หลายคนมองถึงเรื่องความถูกต้องเป็นหลัก ขณะที่คนอีกกลุ่มก็มองเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในสังคมไทย ทั้งที่จริงในซอกหลืบของสังคมยังมีหญิงสาวอยู่ในธุรกิจเพศพาณิชย์ไม่ว่าจะในประเทศ จนข้ามไปยังต่างประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ยังฝังรากลึกอยู่เฝ้ารอวันหาทางแก้อย่างเป็นรูปธรรม
สิทธิส่วนบุคคลบนความรับผิดชอบ
จากบทเรียนล้ำค่า “น้องไข่เน่า” ในตอนนี้ที่ 1 ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้พูดคุยกับนักวิชาการไปแล้ว สำหรับตอนที่ 2 มีโอกาสสัมภาษณ์ หนิง-ธนัดดา หรือ “เอรี่” เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “ฉันคือเอรี่ กับประสบการณ์ข้ามแดน” ผู้หญิงแกร่งที่กล้าออกมาเปิดเผยตัวในอดีตเคยผ่านประสบการณ์ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ได้มีมุมมองถึงเรื่องโอนลี่แฟนว่า ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งถ้าภาครัฐต้องการที่จะไม่ให้มีก็ต้องไปแก้ที่ระบบ แต่จริง ๆ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถกีดกันได้ เพราะเว็บไซต์ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ แม้หลายคนจะมองว่า คนที่เปิดช่องอาจเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีให้เด็กคนอื่น ๆ ไปเปิดช่องตาม แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ถ้าคนที่เปิดช่องเขายอมรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขาเอง
“โดยส่วนตัวแม้เคยผ่านประสบการณ์ในต่างแดน แต่ให้ไปเปิดช่องโอนลี่แฟน แล้วให้คนอื่นเข้ามาดู ตัวเองก็ไม่กล้า เพราะการเปิดช่องบนโลกออนไลน์ คนอีกหลายคนจะเห็นในสิ่งที่เราทำ ซึ่งคนที่เปิดช่องอาจจะมองต่างจากคนที่ค้าบริการว่า ไม่ได้ไปนอนกับผู้ชายมากหน้าหลายตา แต่จะทำเฉพาะกับแฟน”
แม้สังคมไทยในวงกว้างยังไม่ยอมรับ แต่ถ้ามองในโลกความเป็นจริง ประเทศไทยมีผู้ทำอาชีพโสเภณีอยู่เยอะมาก ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า สังคมไทยมีความดัดจริต ที่หลายคนพยายามปิดกั้นเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่คนรุ่นใหม่หลายคนมีการเรียนรู้เรื่องพวกนี้อยู่นอกตำราเรียน
การจะป้องกันปัญหาของการเปิดช่องออนไลน์เหล่านี้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนที่ทำด้วย เพราะถ้ามองในไทยตอนนี้ก็มีคนทำไม่เยอะ ดังนั้นการกำหนดอายุของคนเข้าชมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มีสื่อทางเพศเยอะ แต่สถิติอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทางเพศมีน้อย เพราะเขาเปิดเสรีกับเรื่องเหล่านี้ การที่ไทยมัวแต่ปิดกั้นอยู่อย่างนี้ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร ทั้งที่จริงยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้แอบทำ และถือเป็นปัญหาใหญ่กว่าเรื่องเซ็กซ์ ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆที่มีการค้าบริการเยอะ ดังนั้นสิ่งที่รัฐจะต้องทำคือ เข้าไปแก้ระบบต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คนเหล่านั้นไม่ต้องเข้ามาในวงจรค้าบริการ ต้องมีระบบการสอนในสถานศึกษาให้เด็กรู้เท่าทัน และเห็นคุณค่าของตัวเอง ในโลกปัจจุบัน ต่อให้รัฐไปไล่ปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม แต่ในยุคสื่อสารไร้พรมแดนคนก็ไปแสวงหาช่องทางอื่น ๆ ต่อได้อีก
เตือนสติเยาวชนเห็นคุณค่าตัวเอง
