สินค้า “โอทอป” นั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนหลายล้านคน ทั้งคนเมืองและพี่น้องในชนบท โดยมีเม็ดเงินสะพัดปีละ 2-3 แสนล้านบาท ส่งเสริมให้มีการจ้างงาน และมีรายได้มากมาย แต่ปัจจุบันชาวโอทอปกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมการจัดงานอีเวนต์ งานออกบูธต่าง ๆ ต้องงดไปทั้งหมด ส่งผลให้ชาวโอทอปได้รับผลกระทบในลักษณะใดบ้าง และต้องการความช่วยเหลืออย่างไรจากภาครัฐ วันนี้เรามาคุยกับผู้เกี่ยวข้องกัน
ไม่มีอีเวนต์–กำลังซื้อหด! แย่กันหมด
นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ นายก อบต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานโอทอปเทรดเดอร์ประเทศไทย กล่าวกับทีมข่าว “1/4 Special Report” ว่าภาพรวมสินค้าโอทอปย่ำแย่กันทั่วหน้าจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ซึ่งปีที่แล้วไม่หนัก และยังมีงานใหญ่ที่เมืองทองธานีช่วงปลายปี 63 แต่ปีนี้หนักมากตั้งแต่เดือน เม.ย. เรื่อยมา เจอเข้าไป 2 เรื่องตายแล้ว คือ 1.ออกงานออกบูธ งานอีเวนต์ทุกระดับจัดไม่ได้เลย และ 2.กำลังซื้อลดลงมาก
แต่โอทอปที่ยังพอขายได้ต้องมีระดับจริง หรือพวกภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นของที่จำเป็นจริง ๆ และพวกที่รู้จักปรับตัวมาค้าขายทางออนไลน์ ซึ่งอาจจะมีประมาณ 30% ของจำนวนโอทอปทั้งหมด เนื่องจากการค้าขายออนไลน์ยุคนี้ ต้องมีช่องทางการตลาด มีทักษะ และมีรูปแบบของสินค้าที่ชัดเจน เช่น อาหารทะเล
แต่กรมการพัฒนาชุมชนได้ช่วยชาวโอทอปอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดอบรมออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ จัดงานศิลปาชีพ แต่ชาวโอทอปต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง เพราะตอนนี้โทษใครไม่ได้ เนื่องจากสาเหตุมาจากโควิด จึงต้องอดทนเพราะจัดงานเล็ก งานใหญ่ ๆ จัดไม่ได้เลย
ประธานโอทอปเทรดเดอร์ประเทศไทยกล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะมีโควิด-19 มีงานจัดงานโอทอปขนาดใหญ่ที่เมืองทองธานีปีละ 3 ครั้ง มีเงินสะพัดครั้งละกว่า 1 พันล้านบาท แต่ปีนี้ยังจัดงานใหญ่ไม่ได้ตัวเลขจึงเป็นศูนย์ เหมือนกับตนจัดตลาดชุมชนในต.บ้านใหม่ อ.มหาราช เคยมีการค้าขายกันเดือนละ 20 ล้านบาท ปัจจุบันก็เป็นศูนย์เช่นกัน
ปีที่แล้วยอดขายสินค้าโอทอปทั้งประเทศน่าจะตกไปประมาณ 50% แต่ปี 64 เจอล็อกดาวน์ 2 รอบ ยอดขายน่าจะตกไปไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากโอทอปลงลึกไปถึงระดับครัวเรือนรากหญ้าจริง ๆ ตอนนี้หลายคนจึงต้องอยู่นิ่ง ๆ เพื่อประคองตัว และปรับตัว แต่ถ้าไม่ไหวต้องหันไปทำอาชีพอื่นก่อน เพื่อรอการฟื้นตัว เมื่อไหร่ที่โควิดเบาบางลง และสามารถเปิดประเทศได้ มีกิจกรรมทางธุรกิจมากขึ้น มีการเดินทางท่องเที่ยวเป็นปกติ เมื่อนั้นสินค้าโอทอปจะฟื้นกลับคืนมา เพราะโอทอปอาศัยกำลังซื้อในประเทศ 80% และ 20% เป็นกำลังซื้อจากต่างชาติ
ขอรัฐตั้ง “กองทุนเฉพาะ” อุ้มโอทอป
เมื่อถามว่าสิ่งที่ต้องให้ภาครัฐช่วยชาวโอทอป นายวัชรพงศ์ ตอบว่า ต้องมองเชิงโครงสร้างโอทอป และระบบการตลาด จริงอยู่การขายทางออนไลน์มีความสำคัญ แต่ต้องไม่ทิ้ง “ออฟไลน์” ในท้องถิ่นที่มีการผลิตและจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะชุมชนแหล่งท่องเที่ยว รัฐควรสนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อให้สินค้าได้คุณภาพและมาตรฐานสูง จะช่วยเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าได้ ดีกว่าการผลิตของถูก ๆ แต่เน้นปริมาณการขาย
สิ่งสำคัญที่จะขอจากภาครัฐคือการตั้ง “กองทุนเฉพาะ” เข้ามาช่วยเหลือชาวโอทอป ซึ่งตอนนี้มีผู้ประกอบการ 94,413 ราย จำนวน 209,634 ชนิด (ผลิตภัณฑ์) มีเงินสะพัดในสินค้าโอทอปปีละ 2-3 แสนล้านบาท แต่จะทำอย่างไรให้มีกองทุนเฉพาะขึ้นมา โดยแยกจากธนาคารรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ถ้ารัฐช่วยลงมาจังหวัดละ 100 ล้านบาท เป็นกองทุนเฉพาะจำนวน 7,700 ล้านบาท
ตนเชื่อว่าชาวโอทอปจะรอดพ้นจากมรสุมโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้ เพราะชาวบ้านต่างจังหวัดจะได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องดูบัญชีย้อนหลัง หรือขอหลักฐานต่าง ๆ เหมือนที่ธนาคารพาณิชย์ทำอยู่ ส่วนธนาคารของรัฐ เช่น ออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารเอสเอ็มอี ได้เข้ามาช่วยโอทอปอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความคล่องตัวเท่าที่ควร
ช่วยเงินกู้-เร่งจัดงานใหญ่ ๆ “โอทอป” ฟื้น!
ทางด้าน นายพงศ์สวัสดิ์ ยอดสุรางค์ ประธานเครือข่ายโอทอปไทย และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกาะยอที.เอ็ม.พี.โปรดักซ์ จ.สงขลา เจ้าของผลิตภัณฑ์ “หนังปลากะพงขาวทอดกรอบ” สินค้าโอทอป ระดับ 5 ดาว เล่าบรรยากาศความหลังว่าช่วงปี 47-48 ตนนำสินค้าไปร่วมงานโอทอปที่เมืองทองธานี ขายได้วันละ 5 หมื่นบาท พอกลับมาบ้านห้างฯ ใหญ่ ๆ ระดับประเทศ 2-3 แห่ง ติดต่อขอซื้อสินค้าไปขายในห้างฯ เรียกว่าแทบผลิตสินค้าไม่ทันกับความต้องการของตลาด
แต่หลังจากนั้นทุกรัฐบาลให้ความดูแลโอทอปเป็นอย่างดี โดยมีกรมการพัฒนาชุมชนเข้ามาดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อเจอโควิดจึงลำบากกันหมด ยอดขายตกลงไป 70-80% โดยสินค้าประเภทอาหารที่จำเป็นในชีวิตประจำวันยังพอขายได้ แต่ถ้าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น พวกหัตถกรรม เสื้อผ้า สมุนไพรที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิดจะขายยาก
พูดกันตามตรงตอนนี้ส่วนใหญ่กินทุนเก่า ต้องเอาทุนสำรองมาใช้ในชีวิตประจำวันกันทั้งนั้น และสายป่านเริ่มตึงแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือคือเรื่องทุนหมุนเวียนก้อนแรกรายละ 5 แสนบาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลาผ่อนชำระ 3-5 ปี ซึ่งรูปแบบการกู้อาจจะค้ำประกันกันเอง หรือใช้สินค้าโอทอปเป็นตัวค้ำ เพื่อยึดสายป่านไม่ให้ตึง ให้อยู่รอดภายใน 1-2 เดือนนี้กันไปก่อน ซึ่งมีแนวโน้มว่าสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และอาจมีการทยอยเปิดจังหวัดให้มีการท่องเที่ยวตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป สินค้าโอทอปก็จะเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นให้มีการฟื้นตัว
แต่หลังจากโควิดคลี่คลายไปในทางที่ดีแล้ว ควรมีเงินกู้อีกก้อน ประมาณ 5 ล้านบาท เข้ามาช่วยฟื้นฟูโอทอป ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเงินกู้รายละ 5 ล้านบาท นั้นสูงเกินไป แต่อย่าลืมว่าผู้ประกอบการโอทอปมี 3 กลุ่ม คือ 1.โอทอปรายย่อย (ครอบครัว) 2.โอทอปแบบกลุ่มอาชีพ-วิสาหกิจชุมชน 3.โอทอปแบบธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งเงื่อนไขการให้กู้อาจจะดูที่ขนาดของธุรกิจและหลักทรัพย์เป็นหลัก ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% ในช่วง 2 ปีแรก แล้วจึงมีการปรับขึ้นแบบขั้นบันได
