น “ร่างทรงลวง-หมอดูเก๊” หลอกลวงเอาทรัพย์ โดยมีเหยื่อจำนวนมาก ซึ่งปรากฏการณ์นี้ นอกจากต้องย้ำเตือนให้ระวังแล้ว…ก็ยัง “สะท้อนภาวะสังคมไทย“

“ฉายภาพภาวะจิตใจคนไทย“ ในยุคนี้
มี ปัจจัย-ตัวเร้า“ ให้ พึ่งไสยศาสตร์“

ทั้งนี้ กับ “กระแสมูเตลูฟีเวอร์” นั้น วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลบทวิเคราะห์จากบทความ “มองอย่างเข้าใจไสยศาสตร์ในวิถีเมืองตัวช่วยรับมือโลกป่วนและความเปลี่ยวเหงา” ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดทำโดย ธิติรัตน์ สมบูรณ์ ที่ได้สะท้อนการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อกระแสนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางสังคมเรื่องนี้ โดยทาง ผศ.ดร.กัญญา วัฒนกุล อาจารย์ประจำ ศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงประเด็นนี้ไว้ว่า… การที่ ไสยศาสตร์งอกงามในสังคมเมืองเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม…

ว่า…“เกิดอะไรขึ้นในสังคมเมือง?“
ที่ “ทำให้ผู้คนยุคใหม่พึ่งพิงเรื่องนี้“

และ ผศ.ดร.กัญญา ก็ได้ระบุเพิ่มเติมถึงเรื่องนี้ไว้ว่า… ถึงแม้ในโลกสมัยใหม่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบและสะท้อนความจริงหลายอย่าง แต่ สิ่งที่ “วิทยาศาสตร์ไม่อาจทำหน้าที่แทนไสยศาสตร์ได้” นั่นคือ “มิติด้านความรู้สึก” ดังนั้น จึงทำให้แม้มนุษย์ในปัจจุบันจะมีความรู้และความเข้าใจเชิงเหตุผล มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเข้าใจความเป็นจริง แต่ในบางครั้งความจริงก็ไม่ตอบโจทย์ทางอารมณ์ เช่น ความเศร้า ความหวัง และด้วยช่องว่างนี้เองจึงทำให้ไสยศาสตร์เข้ามาเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ แม้ไสยศาสตร์ในบางเรื่องหรือบางครั้งจะไม่เมคเซนส์แต่ก็ทำให้บางคนเกิดความรู้สึกอุ่นใจ

เป็นมุมสะท้อนน่าคิดซึ่งมีการวิเคราะห์ไว้

นอกจากนั้น “สิ่งที่ทำให้ไสยศาสตร์แข็งแกร่ง” ในสังคมสมัยใหม่…ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ไสยศาสตร์มีการผนึกความรู้สึกร่วมของผู้คนและสังคมเข้าไปด้วยนั่นเอง ซึ่งประเด็นนี้ ผศ.ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ นักวิชาการ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้วิเคราะห์และสะท้อนไว้ว่า… ในสังคมชนบทไสยศาสตร์คือเครื่องมือที่รับใช้ความเป็นชุมชน ซึ่งจะแตกต่างจากในสังคมเมือง ที่ไสยศาสตร์มีขึ้นเพื่อตอบสนองความเป็นปัจเจกชน หรือตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคล โดย สังคมเมืองยุคใหม่ “ไสยศาสตร์ยังถูกใช้เป็นตัวช่วยที่สำคัญ” เพื่อรับมือโลกป่วนและช่วยบริหารความเสี่ยง ด้วย

“เหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจ ที่พื้นที่เมืองในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์กลางความเจริญทางวัตถุเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเชื่อและวิถีปฏิบัติเชิงไสยศาสตร์ที่หลากหลายด้วย“ …เป็นการอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้

ส่วน ผศ.ดร.กัญญา ก็ยังได้สะท้อนไว้ในบทความโดย ธิติรัตน์ สมบูรณ์ เพิ่มเติมว่า… การที่ไสยศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตของคนสังคมเมืองไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจาก ชีวิตในสังคมเมืองเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงและไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสในชีวิต ที่ความรวยกระจุก จนกระจาย มีช่องว่างทางรายได้มาก จึงไม่ผิดที่ผู้คนจำนวนมากหันเข้าหาความเชื่อเชิงไสยศาสตร์เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉิน
และจากความไม่แน่นอนของชีวิต …นี่เป็นปัจจัยทำให้ “คนเมืองพึ่งไสยศาสตร์“ ที่มีเป้าหมาย “เพื่อช่วยให้รู้สึกอุ่นใจท่ามกลางชีวิตที่ไม่แน่นอน“

และที่ยิ่งน่าสนใจจากปรากฏการณ์ทางสังคมเรื่องนี้ นั่นก็คือ…ไม่ได้มีแค่กลุ่มคนระดับล่างที่พึ่งไสยศาสตร์ กลุ่มคนที่มีความรู้ คนที่มีอาชีพมั่นคง หรือแม้แต่คนดัง-คนมีชื่อเสียง ก็ยังให้ความสำคัญ กับการดูดวง หรือ “มูเตลู“ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ในส่วนของ ผศ.ดร.เกษม ระบุไว้ว่า… การใช้ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือในชีวิต
ของคนกลุ่มนี้อาจจะแตกต่างจากกลุ่มคนระดับล่าง ซึ่งคนที่ดูมีหน้าที่การงานหรือชีวิตที่มั่นคง แต่ยังพึ่งเรื่องนี้ อาจจะเป็นเพราะ มีบางเรื่องที่วิทยาศาสตร์ตอบคำถามให้ไม่ได้ จนตัดสินใจหันไปพึ่งพาไสยศาสตร์ เพราะต้องการลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอน นั่นเอง

เป็นการฉายภาพ “คนสถานะดีก็พึ่งมู“

ทั้งนี้ สลับกลับมาที่ ผศ.ดร.กัญญา ที่ได้ระบุไว้ด้วยว่า… สิ่งที่น่าหาคำตอบคือ ภาวะสังคมแบบใดทำให้คนหันไปพึ่งพิงสิ่งเหนือธรรมชาติ? มากกว่าแสวงหาความช่วยเหลือจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ หรือจากคนในสังคมด้วยกันเอง ซึ่ง เป็นเพราะโครงสร้างทางสังคมที่ไม่โอบเอื้อต่อชีวิตผู้คนเวลานี้หรือไม่? นอกจากนั้น ส่วนตัวยังมองเห็นว่า…อีก “ตัวเร้าสำคัญ” ทำให้คนสังคมเมืองพึ่งพิงไสยศาสตร์ อาจมาจากการเป็น “สังคมความเหงา” ที่คนต้องการ แสวงหาที่พึ่งทางใจคลายความโดดเดี่ยว ท่ามกลางการต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองอันโกลาหล…นี่ก็เป็นอีกส่วนจากการวิเคราะห์ไว้

“คนในสังคมเมือง” ก็ “มูเตลูฟีเวอร์”
ในปัจจุบัน มูเตลูยิ่งฟีเวอร์น่าคิด“
และก็ ยิ่งต้องระวัง…มูสายตุ๋น!!“.