“เอรี่ ธนัดดา” กล่าวต่อว่า ตอนนี้ที่มีสถานการณ์โควิด ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ได้เดินทางเข้ามา ทำให้คนที่ทำอาชีพนี้อยู่ต้องหันไปขายตัวผ่านออนไลน์ หรือรับโชว์วาบหวิวต่าง ๆ ผ่านโลกออนไลน์ อีกทั้งบางส่วนก็ยังคงเดินทางเพื่อไปค้าประเวณีในต่างประเทศค่อนข้างมาก เพราะอย่างน้อยจะช่วยให้เขาลืมตาอ้าปากได้ ประเทศที่นิยมไป มีทั้ง บาห์เรน, ยูเออี, เกาหลีใต้ ฯลฯ คนที่ไปหลายคนไม่รู้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง โดยเฉพาะประเทศอาหรับที่มีกฎระเบียบเคร่งครัด พอไปเจอสถานที่จริงก็ไม่นึกว่าจะต้องอยู่แต่ในตึก พอเจอสิ่งเหล่านี้ก็รับไม่ได้อยากจะกลับไทย
พวกเอเย่นต์ที่พาไปก็ต้องการได้ค่าหัวอย่างเดียว พอไปถึงปลายทางก็ต้องไปส่งให้อยู่กับคนที่ดูแล ผู้หญิงหลายคนที่ไปต่างก็วาดหวังว่าตัวเองจะเลือกแขกได้ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ ซ้ำร้ายยังต้องเจอสารพัดรูปแบบ ทำให้บางคนตัดสินใจไปแจ้งหน่วยงานในท้องถิ่นนั้นว่าโดนหลอกให้มาขายตัว บ้างก็อัดคลิปขอความช่วยเหลือ
การแก้ปัญหาจะต้องมีการให้ความรู้ เพื่อไม่ให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นอาชีพที่สบาย โดยต้องเริ่มจากการให้ความรู้จากในโรงเรียน เพราะต้องยอมรับว่า เด็กสมัยนี้บางคนแค่ขึ้นชั้นมัธยมยังตั้งตัวเป็นถึงแม่เล้าแล้วก็มี สิ่งนี้สะท้อนถึงความอ่อนแอของเรื่องการสอนเกี่ยวกับเพศศึกษาในโรงเรียน ดังนั้นจะต้องมีการบอก หรือนำวิทยากรที่เคยมีประสบการณ์เหล่านี้ไปสอนในโรงเรียน
ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น มีคนที่มาขายตัวน้อยมาก เพราะเขามีระบบการสอนในชั้นเรียนให้เห็นถึงคุณค่าของตัวเอง การที่เราออกมาบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้คนในสังคมรับรู้ก็เพื่อเตือนสติน้อง ๆ ไม่ให้ก้าวพลาด เพราะมีเด็กบางคนที่เดินเข้ามาหาแล้วบอกว่าได้ฟังเรื่องราวจากเราแล้วคิดได้ ทั้งที่ตอนแรกก็อยากจะไปขายตัวเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพ
จี้รัฐอย่ามองข้ามปัญหาโสเภณี!
“เอรี่ ธนัดดา” ยังมีมุมมองถึงหญิงสาวได้ก้าวทางเดินผิดพลาดเส้นทางชีวิต จนได้ถลำลึกเข้าไปสู่อาชีพโสเภณีนั้น ถือเป็นปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งในภาคสังคมไทย อยากให้ทางภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนก็ต้องร่วมกันคิดหาทางออก จริง ๆ บางครั้งคนที่ทำงานนี้คงไม่มีใครต้องการจะขึ้นทะเบียน หรือบอกให้คนอื่นรู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองทำอาชีพนี้อยู่ ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องทำคือการวางแผนสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้มีรายได้มากขึ้น รวมถึงมีสวัสดิการของรัฐที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะหญิงสาวหลายคนที่ไม่มีความรู้ หรือไม่มีวุฒิการศึกษาที่ดี ก็ไม่สามารถหางานทำดี ๆ ได้ ทั้งที่ในต่างประเทศบางครั้งก็ดูกันที่ความสามารถไม่ได้ดูกันที่ใบประกาศ สิ่งนี้เป็นอีกเหตุผลทำให้ผู้หญิงหลายคนเมื่อไม่มีทางไปตัดสินใจหันมาขายบริการเพื่อเป็นอาชีพของตัวเอง
อาชีพขายบริการทางเพศ ไม่มีวันหมดไปจากประเทศไทยหรือโลกใบนี้อย่างแน่นอน แม้เราจะปิดกั้นยังไงก็มีช่องทางใหม่ ๆ โผล่มามากมายให้เห็นในหลากหลายรูปแบบ ต้นตอปัญหาส่วนใหญ่ของหญิงสาวที่ต้องเข้าสู่วงโคจรขายบริการทางเพศก็มาจากพื้นฐานครอบครัวยากจน สิ่งนี้ทำให้พวกเขาต้องออกมาสู้ อยากได้สิทธิและความเท่าเทียมในชีวิตเหมือนคนอื่น ๆ เพราะบางครั้งสังคมไทยยังมีการดูถูกเหยียดหยาม ไม่ให้เกียรติกันให้เห็นเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อหาทางออกไม่ได้จริง ๆ ก็ตัดสินใจทำเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว.