ถือว่าไม่พลิกโผ กับการที่สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ (เคเอฟเอ) เงื้อขวานฟัน เจอร์เกน คลินส์มันน์ พ้นเก้าอี้กุนซือทีมชาติเกาหลีใต้ ด้วยผลงานการตกรอบรองชนะเลิศ เอเชียน คัพ ด้วยน้ำมือทีมอย่าง จอร์แดน บวกกับดราม่าร้อน ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจบทัวร์นาเมนต์ การสั่งเด้งจึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ไม่ยาก แม้ต้องเสียค่าชดเชยมหาศาลก็ตาม

เรื่องราวของ “แทกึก วอริเออร์ส” กับ “ฉลามขาว” จึงกลายเป็น “น้ำผึ้งขม” ในเวลาอันรวดเร็วแค่ปีเดียว

ในวันที่เป็นจุดเริ่มต้นนั้น ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเหตุผลกลใด “เคเอฟเอ” จึงเสี่ยงมาลัยเลือก คลินส์มันน์ ซึ่งตลอดเส้นทางการเป็นกุนซือแทบไม่มีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน

และนับตั้ง 2016 ที่แยกทางกับทีมชาติสหรัฐ มาจนถึงการได้คุม เกาหลีใต้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นเวลาราว 7 ปีนั้น “ฉลามขาว” มีงานคุมทีมกับ แฮร์ธา เบอร์ลิน ช่วงสั้น ๆ แค่ไม่ถึง 3 เดือน

ว่ากันว่าผู้บริหาร “เคเอฟเอ” ประทับใจ คลินส์มันน์ ตอนทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมวิเคราะห์เกมของ ฟีฟ่า ในฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ซึ่ง “ฉลามขาว” ได้รับเสียงชื่นชมมากมาย

ว่าแล้วก็เลยติดต่อทาบทามมาคุมทีมชาติเกาหลีใต้แทนที่ เปาโล เบนโต เสียเลย แต่ทุกอย่างมันไม่เป็นไปตามคาด การคุมทีมจริงกับการวิเคราะห์เกมบนหน้ากระดาษ เป็นคนละเรื่องกัน เพราะนอกเหนือจากเรื่องแทคติก คนเป็นกุนซือทีมชาติยังต้องรับมือกับการบริหารจัดการ นู่นนี่นั่นมากมาย และที่สำคัญคือเรื่องของ “กระแส” ของสื่อและแฟนบอล

พอ คลินส์มันน์ สตาร์ตการคุมทีมไม่ชนะใครใน 5 เกมแรก คะแนนนิยมของเขาจึงติดลบตั้งแต่เริ่มก้าวแรก บวกกับแนวทางการทำงานที่เจ้าตัวไป ๆ มา ๆ ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐอเมริกา อันเป็นนิวาสสถาน ก่อให้เกิดคำถามขึ้นในแวดวงสื่อและแฟนบอลแดนโสมขาวเนือง ๆ

แม้การเข้ารอบรองชนะเลิศในเอเชียน คัพ ดูเผิน ๆ อาจไม่ถึงกับขี้เหร่ ถ้าตัดเกรดก็อาจจะพอบอกได้ว่า “คาบเส้น” แต่ดูจากฟอร์มโดยรวม มันช่างกระท่อนกระแท่นสิ้นดี คลินส์มันน์ จึงต้องไป

หลายคนอาจจะบอกว่าชะตากรรมของกุนซือตัดสินด้วยผลงาน แต่สำหรับ คลินส์มันน์ แล้ว แม้จะทำได้คาบเส้น แต่ต้นทุนของเขามันติดลบมา ดังนั้นการเข้ารอบตัดเชือกมันจึงไม่เพียงพอ

และสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามในใจว่า หลังจากนี้เราจะได้เห็น คลินส์มันน์ ทำงานเป็นกุนซืออีกหรือเปล่า?

แม้อนาคตจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครหยั่งรู้ แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่าคำตอบคือ ไม่…!

ผยองเดช