ประธานเครือข่ายโอทอปไทยบอกด้วยว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการโอทอปยังต้องส่งดอกเบี้ยกันตามปกติ โดยไม่มีการลดหย่อนเลย ตนใช้บริการธนาคารของรัฐก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย 7.5% ถ้าสภาพยังเป็นแบบนี้คงไปไม่รอด และผู้ประกอบการโอทอปทั่วประเทศก็อยู่ในสภาพเดียวกันหมด แต่ยังไม่มีงานออกบูธ ไม่มีงานอีเวนต์ใหญ่ ๆ เลย
“ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากไว้นอกเหนือจากเรื่องเงินกู้ 2 ก้อน คือภาครัฐต้องเร่งหาพื้นที่ใหญ่ ๆ เพื่อจัดงานโอทอป เช่นที่เมืองทองธานี และงานโอทอปกระจายไปตามจังหวัด ตามภูมิภาค แต่จำนวนบูธอาจเหลือแค่ 60-70% จากที่เคยจัด เพื่อให้มีระยะห่างกันมากขึ้น ส่วนพ่อค้า แม่ค้า หรือผู้ประกอบการที่จะไปร่วมออกบูธต้องได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม และมีมาตรการใช้ชุดตรวจโควิดที่หน้างาน ซึ่งอาจครอบคลุมไปถึงประชาชนทั่วไปที่จะมาเดินในงานโอทอป ต้องมีหลักฐานการวัคซีน 1-2 เข็ม หรือหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ จึงสามารถเข้างานโอทอปได้ ตรงนี้จะช่วยปลุกโอทอปที่กำลังจะล้มหายตายจากกันเป็นจำนวนมาก ให้สามารถผงกหัวขึ้นมาได้บ้างก่อนสิ้นปี 64” นายพงศ์สวัสดิ์ กล่าว.
โอทอปชอปปิงออนไลน์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ซึ่งกำลังลุกจากเก้าอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ไปเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 1 ต.ค. 64 กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน จัดงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ปี 64 ณ ลานเมือง 1 ชั้นจี ไอคอนสยาม ระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-9 ต.ค. 64 เพื่อช่วยผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอปที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กรมการพัฒนาชุมชน ยังคงส่งเสริมสินค้าโอทอปในทุกมิติ ทั้งกระบวนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ การเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว รวมถึงการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์
โดยคาดหวังว่าการจัดงานทั้งออนไลน์ คือในรูปแบบเสมือนจริง และ ออนไซต์ในห้างสรรพสินค้า จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างรายได้ ให้ผู้ผลิต ตลอดจนสมาชิกกลุ่มต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในงานมีทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นที่มาของศิลปาชีพ การจัดแสดงและจำหน่ายผลงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ด้วยผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ทรงคุณค่า และฝีมือประณีตกว่า500 รายการ การจัดจำหน่ายผลงานของศิลปินโอทอปและสินค้าโอทอประดับ 3–5 ดาว ทั้ง 5 ประเภท และโอทอปชวนชิม 1,800 ร้านค้า ที่สำคัญคือการจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) เชิญผู้ประกอบธุรกิจและผู้จัดจำหน่ายที่สนใจนำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดช่องทางการตลาดเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ ผ่านช่องทางออนไลน์ www.otop-shopping.com