เรื่อง ’การสักรอยสัก“ ที่มีมาแต่ยุคอดีตใน’มุมความเชื่อ“ มาถึงยุคปัจจุบันไม่ได้ถูกมองเชิงลบมากเหมือนยุคก่อนหน้านี้ โดยยุคปัจจุบันเรื่องนี้ถูกมองใน ’มุมศิลปะงานศิลป์“ ด้วย… และที่สำคัญมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่นอกจากจะนิยม “สักรูปภาพสักข้อความ” แล้ว…ยังให้ความสนใจการ “สักยันต์” อีกด้วย แถมยังมีการนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย จนทำให้เกิด “รูปแบบรอยสักใหม่ ๆ” ซึ่งเคยเป็นกระแสฮือฮามาแล้วหลาย ๆ ครั้ง อย่างล่าสุดนี้ก็เพิ่งมีกระแสอื้ออึงกับ “รอยสักลาบูบู้” ที่เป็นการนำ ’ตัวการ์ตูนตุ๊กตา“ ที่กำลังโด่งดัง มา ’ประยุกต์เข้ากับมุมความเชื่อเรื่องการสักยันต์“ แบบดั้งเดิม…

นี่สะท้อนถึง ’พัฒนาการของรอยสัก“
ที่ทั้ง ’ยังยึดโยงมุมความเชื่อ“ ดั้งเดิม
และก็ ’เพิ่มเติมด้วยรูปแบบทันสมัย“

ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่อง “การสักรอยสัก” ซึ่งกับเรื่องนี้กรณีนี้นั้น…ใน ’มุมการแพทย์“ ก็ให้ความสนใจ โดยมีการรวบรวมข้อมูลโดย นพ.สมศักดิ์ ตันรัตนากร และข้อมูลดังกล่าวนี้มีการเผยแพร่ไว้ผ่านบทความใน www.RamaLaser.mahidol.ac.th เว็บไซต์ ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้มีการสะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับมุมความเชื่อในเรื่องนี้ พร้อมทั้งมีข้อมูลน่าพิจารณาในมุมการแพทย์ด้วย

ในชุดข้อมูลบทความชิ้นนี้ระบุไว้ว่า… การ ’สักยันต์“ ในประเทศไทยจะมีมาตั้งแต่สมัยใดไม่มีหลักฐานชัดเจนบ่งชี้ โดยวัตถุประสงค์การสักยันต์ในอดีตนั้น ผู้ชายจะสักยันต์ด้วยเหตุผลสำคัญในเรื่องของ “เวทมนตร์คาถา” เพื่อความแข็งแกร่งของจิตใจ กับมีเหตุผลเพื่อ “ต้องการความคงกระพัน” ซึ่งเป็นความเชื่อที่เป็นประเพณีนิยมในคนบางกลุ่ม ทำให้การสักยันต์ในยุคอดีตแต่โบราณมานั้นมีเป้าหมายสำคัญในเรื่องการ “ป้องกันตัวแคล้วคลาด” และเนื่องจากในสมัยโบราณผู้ชายจะต้องถูกเกณฑ์เพื่อไปออกรบ จึงนิยมสักยันต์ตามความเชื่อ โดย ’ยันต์ที่สัก“ เปรียบเป็น ’เครื่องรางของขลัง“ ชนิดหนึ่ง

ส่วน “ลักษณะการสักยันต์” นั้น จากชุดข้อมูลที่รวบรวมไว้โดย นพ.สมศักดิ์ มีการอธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า… ส่วนใหญ่ในยุคอดีตจะ สอดแทรกความเชื่อมีพิธีกรรมประกอบ ในการสักยันต์ด้วย และอาจารย์สักยันต์แต่ละคนจะมี “รูปแบบรอยสักยันต์” แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็น สัตว์ในเทพนิยาย อักษรขอม เลขยันต์ เป็นต้น รวมถึงยังอาจจะมีการผสมผสานรูปแบบต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันได้ด้วย ทั้งนี้ ในยุคหนึ่งในสังคมไทยเคย ’มองคนที่มีรอยสัก“ ด้วย ’ทัศนคติเชิงลบ“ กันมาก เนื่องจากยุคนั้นผู้นิยมสักยันต์มักจะเป็นกลุ่มนักเลง แต่ในยุคปัจจุบันมุมมองแง่ลบแบบนี้ค่อย ๆ เลือนหายไปแล้ว…

มีคนยุคใหม่มองเรื่องนี้เป็น ’ศิลปะ“
เป็น ’แฟชั่น-เครื่องประดับร่างกาย“

อย่างไรก็ตาม แม้คนยุคใหม่จะมอง “รอยสัก” เป็นเหมือนเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย แต่ก็มีไม่น้อยที่ “ยังไม่ทิ้งความเชื่อ” ด้วยเหตุนี้ “รอยสักดั้งเดิม” เช่น สักยันต์ จึงได้รับความนิยมในกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ ๆ ไม่น้อย โดยเฉพาะกับคนที่เชื่อว่าจะช่วยทำให้ “โชคดีปลอดภัย” และก็ยังรวมถึงความเชื่อเรื่อง “เมตตามหานิยม” ซึ่งกับ ความเชื่อเหล่านี้ในทางการแพทย์มองว่า ’รอยสัก“ น่าจะ ’ช่วยทำให้คน ๆ นั้นเกิดความมั่นใจ“ หรือมีผล ’ช่วยให้จิตใจมั่นคงเพิ่มขึ้น“

ขณะที่ “ลายสักที่นิยม” สำหรับผู้ที่นิยมสักยันต์ในปัจจุบันนั้น ในบทความดังกล่าวก็ได้มีการสะท้อนข้อมูลส่วนนี้ไว้ โดยสังเขปมีว่า… กรณีลายสักที่ “หวังผลทางด้านไสยศาสตร์” ตามความเชื่อของคนที่สักนั้นสามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบคือ… แบบแรก เพื่อผลทางด้านเมตตามหานิยม ที่เชื่อว่า…รอยสักแบบนี้จะช่วยให้ผู้ที่สัก เป็นที่รักใคร่มีเสน่ห์ดึงดูดใจ คนอื่น ๆ ได้ ส่วนแบบที่สอง เพื่อผลทางด้านแคล้วคลาด ซึ่งลวดลายที่นิยมสักกันนั้นก็มักจะมีรูปแบบอย่างเช่น… ลายเสือเผ่น, ลายหนุมาน, ลายหงส์, ลายสิงห์ หรือเป็นลายที่มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น… ยันต์เก้ายอด หรือ ยันต์เกราะเพชร เป็นต้น

นอกจากนั้น “วิธีการสักยันต์” ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบเช่นกัน ได้แก่… การ ’สักน้ำมัน“ ที่ส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันจันทน์หอมที่นำไปแช่ว่าน หรือน้ำมันงาขาว หรือบางแห่งหรือบางสำนักก็ระบุว่าผสมน้ำมันช้างตกมัน น้ำมันเสือโคร่ง ซึ่งปัจจุบันนี้วิธีการสักยันต์แบบสักน้ำมัน ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่มาก เพราะเป็นการสักยันต์โดยไม่มีลวดลายให้เห็น ในขณะที่อีกรูปแบบของการสักยันต์คือ… การ ’สักหมึก“ ซึ่งเป็น วิธีสักแบบดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่โบราณ ด้วยการใช้หมึกจีนมาผสมกับน้ำพระพุทธมนต์ หรือบางแห่งระบุว่านำส่วนผสมตามความเชื่อมาผสมในหมึกที่ใช้สักด้วย เช่น ดีเสือ ดีหมี ดีงูเห่า

ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้ “รอยสัก” จะไม่ได้ถูกมองเชิงลบมากเหมือนในอดีต แต่ในชุดข้อมูลบทความที่รวบรวมไว้โดย นพ.สมศักดิ์ ตันรัตนากร ที่เผยแพร่ไว้ใน www.RamaLaser.mahidol.ac.th ก็ได้ระบุไว้ด้วยว่า… มีผู้ที่มีรอยสักจำนวนไม่น้อยเข้าพบแพทย์เพื่อให้ช่วย ’ลบรอยสัก“ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การจะลบรอยสักได้อย่างสมบูรณ์เป็นเรื่อง ’ยาก“ เพราะหมึกฝังลึกเข้าถึงชั้นผิวหนังแท้ ซึ่งถ้าจะลบไม่ให้เหลือร่องรอยเลยก็จะเกิดแผลที่ไม่น่าดู หรือแม้ทำศัลยกรรมก็จะมีรอยแผลเป็นอยู่ดี ซึ่งการลบรอยสักทำได้ยาก ดังนั้น จึงมีการเน้นเตือน โดยเฉพาะ “เด็กและเยาวชน” ที่ยังอายุน้อย ๆ ไว้ว่า…

’ก่อนที่จะสัก“ อะไรลงไปบนร่างกาย…
ที่สำคัญคือ ’คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ“
ควร ’รอบคอบ-ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน!!“.